Haijai.com


หัวใจโต โรคหัวใจโต


 
เปิดอ่าน 8596

หัวใจโต

 

 

หัวใจโตหรือเงาบริเวณหัวใจโตจากเอกซเรย์ อาจเกี่ยวกับโรคหัว ดังนั้นผู้ที่เอกซเรย์ปอดหรือตรวจขนาดของหัวใจแล้วผลการตรวจบ่งชี้ว่าหัวใจโต จึงควรรีบไปพบแทพย์ เพื่อรับการวินิจฉัยรักษา เพื่อการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพและปลอดภัยต่อไป

 

 

ทุกครั้งที่เราไปตรวจสุขภาพ เจาะเลือด เอกซเรย์ปอด เราก็หวังว่าคุณหมอคงจะช่วยบอกเราได้ว่าสุขภาพกายของเราเป็นอย่างไร มีโรคอะไรไหมที่ควรดูแลรักษาแต่เนิ่นๆ เพื่อไม่ให้โรคลุกลามใหญ่โต แต่บางครั้งผลการตรวจกลับทำให้เรากังวลมากขึ้น ว่าร่างกายเราเป็นอะไร ทำไมผลการตรวจจึงไม่ปกติ ในขณะที่เราก็รู้สึกว่าตัวเองสบายดี ยิ่งถ้าคุณหมอไม่ได้อธิบายให้เราเข้าใจความหมายที่แท้จริงของสิ่งที่ตรวจพบ ก็ยังทำให้เรางงงวย สงสัย กังวลถึงกับกินไม่ไดนอนไม่หลับ ในบรรดาปัญหาจากการตรวจหัวใจอย่างผมต้องอธิบายให้ผู้ที่ไปตรวจสุขภาพฟังเป็นประจำคือ ปัญหาที่พวกเราเรียกว่า หัวใจโตหลังจากเอกซเรย์ปอด

 

 

ที่จริงคำว่า “หัวใจโต” ไม่ใช่ศัพท์ที่ใช้ทางการแพทย์ หมอหัวใจเราใช้คำที่ชัดเจนกว่าว่า “กล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้ายหนา” หรือ “ขนาดหัวใจห้องล่างซ้ายขยายโตขึ้น” มากกว่า คำว่า “หัวใจโต” ซึ่งหมายถึง การเห็นเงาบริเวณหัวใจขนาดใหญ่กว่าปกติจากการดูภาพเอกซเรย์ปอด อาจจะเป้นเงาของหัวใจเองที่โตขึ้น หรือเงาของถุงน้ำที่หุ้มหัวใจ หรือเงาหลอดเลือดบริเวณนั้น หรือก้อนเนื้องอกก็ได้ และวิธีมาตรฐานในการท่จะรู้ว่าหัวใจโตกว่าปกติหรือไม่ ต้องใช้การเห็นและวัดขนาดห้องหัวใจโดยตรง จากภาพอัลตราซาวด์หัวใจ (เอคโคคาร์ดิโอแกรม) หรือซีทีสแกน (เอกซเรย์คอมพิวเตอร์หัวใจ) หรือเอ็มอาร์ไอหัวใจ เป็นต้น และจะแยกได้ว่า เงาเอกซเรย์ปอดบริเวณหัวใจที่โตเป็นอะไรดังกล่าวข้างต้นได้ ดังนั้นเราจึงควรใช้คำว่า “เงาบริเวณหัวใจโตจากเอกซเรย์” แทนคำว่า “หัวใจโต”

 

 

สาเหตุของ “เงาบริเวณหัวใจโตฯ” ที่พบบ่อยในผู้ที่ไม่มีอาการทางโรคหัวใจ คือ การเอกซเรย์ปอดในขณะที่ไม่ได้หายใจเข้าเต็มที่แล้วกลั้นไว้ เวลาเราหายใจเข้า ลมที่เข้าไปในปอด 2 ข้าง จะดันให้กระบังลมถูกกดต่ำลง ส่งผลให้เงาของหัวใจมีขนาดเล็ก และเวลาหายใจออก กระบังลมก็จะยกตัวสูงขึ้น ทำให้เงาหัวใจมีขนาดใหญ่ขึ้น ดังนั้น ทุกครั้งที่เห็นภาพเอกซเรย์ปอดว่า “เงาบริเวณหัวใจโต” จากการหายใจเข้าไม่เต็มที่ หรือไม่ได้กลั้นหายใจไว้ ก็ต้องสอนให้ผู้ที่จะไปเอกซเรย์ปอด ฝึกหายใจเข้าลึกๆ (ลึกที่สุดเท่าที่ทำได้) แล้วกลั้นไว้สัก 2-3 วินาที รอให้ถ่ายเอกซเรย์ปอดแล้วจึงหายใจออก ถ้าฝึกแล้วยังทำไม่ได้ ก็ต้องเปลี่ยนวิธีตรวจวัดขนาดห้องหัวใจด้วยวิธีอื่น  ดังกล่าวข้างต้น ซึ่งวิธีที่ง่าย ไม่ต้องเตรียาตัวอะไรก็คือการทำเอคโคคาร์ดิโอแกรม (อัลตราซาวด์หัวใจ) วัดดูขนาดห้องหัวใจ โดยตรงว่าโตหรือไม่ โตแค่ไหน หรือมีสาเหตุอื่นที่ทำให้เงาหัวใจจากเอกซเรย์โต

 

 

แต่ถ้าเอกซย์ปอดแล้ว เห็นเงาบริเวณหัวใจโตมาก โตเกินกว่าปกติเท่าตัว หรือเกินครึ่งหนึ่งของช่องหน้าอก แม้จะไม่มีอาการทางโรคหัวใจ ก็ควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยหาเหตุปัจจัยที่เงาหัวใจโตมากต่อไป ส่วนผู้ที่มีอาการทางทโรคหัวใจ โดยเฉพาะอาการเหนื่อยง่ายเวลาใช้หัวใจทำงานหนัก หัวใจเต้นเร็วขึ้น แรงขึ้น เช่น ขึ้นบันได วิ่งยกของหนัก และเหนื่อยมากขึ้นเรื่อยๆ ตามเวลาที่ผ่านไป หรือมีอาการนอนราบไม่ได้ ต้องนอนหนุนหมอนมากกว่า 2 ใบ หรือต้องตื่นกลางดึก เพราะมีอาการหายใจไม่สะดวก ต้องลุกนั่งสักพักแล้วดีขึ้น แล้วไปเอกซเรย์ปอดพบเงาหัวใจโต ก็ต้องพบแพทย์ ถามประวัติ ตรวจร่างกายและตรวจเพิ่มเติม เพื่อการวินิจฉัยอาการดังกล่าวว่าเกิดจากเหตุปัจจัยอะไร เพื่อการดูแลรักษา ลดอาการ และป้องกันโรคแทรกที่จะตามมา

 

 

โรคของกล้ามเนื้อหัวใจ โรคของลิ้นหัวใจ โรคของเยื่อหุ้มหัวใจ โรคของหลอดเลือดหัวใจ โรคของหลอดเลือดแดงใหญ่ เป็นต้น ล้วนเป็นเหตุปัจจัยให้ห้องหัวใจโตได้ การได้ประวัติ อาการ การตรวจร่างกายที่ถูกต้อง ละเอียด ครบถ้วน และการตรวจทานห้งอปฏิบัติการที่เหมาะสม จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้คุณหมอวินิจฉัยได้ว่า ความผิดปกติของหัวใจอยู่ที่ไหน ผิดปกติอย่างไร สาเหตุเกิดจากอะไร อะไรเป็นตัวกระตุ้นหรือสนับสนุนให้เป็นโรคมากขึ้นหรือน้อยลง ความรุนแรงของโรค และผลข้างเคียงของโรค เพื่อที่จะได้วางแผน การรักษา ฟื้นฟู ป้องกัน และส่งเสริมสุขภาพหัวใจได้ ตรงตามเหตุปัจจัยของผู้ป่วยแต่ละคน

 

 

ผศ.นพ.สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์

อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจและหลอดเลือด

(Some images used under license from Shutterstock.com.)