Haijai.com


กระดูกสันหลังคด


 
เปิดอ่าน 3551

กระดูกสันหลังคด

 

 

กระดูกสันหลังคดเป็นลักษณะผิดรูปของแนวกระดูกสันหลังที่มีการโค้งออกไปทางด้านข้าง หากมีองศาความคดมาก อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจและปอด เกิดการกดทับของเส้นประสาท ทำให้มีอาการชา ปวด หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้ ผู้ป่วยด้วยภาวะนี้ร้อยละ 80 ไม่ทราบสาเหตุ การรักษาเพื่อคงความคดของกระดูกสันหลัง ไม่ให้เพิ่มขึ้นสามารถทำได้โดยการทำกายภาพบำบัด ใส่เสื้อเกราะ และการผ่าตัดใส่เหล็กดามกระดูกสันหลัง ซึ่งจะเลือกใช้วิธีใดนั้น จะพิจารณาจากขนาดของมุมความคด และช่วงอายุของผู้ป่วย ทั้งนี้การรักษาจะสัมฤทธิ์ผลมากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับวินัยของผู้ป่วยเป็นสำคัญ

 

 

กระดูกสันหลังคดเป็นลักษณะการผิดรูปของแนวกระดูกสันหลัง ที่มีการโค้งออกไปทางด้านข้าง นอกจากนี้กระดูกสันหลังยังเกิดการบิดหมุนออกไปจากแนวเดิม ส่งผลให้บริเวณซี่โครงที่ติดต่อกับกระดูกสันหลังนั้น มีการบิดหมุนไปด้วย ทำให้เห็นซี่โครงข้างหนึ่งปูดนูนออกมาทางด้านหลัง จึงเห็นบริเวณหลังทั้งสองข้างของผู้ที่มีภาวะกระดูกสันหลังคดไม่เท่ากัน

 

 

เนื่องจากกระดูกสันหลังมีความเชื่อมต่อกับกระดูกซี่โครง ซึ่งภายในซี่โครงมีอวัยวะภายใน เช่น ปอด หัวใจ ถ้าซี่โครงมีการบิดหมุนมากอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจและปอด ทำให้เหนื่อยง่ายกว่าคนปกติ นอกจากนี้ถ้าความโค้งของกระดูกสันหลังมากขึ้น ช่องทางออกของเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงแขนหรือขาแคบลง ส่งผลต่อการกดทับเส้นประสาท หรือหมอนรองกระดูกถูกเบียดมากขึ้น อาจจะทำให้มีอาการปวด ชา หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงตามมาได้

 

 

ลักษณะอาการและสาเหตุ

 

ภาวะกระดูกสันหลังคดพบได้ประมาณร้อยละ 2-3  ของประชากรไทย ส่วนใหญ่พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และสามารถพบได้ในทุกช่วงอายุ แต่มักพบได้บ่อยในช่วงวัยรุ่น คือระหว่างอายุ 10-18 ปี เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่มีการเจริญเติบโตของกระดูกอย่างรวดเร็ว จึงเห็นการเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจน ซึ่งอาการผิดปกติที่สามารถสังเกตได้ ได้แก่

 

 

 มีแนวของกระดูกสันหลังไม่ตรง (มองจากทางด้านหลัง)

 

 

 บริเวณหลังมีด้านใดด้านหนึ่งปูดนูนออกมาให้เห็น

 

 

 ระดับไหล่ทั้งสองข้างสูงต่ำไม่เท่ากัน

 

 

 ระดับเอวและสะโพกทั้งสองข้างไม่เท่ากันหรือเอียงโย้ไปด้านใดด้านหนึ่ง

 

 

 เมื่อยืนตัวตรง แขนแนบลำตัว จะเห็นช่องว่างระหว่างแขนกับลำตัวทั้งสองข้างไม่เท่ากัน

 

 

 ในผู้ป่วยหญิงบางรายพบว่ามีขนาดหน้าอกสองข้างไม่เท่ากัน หรือมีสายเสื้อชั้นในข้างใดข้างหนึ่งตกเป็นประจำ

 

 

สาเหตุของการเกิดภาวะกระดูกสันหลังคดมีด้วยกันหลายสาเหตุ โดยอาจเกิดจากความผิดปกติแต่กำเนิดของระบบกระดูก กล้ามเนื้อและระบบประสาทผิดปกติ การบาดเจ็บบริเวณกระดูกสันหลัง พันธุกรรม หรือการที่ขามีความยาวไม่เท่ากัน ทำให้การลงน้ำหนักผิดปกติ ส่งผลให้กระดูกสันหลังปรับรูปร่างและเกิดการคดในที่สุด อย่างไรก็ตามพบว่าร้อยละ 80 ของผู้ป่วยที่มารับการรักษาภาวะกระดูกสันหลังคด ณ ศูนย์กายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดลในช่วงปี พ.ศ.2556-2557 เป็นกลุ่มที่ไม่ทราบสาเหตุกล่าวคือไม่สามารถระบุสาเหตุที่ชัดเจนได้

 

 

การวินัยฉัยและการรักษา

 

การวินิจฉัยภาวะกระดูกสันหลังคดสามารถทำได้ง่ายๆ โดยให้ผู้ป่วยยืนเท้าชิด ค่อยๆ ก้มตัวลงให้มือทั้งสองข้างแตะพื้น ถ้าผู้นั้นมีภาวะกระดูกสันหลังคดมักสังเกตเห็นลักษณะปูดนูนหลังข้างใดข้างหนึ่ง หากการตรวจเบื้องต้นพบภาวะดังกล่าว เจ้าหน้าที่จะส่งผู้ป่วยไปเอกซเรย์ เพื่อยืนยันภาวะกระดูกสันหลังคด แล้ววัดมุมความโค้งของกระดูกสันหลัง ถ้ามุมความโค้งที่ได้จากฟิล์มเอกซเรย์มากกว่า 10 องศา จะถือว่าผู้นั้นมีภาวะกระดูกสันหลังคดในส่วนของการรักษา จุดประสงค์จะแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงอายุ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับองศาความคดด้วย

 

 

ช่วงวัยเด็ก เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่มีการเจริญเติบโตของกระดูกอย่างรวดเร็ว จึงทำให้มุมองศาความคดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน ดังนั้น จุดประสงค์ในการรักษาทางกายภาพบำบัด จึงเป็นไปเพื่อลดอัตราการเพิ่มของมุมองศาความคด แต่ในวัยนี้กล้ามเนื้อและข้อต่อยังมีความแข็งแรงและยืดหยุ่นดี จึงยังไม่ค่อยมีอาการปวดร่วมด้วย

 

 

ช่วงวัยผู้ใหญ่ มุมองศาความคดเริ่มคงที่ แต่มักมีอาการปวดร่วมด้วย โดยเฉพาะบริเวณหลัง คอ และบ่า เนื่องจากวัยนี้เป็นวัยทำงาน ร่วมกับความยืดหยุ่นและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลงจากการบาดเจ็บจากการทำงาน ดังนั้น จุดประสงค์ในการรักษาจึงเป็นไป เพื่อลดอาการปวด (ในกรณีที่มีอาการปวด) และออกกำลังกายเพื่อคงมุมองศาความคดไม่ให้เพิ่มขึ้น

 

 

โดยวิธีการรักษาจะมีด้วยกันหลายแบบ ทั้งการทำกายภาพบำบัด การใส่เสื้อเกราะ และการผ่าตัด ซึ่งการจะเลือกใช้วิธีใดนั้น ขึ้นอยู่กับขนาดของมุมความคดและช่วงอายุ ดังนี้

 

 ความคดน้อยกว่า 20 องศา ให้ติดตามอาการอย่างใกล้ชิดทุก 4-6 เดือน

 

 

 ความคด 20-30 องศา จะเริ่มให้การรักษาทางกายภาพบำบัด

 

 

 ความคดมากกว่า 30 องศา ควรใส่เสื้อเกราะ (ในกรณีผู้ป่วยอยู่ในช่วงวัยกำลังเจริญเติบโต) เสื้อเกราะดังกล่าว จะทำโดยนักกายอุปกรณ์และออกให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย ร่วมกับการรักษาทางกายภาพบำบัด

 

 

 ความคดมากกว่า 45 องศา (ในวัยเจริญเจริญเติบโต) หรือ มากกว่า 50-55 องศา (ในวัยหยุดการเจริญเติบโต) อาจปรึกษาแพทย์พิจารณาแก้ไข โดยการผ่าตัดใส่เหล็กดามกระดูกสันหลัง แม้จะไม่สามารถทำให้กระดูกสันหลังกลับมาตรงได้ แต่ก็สามารถลดองศาความคดลงมาได้ระดับหนึ่ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ป่วย อย่างไรก็ตามหลังการผ่าตัดผู้ป่วยควรทำกายภาพบำบัด เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อ เนื่องจากการผ่าตัดใส่เหล็กดามบริเวณกระดูกสันหลังนั้น ทำให้ความสามารถในการก้มหรือเหยียดหลังลดลง การทำกายภาพบำบัดจะช่วยกระตุ้นให้กล้ามเนื้อมัดต่างๆ ทำงานได้อย่างเต็มที่

 

 

การทำกายภาพบำบัดจะช่วยคงมุมการบิดของกระดูกสันหลังไม่ให้มากขึ้น (ภาวะกระดูกสันหลังคด หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง องศาความคดอาจเพิ่มขึ้น 10-20 องศาภายใน 1 ปี) ในกรณีที่ผู้ป่วยต้องรับการรักษาด้วยวิธีกายภาพบำบัด นักกายภาพบำบัดจะอธิบายให้ผู้ป่วยทราบ ถึงลักษณะของกระดูกสันหลังคดที่เกิดขึ้น เพื่อให้เข้าใจถึงลักษณะของกระดูกสันหลังของตนเอง และสอนการทรงท่าและลงน้ำหลักที่ถูกต้อง ร่วมกับการยืดเหยียดกระดูกสันหลังให้ตรงขึ้น เพื่อลดการบิดหมุนของกระดูกสันหลัง

 

 

จากนั้นนักกายภาพจะสอนเรื่องกายหายใจไปยังบริเวณที่ถูกต้อง และหายใจในทิศทางที่ถูกต้อง เนืจากผู้ป่วยกระดูกสันหลังคดจะมีการบิดหมุนของกระดูกซี่โครง ทำให้หายใจในทิศทางที่ผิด หลังจากผ่านการฝึกการหายใจจนมีความชำนาญ (ส่วนใหญ่ใช้เวลาฝึกประมาณ 1-2 สัปดาห์) นักกายภาพบำบัดจะให้ผู้ป่วยออกกำลังกายกล้ามเนื้เฉพาะมัด ซึ่งท่าที่ใช้จะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับลักษณะความคดของกระดูกสันหลัง เพื่อเพิ่มกำลัง ความทนทาน และความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ ร่วมกับเพิ่มความมั่นคงให้กระดูกสันหลัง

 

 

ทั้งนี้ทั้งนั้นประสิทธิภาพในการรักษาไม่ได้ขึ้นอยู่กับแพทย์ หรือนักกายภาพบำบัดเพียงอย่างเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับผู้ป่วยด้วย กล่าวคือผู้ที่มีภาวะกระดูกสันหลังคดควรอยู่ในท่าที่ถูกต้อง ไม่ว่านั่ง ยืน เดิน นอน และควรมีวินัยในการปฏิบัติตัว ออกกำลังกายเฉพาะท่าตามคำแนะนำของนักกายภาพบำบัดอย่างเคร่งครัด ในกรณีที่ใส่เสื้อเกราะควรใส่เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับการออกกำลังกายเฉพาะที่ เหมาะกับลักษณะการคดของกระดูกของผู้ป่วยแต่ละลายเป็นประจำสม่ำเสมอ

 

 

ผู้ป่วยกระดูกสันหลังคดสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ แต่อาจต้องงดกิจกรรมหรือกีฬาบางอย่างที่ใช้แรงกระแทกสูงๆ ทั้งนี้ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์หรือนักกายภาพบำบัด เพื่อจะได้ทราบข้อควรปฏิบัติและสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง นอกจากนี้เนื่องจากผู้ป่วยส่วใหญ่มักจะเป็นวัยเด็กและวัยรุ่น พ่อแม่จึงควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะนี้ด้วย หมั่นสังเกตหลังของลูกบ่อยๆ ถ้าสงสัยควรรีบปรึกษาแทพย์หรือนักกายภาพบำบัด เพราะถ้าตรวจพบเร็วและรับการรักษาเร็ว โอกาสที่มุมความคดจะเพิ่มขึ้นก็น้อยลง นอกจากนี้พ่อแม่ยังมีบทบาทสำคัญมากในการกระตุ้นผู้ป่วย ให้ใส่ใจต่อการปฏิบัติตามคำแนะนำของนักกายภาพบำบัด ตลอดจนให้กำลังใจผู้ป่วยเพื่อที่ผู้ป่วยจะได้ดำรงชีวิตอยู่กับภาวะนี้ด้วยความสุข

 

 

กภ.ลัดดาวัลย์ แซ่ตั้ง

นักกายภาพบำบัด

(Some images used under license from Shutterstock.com.)