© 2017 Copyright - Haijai.com
ไวรัส ตาแดง
ไวรัส (Virus) ไม่มีภาษาไทย ใช้ทับศัพท์ภาษาอังกฤษ มาจากภาษาละตินแปลว่าสิ่งเป็นพิษ (Poison) หรือสิ่งที่ทำให้เกิดโรคนั่นเอง เชื้อไวรัสเป็นอณูมีชีวิต ต้องอาศัยและแบ่งตัวอยู่ในเซลล์ที่มีชีวิต ไม่สามารถอยู่นอกเซลล์ได้ ทำให้เกิดโรคทั้งคน สัตว์ และพืช ไม่เว้นแม้แต่เชื้อแบคทีเรียก็อาจถูกทำลายโดยไวรัสได้ ไวรัสที่ก่อให้เกิดพยาธิสภาพในคนเกิดได้เกือบทุกอวัยวะของร่างกายรวมทั้งที่ตา หรือในปัจจุบันพบว่าเป็นสาเหตุของมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และสุดท้ายพบว่าอาจเป็นสาเหตุของโรคทางสมองที่ยังหาสาเหตุชัดเจนไม่ได้
สายพันธุ์ไวรัสที่ทำให้ตาแดง
ช่วงที่ผ่านมามีไวรัสที่ทำให้เกิดตาแดงกำลังระบาด เรียกว่า ไวรัสที่ทำให้เยื่อบุตาอักเสบ เรียกรวมๆ กันว่า “ไวรัสตาแดง” (Viral conjunctivitis) พบได้ทุกอายุ ทั้งเพศหญิงและเพศชาย มีหลายสายพันธุ์มากที่ก่อให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุตา ที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่ กลุ่ม Adenovirus กลุ่มเริม (Herpes) กลุ่มงูสวัด (Zoster) ที่พบน้อยลงมา ได้แก่ ไวรัสอีสุกอีใส ไวรัสกลุ่ม Picornavirus ส่วนที่พบน้อยลงไปอีกที่ทำให้เยื่อบุตาอักเสบ ได้แก่ ไวรัสโรคเอดส์ ไวรัสที่ทำให้เกิดหวัด ไวรัสโรคหัด ไวรัสคางทูม ตลอดจนไวรัสหัดเยอรมัน
แม้ว่ามีเชื้อไวรัสหลายตัวที่ทำให้เกิดเยื่อบุตาอักเสบ แต่ที่สำคัญและเป็นเหตุให้มีการระบาดเป็นครั้งคราวในฤดูฝนในปีแรกๆ โดยเป็นปีเว้นปีจนปัจจุบันมีการระบาดไม่มากแต่เป็นได้ตลอดปี เกิดจากเชื้อไวรัส 3 กลุ่มที่สำคัญ คือ Adenovirus, Picornavirus และ Herpes simplex virus ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
• ตาแดงระบาดจากเชื้อ Adenovirus ซึ่งเป็นไวรัส DNA มีหลายสายพันธุ์ที่ทำให้เป็นโรค ได้แก่ สายพันธุ์ 3, 4, 7 ทำให้เกิดตาแดงร่วมกับคออักเสบ (Pharyngo conjunctivitis fever; PCF) และสายพัน 8, 19, 37 ที่มักจะมีการอักเสบทั้งเยื่อบุตาและกระจกตา (Epidemic keratoconjunctivitis; EKC) ระยะฟักตัวประมาณ 5-8 วัน เป็นได้ทั้งหญิงและชายเท่าๆ กัน ทุกอายุ ผู้ป่วยด้วยโรคทั้ง 2 ชนิดจะมีตาแดง น้ำตาไหลฉับพลัน มีตุ่มที่เบื่อบุตา ทำให้เยื่อบุตาไม่เรียบ อาจมีขี้ตาได้บ้างถึงขั้นเป็นแผ่นเยื่อบางๆ มักจะมีต่อมน้ำเหลืองหน้าหูโตด้วย ใน EKC มักจะไม่ค่อยมีอาการของระบบหายใจ ส่วน PCF มักจะมีน้ำมูกเจ็บคอร่วมด้วย หลังจากตาขาวแดง 5-7 วัน ต่อมาอาจเริ่มมีกระจกตาอักเสบ (พบบ่อยใน EKC พบบ้างใน PCF) ซึ่งทำให้ผู้ป่วยที่ทำท่าว่าจะหายตาแดง กลับมีอาการแพ้แสง ตาสู้แสงไม่ได้ น้ำตาไหล บางคนอาจมีอาการตาพร่ามัวลงได้ แต่ส่วนใหญ่จะหายเป็นปกติใน 1-3 สัปดาห์ต่อมา
การรักษา เนื่องจากเป็นการติดเชื้อไวรัส ไม่มียาฆ่าเชื้อโดยเฉพาะ มักจะเป็นการให้ยาหยอดประคับประคองให้สบายตา ควรใช้น้ำเย็นประคบ พักการใช้สายตาชั่วคราว อาจใช้น้ำตาเทียมเพื่อให้สบายตา หากสงสัยว่ามีเชื้อแบคทีเรียผสม จึงค่อยใช้ยาหยอดตาฆ่าเชื้อ หากผู้ป่วยมีอาการมาก แพทย์อาจให้ยาหยอดตาที่มีสเตียรอยด์เป็นส่วนประกอบ แต่ต้องให้โดยแพทย์สั่งเท่านั้น
• ตาแดงระบาดจากเชื้อ Picornavirus ซึ่งเป็นไวรัส RNA ก่อให้เกิดเยื่อบุตาอักเสบที่เรียกกันว่า Acute haemorrhagic conjunctivitis (AHC) เชื้อในกลุ่มนี้อาการอาจน้อยกว่ากลุ่ม Adenovirus มีข้อแตกต่างจากกลุ่ม Adenovirus คือ มีเลือดออกที่เยื่อบุตาได้มากกว่า อันเป็นที่มาของคำว่า Haemorrhagic ของชื่อในกลุ่มนี้ มีอาการของกระจกตาน้อยกว่าในปัจจุบันที่กำลังระบาดคาดว่าน่าจะเป็นกลุ่มนี้ เนื่องจากเชื้อนี้เป็นกลุ่มเดียวกับเชื้อโปลิโอ ผู้ป่วยจึงอาจมีอาการคล้ายโรคโปลิโอ โดยพบได้ 1 ใน 10,000 ผู้ป่วยตาแดงด้วยเชื้อ Picornavirus จึงไม่ควรออกกำลังรุนแรงระหว่างเป็น
• ตาแดงจากเชื้อเริม (Herpes simplex virus) พบน้อยกว่า 2 กลุ่มแรก ผู้ป่วยมักมีอาการที่เปลือกตาร่วมด้วย โดยจะพบลักษณะตุ่มใสที่หนังตาหรือขอบหนังตา
ข้อควรปฏิบัติเพื่อลดการระบาดของไวรัสตาแดง
• ลาป่วย หยุดเรียน (โดยเฉพาะนักเรียนประจำ) เพราะไวรัสกลุ่มนี้ระบาดไปยังคนใกล้เคียงได้ง่ายมาก บางคนเชื่อว่าเชื้ออาจฟุ้งกระจายในอากาศและติดผู้อยู่ใกล้เคียง หากแยกผู้ป่วยออกจากชุมชน จะจำกัดเชื้อให้อยู่ในวงแคบและโรคจะหยุดระบาดได้ โดยทั่วไปเชื้อโรคอาจแพร่กระจายได้ใน 10• 14 วัน หลังจากมีอาการ
• หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าเช็ดหน้าและผ้าเช็ดตัวร่วมกัน
• ล้างมือบ่อยๆ ป้องกันการกระจายของเชื้อ
• หากมีอาการระคายเคืองมากควรใช้น้ำเย็นประคบและปรึกษาหมอ เพื่อรับยาระงับอาการ
นอกจากนี้ในระหว่างที่มีการระบาดมาก สถานการณ์แพทย์ควรแยกการตรวจผู้ป่วยตาแดงออกไปจากผู้ป่วยอื่น และระวังเครื่องมือที่ใช้ตรวจตาอย่างเคร่งครัด เพราะอาจเป็นที่แพร่เชื้อไปสู่ผู้ป่วยอื่นได้
ศ.พญ.สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
จักษุแพทย์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)