
© 2017 Copyright - Haijai.com
ยารักษาสิว
สิวเกิดได้ทุกช่วงวัยและมีผลต่อคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะในวัยรุ่น การมีสิวบนใยหน้านับเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะส่งผลต่อภาพลักษณ์ภายนอก ดูไม่สวย ไม่หล่อ รู้สึกอาย และไม่มั่นใจที่จะออกสังคม อย่ากระนั้นเลย เรามาทำความรู้จักเรื่องสิวและการรักษากันดีกว่า ทั้งนี้การรักษาจะต้องทำตามปัจจัยที่ทำให้เกิด ซึ่งอาจจะมีมากกว่าหนึ่งปัจจัยที่เป็นสาเหตุของสิว และอาจต้องใช้ยาหลายตัวที่ออกฤทธิ์ต่างกันในการรักษา
สิวมีกี่แบบ
เมื่อแบ่งตามลักษณะอาการจะแบ่งเป็นชนิดอักเสบและไม่อักเสบ แต่ถ้าแบ่งตามความรุนแรงจะแบ่งได้เป็นรุนแรงน้อย ปานกลาง และรุนแรงมาก ผู้หญิงหรือผู้ชายต่างก็เป็นสิวได้ทั้งนั้น ในผู้หญิงสิวมักจะเกิดในช่วงอายุ 14-17 ปี ส่วนผู้ชายจะเกิดสิวในช่วงอายุ 16-19 ปี ความรุนแรงของสิวจะมากขึ้น 3-5 ปี หลังจากเป็นสิว และจะหายไปในช่วง 20-25 ปี นับเป็นความโชคดีที่ร้อยละ 85 ของคนที่เป็นสิวจะเป็นชนิดไม่รุนแรง และมีเพียงร้อยละ 15 ที่เป็นชนิดรุนแรง
มียาใช้รักษาสิวบ้างไหม
การรักษาสิวหากเป็นเล็กน้อยใช้เพียงยาทาบนผิวหนังที่เป็นสิวก็สามารถรักษาสิวได้ แต่ถ้าเป็นชนิดปานกลางควรใช้ยาทาร่วมกับยารับประทาน ซึ่งควรขอรับคำปรึกษาจากเภสัชกร ถ้าหากเป็นสิวชนิดรุนแรงควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางโรคผิวหนัง ซึ่งแพทย์จะมีวิธีการรักษาเสริม เรียกว่า adjunctive therapy
ยารักษาสิวที่ใช้ทาบนผิวหนังมีตัวยาที่ออกฤทธิ์ได้เป็น 3 แบบ ได้แก่ เพิ่มการหลุดลอกของผิวหนัง ลดการอักเสบของสิว และ ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย Propionibacterium acnes ที่เป็นสาเหตุของสิว
ส่วนยาชนิดรับประทานที่ใช้รักษาสิวมีตัวยาที่ออกฤทธิ์เป็น 3 แบบเช่นกัน ได้แก่ ลดการอักเสบของสิว ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย Propionibacterium acnes ที่เป็นสาเหตุของสิว และขัดขวางการออกฤทธิ์ของฮอร์โมนที่ทำให้เป็นสิว
ปัจจุบันมีการนำวิธีการรักษาเสริมมาใช้รักษาสิวด้วย ได้แก่ laser therapy และ light therapy มักนำมาเสริมในการรักษาสิวอักเสบ โดยมีกลไกคือลดการสร้างไขมัน (sebum) ที่ผิวหนังบริเวณใบหน้า ฆ่าเชื้อ Propionibacterium acnes และลดการอักเสบ เป็นต้น ซึ่งต้องพิจารณาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
ยาทารักษาสิวมีวิธีใช้อย่างไร
• ยาทาที่เพิ่มการหลุดลอกของผิวหนัง ผลิตภัณฑ์ที่มีจำหน่ายจะเป็นตัวยาชื่อว่าเบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ (benzoyl peroxide) ซาลิไซลิคแอซิด (salicylic acid) เป็นต้น เมื่อทายาไว้บนผิวหนัง ยาจะระคายเคืองต่อผิวหนัง ทำให้ผิวหนังลอกหลุดเร็วขึ้น ซึ่งจะเอาหัวสิวหลุดลอกออกไปด้วย ทำให้ปริมาณหัวสิวลดลงในระยะแรกของการใช้ยา อาจจะทำให้ผิวหนังแดงอักเสบ จึงควรจะเริ่มใช้ยาในขนาดความเข้มข้นต่ำๆ ทายาทิ้งไว้เป็นระยะเวลาสั้นๆ เช่น 5-10 นาที แล้วล้างออก เมื่อผิวหนังทนต่อยาจึงเพิ่มความเข้มข้นและทาไว้นานขึ้น จนไม่ต้องล้างออก
ยาทาอีกชนิดหนึ่งคือ อนุพันธ์ของกรดวิตามินเอ มีชื่อว่าเตรติโนอิน (tretinoin) เป็นยารักษาสิวที่ให้ผลค่อนข้างดี ชนิดยาทาภายนอกจะเป็นยาละลายขุย ยานี้จะก่ออาการระคายเคืองต่อผิวหนัง ทำให้ผิวหนังแดง แห้ง ลอกเป็นขุย ดังนั้น จึงต้องทายาในขนาดความเข้มข้นต่ำๆ และทาก่อนนอน เมื่อทายาแล้วให้รีบดับไฟเข้านอนทันที เมื่อใช้เตรติโนอินร่วมกับเบนโซอิลเฟอร์ออกไซด์ ให้ใช้เบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ทาในตอนเช้า ส่วนเตรติโนอินให้ทาก่อนนอน
• ยาทาที่เป็นยาปฏิชีวนะ ได้แก่ azelaic acid, erythromycin solution แบคทีเรีย Propionibacterium acnes ที่เป็นสาเหตุของการเป็นสิวอักเสบ เห็นเป็นตุ่มหนอง แต่กว่าจะเห็นผลก็ต้องใช้ยาไปนานหลายสัปดาห์
ยารับประทานรักษาสิวมีบ้างไหม ใช้อย่างไร
• ยารับประทานที่เป็นยาปฏิชีวนะ ได้แก่ เตตร้าไซคลิน (tetracycline) อะม๊อกซี่ซิลลิน (amoxicillin) ใช้รักษาสิวอักเสบที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Propionibacterium acnes การรับประทานยาเตตร้าไซคลนิต้องไม่รับประทานพร้อมนมหรือน้ำแร่ ส่วนการรับประทานยาอะม๊อกซี่ซิลลินให้รับประทานตอนท้องว่าง
• ยารับประทานที่เป็นยาลดการอักเสบของสิวและเพิ่มการขับคอมีโดน (comedone) มีตัวยาเพียงชนิดเดียว ซึ่งสามัญทางยาว่าไอโสเตรติโนอิน (isotretinoin) หรือ เรติโนอิกแอซิด (retinoic acid) ผลิตภัณฑ์ที่มีจำหน่ายมีหลายยี่ห้อ ยาไอโสเตรติโนอินใช้รักษาสิวชนิดดื้อต่อการรักษาชนิดอื่น ยานี้มีกลไกการออกฤทธิ์ โดยกดการทำงานของต่อมไขมัน ทำให้ผลิตไขมันที่ผิวหนังลดลง ลดปริมาณเชื้อแบคทีเรีย Propionibacterium acnes ลดการอักเสบของสิว และยับยั้งการสร้างคอมีโดน (สิวที่เกิดจากการอุดตันของต่อมขุมขน) นอกจากนี้ยายังมีฤทธิ์ทำให้คอมีโดนยุบตัว โดยทำให้คอมีโดนที่เป็นอยู่แล้วเปลี่ยนสภาพให้หลวมและหลุดออก ทำให้สิวหัวขาว (closed comedone) เปลี่ยนเป็นสิวหัวดำ (open comedone) และหลุดออกไป
แม้ยานี้จะดูให้ผลการรักษาดี แต่ก็มีผลข้างเคียงมากจึงไม่แนะนำให้ซื้อรับประทานเอง ผลข้างเคียงที่พบได้คือปากแห้ง ผิวแห้งแตก ผมร่วง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ คลื่นไส้อาเจียน ปวดกระดูก ปวดหัว สำหรับหญิงมีครรภ์ก็อาจจะทำให้เด็กเกิดมาพิการและแท้ง และแม้ว่าเด็กทารกที่คลอดออกมาจะมีความปกติ แต่ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะพบความบกพร่องทางสมองและเชาว์ปัญญาได้เช่นกัน ดังนั้น ผู้หญิงที่จะรับประทานยาไอโสเตรติโนอิน แพทย์จะต้องตรวจว่าหญิงผู้นั้นตั้งครรภ์หรือไม่ก่อน หากไม่ตั้งครรภ์ก็จะต้องทำการคุมกำเนิดให้หญิงผู้นั้นก่อน แล้วให้ยานี้รับประทานไปอย่างน้อย 3 เดือน และคุมกำเนิดตลอดระยะเวลาที่ใช้ยาตัวนี้ในการรักษา หากหญิงผู้นั้นต้องการมีบุตรจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องหยุดรับประทานยาไอโสเตรติโนอินล่วงหน้าอย่างน้อย 3 เดือน ถึง 1 ปี จึงจะมีเพศสัมพันธ์และตั้งครรภ์ได้ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ทารกในครรภ์ หญิงให้นมบุตรก็ไม่ควรรับประทานยาไอโสเตรติโนอิน เพราะตัวยาจะออกมากับน้ำนมและทำให้ทารกได้รับยานี้ไปด้วย นอกจากนี้ผู้ที่รับประทานยาไอโสเตรติโนอินอยู่ ต้องไม่บริจาคเลือดทั้งในระหว่างที่รับประทานยา และจนกระทั่งหลังจากหยุดรับประทนยาไปแล้ว 1 เดือน
• ยาฮอร์โมน (hormone) มักเป็นฮอร์โมนเอสโตรเจน (estrogen) ที่ออกฤทธิ์ต้านฮอร์โมนแอนโตรเจน ทำให้มีการสร้างไขมันที่ผิวหนังลดลง แต่การใช้ต้องระวังผลไม่พึงประสงค์ของเอสโตรเจน เช่น มะเร็งเต้านม จะเกิดขึ้นได้ ฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นฮอร์โมนที่มีอยู่ในยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมรวม ซึ่งสามารถนำมาใช้รักษาสิวได้ และนิยมมากกว่าการใช้ยาเม็ดที่เป็นฮอร์โมนเอสโตรเจนเดี่ยวๆ เนื่องจากผลไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมมีน้อยกว่าผลไม่พึงประสงค์ ที่เกิดจากฮอร์โมนเอสโตรเจนเดี่ยวๆ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากยาเม็ดคุมกำเนิดก่ออาการข้างเคียงหลายประการ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน น้ำหักตัวเพิ่ม ตึงเต้านม เจ็บคัดเต้านม จึงให้ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด เพื่อรักษาสิวเมื่อยาอื่นไม่ให้ผลในการรักษา
นอกจากนี้ยังมียารับประทานที่เป็นสเตียรอยด์ จะใช้ในกรณีที่เป็นสิวมาก มีกลไกการออกฤทธิ์คือลดการอักเสบของสิว ควรจะใช้ในระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น
ภญ.ปัญจักษร ชาญบรรพต
(Some images used under license from Shutterstock.com.)