© 2017 Copyright - Haijai.com
วิตามินอี
วิตามินอีคือกลุ่มของวิตามินละลายในไขมัน ประกอบไปด้วยโทโคเฟอรอลและโทโคไตรอีนอล วิตามินอีจากธรรมชาติจะอยู่ในรูปดี-แอลฟาโทโคเฟอรอล ส่วนวิตามินอีสังเคราะห์จะอยู่ในรูปของดีแอล-แอลฟาโทโคเฟอรอล วิตามินอีที่พบในอาหารจะอยู่ในรูปแอลฟาโทโคเฟอรอลแลแกมมาโทโคเฟอรอล แอลฟาโทโคเฟอรอลพมากในอาหารจำพวกถั่วเปลือกแข็ง ถั่ว (ถั่วลิสง ถั่วเหลือง) เมล็ดพืช น้ำมันพืช ผักใบเขียวเข็ม ส่วนแกมมาโทโคเฟอรอลพบมากในถั่วเหลือง ข้าวโพด และน้ำมันพืช อย่างไรก็ตามเฉพาะวิตามินอีในรูปแอลฟาโทโคเฟอรอลเท่านั้นที่ร่างกายสามารถนำไปใช้ได้ วิตามินอีในรูปแบบอื่นจะถูกตับเปลี่ยนแปลงและขับอกทางน้ำดี
ความต้องการของร่างกาย
ขนาดของวิตามินอีที่ร่างกายควรได้รับแตกต่างกันไปตามเพศ อายุ และสถานภาพของร่างกาย (เช่น ตั้งครรภ์ให้นมบุตร) โดยในผู้ใหญ่ความต้องการจะอยู่ที่ 15 มิลลิกรัมต่อวัน ในกรณีที่หน่วยของวิตามินอีเป็นหน่วยสากล (IU) สามารถแปลงเป็นหน่วยมิลลิกรัมได้ โดยคำนวณจากแอลฟาโทโคเฟอรอล 1 หน่วยสากลเท่ากับแอลฟาโทโคเฟอรอลจากธรรมชาติ 0.67 มิลลิกรัมและแอลฟาโทโคเฟอรอลสังเคราะห์ 0.45 มิลลิกรัม สำหรับวิตามินอีที่มีจำหน่ายในท้องตลาดมีทั้งในรูปแบบยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยอยู่ในรูปแบบวิตามินอีจากธรรมชาติหรือวิตามินอีสังเคราะห์ ในกรณีที่รับประทานวิตามินอีสังเคราะห์จะต้องรับประทานในปริมาณมากขึ้นร้อยละ 50 จึงจะได้รับวิตามินอีที่ร่างกายนำไปใช้ได้ในปริมาณเท่ากับวิตามินอีธรรมชาติ วิตามินอีที่มีจำหน่ายเกือบทั้งหมดมีปริมาณมากเกินกว่าขนาดที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน
ผลของวิตามินอีต่อสุขภาพ
วิตามินอีเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญของร่างกาย โดยช่วยต้านอนุมูลอิสระที่เกิดจากกระบวนการสันดาปไขมัน และสิ่งแวดล้อม เช่น ควันบุหรี่และรังสียูวี นอกจากนี้วิตามินอียังเกี่ยวข้องกับการแบ่งเซลล์ และมีฤทธิ์ยับยั้งการอักเสบและการแข็งตัวของเลือด
ภาวะขาดวิตามินอีในบุคคลปกติเป็นภาวะที่พบได้ยากและมักไม่มีอาการผิดปกติ เนื่องจากวิตามินอีเป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน ผู้ที่มีภาวะการดูดซึมไขมันผิดปกติ ได้แก่ ผู้ป่วยโรคโครห์น (Crohn’s disease) หรือโรคซิสติก ไฟโบรซิส (Cystic fibrosis) จึงเสี่ยงต่อการขาดวิตามินอี โดยอาการของภาวะขาดวิตามินอี เนื่องจากการดูดซึมไขมันผิดปกติ ได้แก่ เส้นประสาทส่วนปลายผิดปกติ กล้ามเนื้อเสียสหการ (Ataxia) หรือมีอาการเซ มีโรคกล้ามเนื้อ จอตาเสื่อม และภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยดังกล่าวต้องรับประทานวิตามินอีเสริมในปริมาณสูง
จากการศึกษาไม่พบว่าการรับประทานวิตามินอีจากอาหารก่ออาการข้างเคียง อย่างไรก็ตามการรับประทานวิตามินอีในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในขนาด 800-1000 มิลลิกรัม สามารถทำให้เกิดภาวะเลือดออกและเลือดแข็งตัวช้าได้
วิตามินอีเป็นวิตามินอีกชนิดหนึ่งที่ประชาชนนิยมรับประทานเพื่อเสริมสุขภาพ อย่างไรก็ตามจากการศึกษาไม่สามารถสรุปได้ว่าการรับประทานวิตามินอีเสริมจะป้องกันโรคหัวใจ และหลอดเลือดหรือลดความเสี่ยงจากกรตาย หรือพิการจากโรคหัวใจและหลอดเลือด อีกทั้งยังไม่สามารถสรุปได้ว่าการรับประทานวิตามินอี สามารถป้องกันโรคมะเร็งได้ แต่พบว่าการรับประทานวิตามินอีมากกว่าวันละ 400 หน่วยสากลอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งต่อมลูกหมาก การรับปรทานวิตามินอีร่วมกับสารต้านอนุมูลอิสระอื่นๆ สังกะสี และทองแดง อาจมีประโยชน์ในผู้ป่วยโรคจอประสาทตาเสื่อมในระยะแรก วิตามินอีไม่มีผลต่อการชะลอความเสื่อมของภาวะรับรู้และสมอง
ปฏิกิริยาระหว่างยา
วิตามินอีสามารถเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นได้หลายชนิด เนื่องจากวิตามินอีทำให้เลือดแข็งตัวช้าลง จึงเสริมฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือดของยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาวาร์ฟาริน นอกจากนี้ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของวิตามินอี ยังส่งผลต่อระดับคอเรสเตอรอลชนิดดีในร่างกาย และรบกวนการออกฤทธิ์ของยาลดไขมันในเลือดบางชนิด อีกทั้งฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ อาจรบกวนการออกฤทธิ์ของยาต้านมะเร็งบางชนิด ดังนั้น ผู้ที่ต้องการรับประทานวิตามินอีเพื่อเสริมอาหาร ผู้ที่ต้องรับประทานวิตามินอี หรือผู้ที่ใช้ยาใดๆ และต้องเริ่มรับประทานวิตามินอี จึงควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนรับประทานยา
ผู้ที่ต้องการรับประทานวิตามินอี เพื่อเสริมสร้างสุขภาพควรรับประทานผักใบเขียว ถั่วเปลือกแข็ง เพื่อให้ร่างกายได้รับวิตามินอีในปริมาณที่เหมาะสม ไม่เป็นพิษและปลอดภัยทั้งในเด็ก สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตรผู้ที่รับประทานวิตามินอีในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ควรสังเกตอาการของภาวะเลือดออก เช่น เลือดออกตามไรฟัน แลตกสะเก็ดช้า หากมีอาการดังกล่าวให้หยุดรับประทานวิตามินอี และพบแพทย์เพื่อรับการประเมินอาการต่อไป
ภก.ณัฐวุฒิ ลีลากนก
(Some images used under license from Shutterstock.com.)