Haijai.com


ยา ต้องทดลองก่อนใช้


 
เปิดอ่าน 1706

ยา ต้องทดลองก่อนใช้

 

 

คนส่วนมากในโลกนี้เป็นผู้บริโภคที่ถูกชี้นำโดยสื่อโฆษณา เขาชี้แนะอย่างไรก็ทำตาม โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์มีอิทธิพลมาก ทำให้มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ขายสินค้าต่างๆ กันมาก ในปัจจุบันนี้มีทีวีดาวเทียมมาก มีการโฆษณาขายของกันมาก ขายของธรรมดาอาจจะไม่มีผลเสียต่อสุขภาพมาก แต่การขายยาที่อ้างสรรพคุณต่างๆ มากมาย แต่ไม่กล่าวถึงสรรพโทษอะไรเลยเป็นการหลอกลวงแน่นอน

 

 

การโฆษณาขายขา โดยไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยัน ทำให้ผู้บริโภคนอกจากเสียเงินแล้วไม่ได้ประโยชน์ ยังเสียสุขภาพจากยาด้วย เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องช่วยประชาชนตรวจตราห้ามปราม ระหว่างที่รอมาตรการที่เข้มงวดและเด็ดขาดจากภาครัฐ ประชาชนจึงต้องทำการหาความรู้ชูปัญญามาป้องกันตัวเอง

 

 

ในการแพทย์แผนสากลได้มีการทดลองยาก่อนจะนำมาใช้ การทดลองยาต้องทำแบบวิทยาศาสตร์ รัฐบาลเขาจึงจะอนุญาตให้นำเข้ามาจำหน่ายได้ การทดลองยาทางคลินิกในมนุษย์ (clinical trials) ต้องผ่านการทดลองในสัตว์มาก่อน เพื่อดูว่ายานั้นมีประสิทธิผล มีพิษมีภัยอะไรหรือไม่ มีขนาดยาสักเท่าไร จะต้องทำแบบวิทยาศาสตร์มีการทดลองบันทึกข้อมูลเป็นกิจจะลักษณะ จากนั้นจึงจะทำการทดลองในคน โดยต้องผ่านการอนุญาตจากคณะกรรมการจริยธรรมเสียก่อน แล้วนำข้อมูลดังกล่าวเสนอสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อขออนุมัติยาเข้าจำหน่ายในตลาด

 

 

การทดลองยาแบบวิทยาศาสตร์ในมนุษย์มีด้วยกัน 4 ขั้นตอน คือ

 

1.เป็นตอนที่เริ่มทดลองยาในคนเป็นครั้งแรก เพื่อดูว่ายานั้นปลอดภัยดีหรือไม่ และมีขนาดยาเท่าไหร่ การทดลองขั้นนี้มักทำในคนที่มีสุขภาพดี จำนวนไม่มาก และมีการควบคุม ทดสอบเฝ้าระวังอย่างรัดกุมในโรงพยาบาลที่มีมาตรฐานดี มีหมอคอยกำกับดูแลใกล้ชิด เมื่อได้ผลจึงไปขั้น 2

 

 

2.ทำการทดลองในคนมากขึ้น เช่น 200-300 คน ซึ่งเป็นคนไข้ที่เป็นโรคที่ใช้ยาทดลองนั้นรักษา เช่น ทดลองยาปฏิชีวนะกับโรคติดเชื้อ โดยใช้ขนาดยาที่ได้จากขั้น 1 เมื่อได้ผลจึงไปขั้น 3

 

 

3.มักทำในคนไข้จำนวนมาก เช่น จำนวนหลายพันคน โดยแบ่งคนไข้เหล่านั้นออกโดยวิธีสุ่มเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม 1 ได้รับยาที่กำลังทดลอง กลุ่ม 2 เป็นกลุ่มเปรียบเทียบ (control) ได้รับยาที่เคยใช้อยู่เก่า หรือถ้าไม่เคยมียารักษามาก่อนกลุ่มที่ 2 ก็จะได้ยาหลอก (placebo) การทดลองแบบนี้ออกแบบมาให้คนไข้หรือคนให้ยา ไม่ทราบว่าตัวไหนเป็นยาจริงหรือยาหลอก เพราะยาจะมีลักษณะทางกายภาพเหมือนกัน การทดลองแบบนี้ช่วยตัดความลำเอียงหรืออคติต่อยาออกไปได้ รวมเรียกการทดลองแบบนี้ว่า randomized double-blinded controlled trial ซึ่งเป็นกรทดลองที่น่าเชื่อถือมากที่สุดเป็นวิทยาศาสตร์มากที่สุด

 

 

4.เมื่อการทดลองในขั้น 3 ได้ผลดี ยาจะได้รับอนุมัติให้เข้าการทดลองขั้น 4 คือ การเข้าตลาดขายยาให้หมอสั่งใช้ยาได้ โดยที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ยังต้องควบคุมเฝ้าระวังติดตามต่อไป ว่าเมื่อนำไปใช้กับคนจำนวนมากขึ้นแล้ว จะมีผลเสียใดปรากฏออกมาหรือไม่ ถ้ามีผลเสียมากก็ต้องถอนยาออกจากตลาด เช่น ยา rofecoxib ซึ่งเป็นยาแก้ปวดแก้อักเสบ เคยทำให้เกิดหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันจำนวนมากกว่ามาตรฐาน บริษัทจึงพิจารณาถอนยาออกจากตลาด

 

 

การทดลองยาทางวิทยาศาสตร์อย่างนี้มีมาตรฐานสูง ต้องลงทุนมาก ใช้เวลาประมาณ 7-15 ปีต่อยาแต่ละขนาน และในบรรดาสารเคมีที่เขาพัฒนาขึ้นมาเป็นยาจำนวน 10,000 ชนิด มีอยู่ประมาณ 5 ชนิด ที่จะผ่านเข้าสู่การทดลองทางคลินิก มีรายงานหนึ่งกล่าวว่าในโลกปัจจุบันมีโครงการทดลองยาจำนวนมากถึง 120,000 รายใน 178 ประเทศ

 

 

คนในประเทศเหล่านั้น ใช้อาสาสมัครเข้ามาลองยา บางรายการคนสมัครเป็นหนูทดลองยาได้รับค่าจ้างตอบแทน บางคนในประเทศยากจนไร้โอกาสที่จะเข้าถึงการรักษาสมัยใหม่ก็ได้รับการรักษาโรคยากๆ เป็นการตอบแทนในประเทศใหญ่ๆ เช่น ในรัสเซีย จึงมีคนอาสาสมัครทดลองยากันมาก รัฐบาลเขาก็มีกฎหมายควบคุมการนี้ อินเดียมีพลเมืองมากเป็นพันล้าน มีความหลากหลายทางพันธุกรรมที่เหมาะกับการทดลองยา มีการทดลองยาในอินเดียกันมากในเอเชีย นอกจากอินเดียแล้วก็มี จีน อินโดนีเซีย สิงคโปร์และไทย

 

 

การสมัครเข้ารับการทดลองยานี้ บางคนก็มีความรู้เรื่องพิษภัยที่อาจจะเกิดขึ้น แต่ยอมทำเพื่อเห็นแก่รายได้อย่างเช่นคนในยุโรป แต่บางคนทำไปโดยไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ทำเพื่อเงินอย่างเดียว เช่น ในอินเดียมีรายงานว่าคนอินเดียโดนทดลองยาแล้วเสียชีวิต หรือเสียหายหลายราย ซึ่งรัฐบาลก็พยายามเข้ามาช่วยแก้ไข

 

 

ส่วนในเมืองไทย ยังมีคนที่ไม่รู้เรื่องยาอีกมาก ไม่รู้ว่ายาต้องผ่านการทดลองโดยนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ คำว่าสมุนไพรเป็นคำที่มีมนต์ขลัง คนฟังรู้สึกว่ามันเป็นของดี บางคนไปกินยาหม้อใหญ่ (ปรุงโดยหมอพระ หมอผี) มีสารเคมีอะไรเท่าไหร่ก็ไม่มีใครรู้ กินเข้าไปตามที่เขาบอกต่อๆ กันมา คิดว่ามันดีมันช่วยล้างพิษ ที่จริงแล้วยาหม้อใหญ่เป็นยามั่วใหญ่ ที่มีสารที่อาจจะมีพิษได้มากมาย เช่น พิษต่อตับต่อไต ท่านผู้อ่านทั้งหลายจึงควรรู้ไว้ เพื่อหลีกเลี่ยงป้องกันตัวเองในยุคสมัยที่การล้างพิษกำลังฮิตมากมาย

 

 

นพ.นริศ เจนวิริยะ

ศัลยแพทย์

(Some images used under license from Shutterstock.com.)