© 2017 Copyright - Haijai.com
พิษโบทูลินั่ม
พิษโบทูลินั่ม (Botulinum toxin) เป็นสาเหตุของการเกิดโรคโบทูลิซึ่ม (Botulism) โรคนี้เกิดขึ้นเฉียบพลันนและมีอันตรายร้ายแรง ทำให้เจ็บป่วยและเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว เป็นโรคที่พบไม่บ่อย สารพิษโบทูลินั่มผลิตจากเชื้อแบคทีเรีย Clostridium botulinum ส่วนใหญ่ผู้ป่วยได้รับสารพิษจากการกินอาหารกระป๋องที่ผลิตไม่ถูกต้องตามหลักสุขอนามัย
เชื้อ Clostridium botulinum เป็นแบคทีเรียแกรมบวกรูปแท่ง เติบโตได้ดีในสภาวะไร้ออกซิเจน เมื่อเชื้อนี้อยู่ในสภาวะที่ไม่เหมาะแก่การเจริญเติบโตจะมีรูปเป็นสปอร์ ซึ่งทนทานต่อความร้อน การทำลายสปอร์จะต้องใช้อุณหภูมิมากกว่า 120 องศาเซลเซียสเป็นเวลานาน 20 นาที เมื่ออยู่ในสภาวะที่ไร้ออกซิเจนและมีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม เชื้อจะอยู่ในรูปของเซล ซึ่งสามารถแบ่งตัวและสร้างสารพิษได้ เชื้อพบได้ในธรรมชาติโดยเฉพาะในดิน
โรคโบทูลิซึ่มเกิดขึ้นได้อย่างไร
• ได้รับสารพิษจากากรกินอาหารกระป๋องที่ผลิตไม่ถูกต้องตามหลักอนามัย อาหารกระป๋องเหล่านี้อาจเป็นผัก ผลไม้ หรือเนื้อสัตว์ที่มีการปนเปื้อนสปอร์ของเชื้อ เนื่องจากอุณหภูมิที่ใช้ฆ่าเชื้อไม่สูงพอ ในรายที่ได้รับพิษมาก อาจเสียชีวิตภายใน 24 ชั่วโมง ระยะฟักตัวของโรคนานประมาณ 12-36 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับปริมาณสารพิษที่ได้รับ ผู้ป่วยมีอาการอ่อนแรงโดยเริ่มต้นจากส่วนบนของร่างกายและลามไปสู่ส่วนล่างของร่างกาย
• เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล อาจเกิดจากบาดแผลที่ปนเปื้อนดิน หรือบาดแผลที่เกิดจากการฉีดยาเสพติดเข้าหลอดเลือด
• เกิดจากการกินอาหารที่ปนเปื้อนสปอร์ของเชื้อ เชื้อเจริญเติบโตและสร้างสารพิษในลำไส้ เป็นภาวะที่พบน้อย
• พบในทารก มักพบในช่วง 6 เดือนแรก พบว่าทารกที่เป็นโรคนี้ ได้รับน้ำผึ้งที่ปนเปื้อนสปอร์ของเชื้อ เชื้อเจริญเติบโตและสร้างสารพิษในลำไส้ จึงมีคำแนะนำไม่ให้น้ำผึ้งแก่ทารกที่มีอายุต่ำกว่า 12 เดือน
• มีการนำสารพิษโบทูลินั่มมาใช้เป็นอาวุธชีวภาพ เพื่อทำลายชีวิตมนุษย์ โดยการพ่นละอองฝอยของสารพิษ เพื่อให้เข้าสู่ร่างกายโดยการสูดดม
• มีรายงานผู้ที่เกิดโรคโบทูลิซึ่มจากการฉีดสารโบท็อกซ์ เพื่อจุดประสงค์ทางด้านความงามและเพื่อรักษาโรคหรือความผิดปกติบางอย่าง
อาการ
• อาการอ่อนแรงนับเป็นอาการสำคัญของโรคโบทูลิซึ่ม อาการเริ่มที่ใบหน้าและศีรษะ ผู้ป่วยจะมีอาการหนังตาตก ตาพร่า เห็นภาพซ้อนเพราะกล้ามเนื้อที่ควบคุมการกลอกตาอ่อนแรงมีอาการพูดไม่ชัด กลืนลำบาก เนื่องจากกล้ามเนื้อที่ควบคุมการพูดและการกลืนอ่อนแรง อาการอ่อนแรงจะลามไปสู่ส่วนล่างของร่างกาย คอ แขน ทรวงอก และขา ทำให้มีอาการหายใจลำบาก แขนขาอ่อนแรง
• อาการในระบบทางเดินอาหารพบในผู้ที่ได้รับสารชีวพิษที่ปนเปื้อนในอาหาร อาการที่พบ ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้วงร่วง อาการเหล่านี้ อาจจะเกิดก่อนหรือเกิดพร้อมกับอาการอ่อนแรงก็ได้
• อาการอื่นๆ ได้แก่ ปากแห้ง คอแหแง เจ็บคอ ท้องผูก ปัสสาวะลำบาก
การรักษา
ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคโบทูลิซึ่ม จะต้องรับเข้าไว้รักษาในโรงพยาบาลทุกราย แพทย์และพยาบาลจะต้องเฝ้าสังเกตดูอาการและอาการแสดงของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การรักษาแบบประคับประคอง ผู้ป่วยที่มีอาการและอาการแสดงของกล้ามเนื้อหายใจอ่อนแรง ต้องใส่ท่อช่วยหายใจและใช้เครื่องช่วยหายใจ เพื่อป้องกันไม่ให้เสียชีวิตจากการหายใจล้มเหลว ผู้ป่วยจะต้องได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำ ผู้ป่วยมักจะมีปัญหาเกี่ยวกับการกินและการกลืน ในระยะแรกควรงดการให้อาหารและน้ำทางปากไว้ก่อน เพื่อป้องกันการสำลัก เมื่อจะเริ่มให้อาหาร ควรให้อาหารทางสายยาง ผู้ป่วยที่มีอาการท้องผูก ควรพิจารณาให้ยาระบายหรือสวนอุจจาระ ผู้ป่วยที่มีอาการปัสสาวะลำบากหรือปัสสาวะไม่ออก ควรพิจารณาสวนปัสสาวะเป็นครั้งคราวหรือคาสาย สวนปัสสาวะไว้จนกว่าจะปัสสาวะได้เอง พิจารณาให้ยาต้านจุลชีพที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วยที่มีโรคติดเชื้อแทรกซ้อน
การรักษาจำเพาะของโรคนี้ ได้แก่ การให้แอนติท็อกซิน ซึ่งผลิตจากซีรั่มของม้า การให้แอนติท็อกซินจะช่วยลดความรุนแรงของโรค และช่วยลดระยะเวลาที่ผู้ป่วยต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
การป้องกัน
โบทูลิซึ่มเป็นโรคที่ป้องกันได้ การผลิตอาหารบรรจุกระป๋องหรือการผลิตหน่อไม้อัดปี๊บ จะต้องใช้กรรมวิธีการฆ่าเชื้อที่ถูกหลักอนามัย ผู้บริโภคต้องหลีกเลี่ยงการกินอาหารกระป๋องที่บรรจุในภาชนะที่ไม่ได้คุณภาพ เช่น กระป๋องบวม ยุบ รั่ว หรือบิดเบี้ยว ก่อนกินอาหารกระป๋องทุกครั้ง ควรนำมาทำให้สุกเนื่องจากสารชีวพิษโบทูลินั่มถูกทำลายได้ง่ายที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส นาน 1 นาที หรืออุณหภูมิ 85 องศาเซลเซียส นาน 5 นาที
นพ.จีรศักดิ์ กาญจนาพงศ์กุล
อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา
(Some images used under license from Shutterstock.com.)