Haijai.com


บอกลาผิวแห้งหยาบกร้านใน 3 ขั้นตอน


 
เปิดอ่าน 6542

บอกลาผิวแห้ง หยาบกร้านใน 3 ขั้นตอน Banish Dry Skin

 

 

ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าตลาดผลิตภัณฑ์บำรุงผิวในบ้านเรามีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด แต่ลแบรนด์ต่างคิดสูตรใหม่ๆ โปรโมชั่นแรงๆ ออกมาเอาใจผู้บริโภค คุณสมบัติเด่นของผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่ดึงดูดใจสาวๆ ก็คือผลิตภัณฑ์ที่ช่วยทำให้ผิวขาวและช่วยทำให้ผิวเนียนนุ่มชุ่มชื้น นั่นแสดงว่าสาวไทยอยากมีผิวขาว เนียนนุ่ม ไม่แห้งกร้าน จึงทำให้ผู้หญิงส่วนใหญ่รวมถึงผู้ชายหลายคนสรรหาวิธีดูแลผิวพรรณให้ดูดีอยู่เสมอ เราจะมาว่ากันด้วยเรื่องของปัญหาผิวพรรณอย่างหนึ่งซึ่งก็คือ “ภาวะผิวแห้ง” เพราะใกล้เข้าสู่ฤดูหนาวที่มีสภาพภูมิอากาศหนาวเย็นและแห้งกันแล้ว ดังนั้น ผิวของคุณจึงจำเป็นที่จะต้องได้รับการปกป้องดูแลอย่างเป็นพิเศษ

 

 

ผิวของเราแห้งกร้านได้อย่างไร

 

ภาวะผิวแห้ง (Dry skin หรือ Xerosis) เป็นปัญหาผิวพรรณที่สามารถพบได้ทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป พบได้บ่อยในฤดูหนาวหรือสภาพอากาศที่หนาว เย็น และแห้ง โดยสามารถสังเกตได้ง่ายๆ คือ ผิวแห้งเป็นขุย แต่บางคนอาจแห้งเพียงเล็กน้อยจนสังเกตไม่เห็นหรือไม่มีอาการใดๆ แต่บางคนอาจแห้งมาก จนกระทั่งผิวแตก เลือดออก เกิดการอักเสบ เป็นสะเก็ด และมีอาการคัน สาเหตุที่ทำให้ผิวแห้งแบ่งออกเป็นหลายสาเหตุทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกต่างๆ กัน ปัจจัยภายใน ได้แก่ เพศ อายุ ภาวะร่างกายขาดไขมัน และโรคบางอย่าง โดยทั่วไปแล้วทั้งเพศหญิงและชายมีอัตราการเกิดผิวแห้งที่ใกล้เคียงกัน ในเรื่องของอายุ ภาวะผิวแห้งจะพบมากในผู้สูงอายุที่เซลล์เริ่มเสื่อมสภาพไปตามเวลา แต่คนที่ยังอายุน้อยเซลล์ยังทำงานได้ดีจึงทำให้ผิวยังคงเต่งตึงเนียนนุ่ม ส่วนภาวะที่ร่างกายขาดไขมันก็เป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ผิวแห้ง เนื่องจากโดยปกติแล้วร่างกายของเราจะมีการผลิตไขมันออกมา เพื่อปกป้องชั้นผิวหนัง ในภาวะปกติช่วงวัยเด็กร่างกายจะมีการสร้างไขมันเช่นกันแต่ไม่มาก แต่เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่เพิ่มมากขึ้น ต่อมไขมันจะทำงานอย่างมาก จึงทำให้มีการสร้างไขมันออกมามาก ซึ่งถ้าหากการสร้างไขมันมีความผิดปกติเกิดขึ้น ก็จะทำให้เกิดภาวะผิวแห้งขึ้นมาได้ เช่น ขาดสารอาหารบางอย่างที่จำเป็น ซึ่งเป็นส่วนประกอบของไขมัน โดยไขมัน (Sebum) จะมีองค์ประกอบหลักอยู่หลายชนิด เช่น Squalene, Wax ester และ Triglyceride เป็นต้น หากร่างกายขาดสารอาหารที่เป็นส่วนประกอบหลักของไขมันในส่วนนี้ไปแล้ว ก็จะทำให้เกิดการสร้างไขมันที่ผิดปกติ ทำให้เกิดภาวะผิวแห้งได้ นอกจากนี้โรคทางพันธุกรรมบางอย่างก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะผิวแห้ง เช่น โรคอิชไทโอซิส (Ichthyosis) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าโรคผิวสะเก็ดงู ซึ่งเป็นภาวะผิวแห้งอย่างรุนแรงชนิดหนึ่ง

 

 

ส่วนปัจจัยภายนอก ได้แก่

 

(1) สภาพภูมิอากาศ ในช่วงฤดูหนาวสภาวะอากาศจะหนาว เย็น และแห้ง ทำให้ผิวของเราเกิดการสูญเสียน้ำเกิดภาวะผิวแห้ง โดยเฉพาะอาชีพที่ต้องทำงานอยู่บนที่สูง ซึ่งอากาศแห้งตลอดเวลา มีความกดอากาศสูง เช่น  นักบิน แอร์โฮสเตส หรือคนที่ต้องเดินทางโดยสารเครื่องบินบ่อยๆ มีโอกาสที่จะเจอปัญหาภาวะผิวแห้งได้มากกว่าอาชีพอื่นๆ

 

 

(2) อุปนิสัยการอาบน้ำ การอาบน้ำร้อนถึงแม้ว่าจะช่วยให้เรารู้สึกผ่อนคลายสบายตัว แต่สิ่งที่น้ำร้อนได้ทำร้ายผิวพรรณของเรา ก็คือการชะล้างน้ำหล่อเลี้ยงผิวและไขมันตามธรรมชาติในผิวของเราออกไปจนหมด เป็นผลทำให้ผิวแห้งแตกได้ง่าย

 

 

(3) การขัดผิวหรือสครับ ผิวหนังของเราจะมีชั้นขี้ไคล (Stratum Corneum) ซึ่งเป็นปราการด่านแรกในการปกป้องผิว การขัดผิวบ่อยๆ จะทำให้ชั้นขี้ไคลหลุดออก ทำให้เกิดกระบวนการระเหิดของน้ำออกจากผิว (TEWL หรือ Trans Epidermal Water Loss) เกิดการสูญเสียน้ำออกไปผ่านทางผิวหนัง ผิวจึงแห้งเกิดริ้วรอยได้ง่าย ดังนั้น จึงไม่แนะนำให้ขัดผิว ปัจจัยภายนอกเหล่านี้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผิวสูญเสียองค์ประกอบที่สำคัญของผิวไป เป็นการขจัดน้ำหล่อเลี้ยงผิวและไขมันตามธรรมชาติออกไปจนหมด จนทำให้เกิดภาวะผิวแห้ง

 

 

ลักษณะของภาวะผิวแห้ง

 

อาการและอาการแสดงของผิวแห้ง โดยทั่วไปจะมีลักษณะเป็นขุยอาจมีรอยแดง รอยแตก ลอกออกมาเป็นสะเก็ด มีอาการคัน เลือดออกบริเวณโดยรอบมีลักษณะคล้ายผิวหนังอักเสบ ภาวะผิวแห้ง สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับด้วยกัน ได้แก่

 

(1) ดราย สกิน (Dry skin) เป็นภาวะผิวแห้งโดยทั่วไป มีลักษณะแห้งเพียงเล็กน้อย พบได้ทั่วไปบนร่งกายและเป็นชนิดที่พบได้บ่อย

 

 

(2) เซอร์โรติก เดอร์มาไตซิส (Xerotic Dermatitis) เป็นภาวะผิวแห้งที่รุนแรงมากขึ้น จนกระทั่งแตก ตกสะเก็ดเป็นรอยแดง เกิดการอักเสบ และมีอาการคัน พบบ่อยบริเวณขา หน้าแข้ง

 

 

(3) อิชไทโอซิส (Ichthyosis) เป็นภาวะผิวแห้งแตกอย่างรุนแรงเรียกอีกอย่างหนึ่วว่าโรคผิวสะเก็ดงู ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรม

 

 

ประเด็กสำคัญก็คือ แล้วผิวแห้งมากน้อยแค่ไหนล่ะถึงควระจะต้องไปพบแพทย์ ในกรณีที่เป็นภาวะผิวแห้งโดยทั่วไป (Dry skin) โดยส่วนใหญ่เราสามารถดูแลด้วยตัวเองได้ โดยการทามอยส์เจอไรเซอร์ เพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว และเป็นการป้องกันผิวไม่ให้แห้งกร้านรุนแรงมากไปกว่าเดิม แต่หากเมื่อไหร่ที่ผิวแห้งมากๆ แตกเป็นขุย และเกิดอาการคันจนต้องเกาและทำให้เลือดออก เมื่อนั้นก็คงต้องไปพบแพทย์ เพื่อบรรเทาและรักษาอาการ ซึ่งหากคอยสังเกตตังเองถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้น ก็จะทำให้สามารถบรรเทาและรักษาอาการได้เร็วยิ่งขึ้น เพราะการปล่อยให้เกิดภาวะผิวแห้งเป็นเวลานานๆ จะทำให้ผิวชั้นล่างไม่มีปราการปกป้องผิว จึงเกิดการสูญเสียน้ำอย่างรุนแรง ทำให้ผิวขาดความชุ่มชื้น สิ่งที่จะตามก็คือผิวหน้าที่แห้งเหี่ยว เกิดริ้วรอย ตีนกา ผิวตามลำตัวเริ่มด้านเหี่ยวย้อย ไม่ตึงกระชับ เพราะการขาดน้ำในผิวจะทำให้ความยืดหยุ่นของผิวเกิดความเสียหายไปด้วย จากเพียงแค่ปัญหาเล็กๆ หากทิ้งไว้นานๆ ก็จะทำให้เกิดปัญหาใหญ่ที่แก้ไขได้ยากตามมาได้

 

 

แนวทางการรักษาภาวะผิวแห้ง

 

การรักษาภาวะผิวแห้ง แบ่งออกเป็น 3 แนวทางด้วยกัน คือ

 

(1) การดูแลสุขอนามัย โดยการไม่อาบน้ำร้อนหรือน้ำอุ่น ควรอาบน้ำที่อุญหภูมิห้อง ในช่วงฤดูหนาวควรอาบน้ำในอุณหภูมิที่อุ่นพอเหมาะ หรือ Warm water อย่าอาบในอุณหภูมิ Hot water รวมทั้งคนที่ชื่นชอบในการแช่น้ำอุ่นควรลดจำนวนครั้งให้น้อยลง การไม่ใช้สบู่ที่รุนแรงควรใช้สบู่อ่อนๆ ไม่มีกรดเป็นส่วนประกอบ ไม่ควรใช้ฟองน้ำหรือใยขัดผิวขัดผิวอย่างรุนแรง หากเป็นไปได้ให้หลีกเลี่ยงการขัดผิว เพราะการขัดผิวจะยิ่งทำให้ผิวแห้งมากขึ้น หรือหลังจากขัดผิวแล้วควรตามด้วยการทามอยส์เจอไรเซอร์ให้มาก เพื่อเป็นตัวปกป้องแทนชั้นขี้ไคล การดูแลสุขอนามัยยังรวมถึงการหมั่นทามอยส์เจอไรเซอร์เป็นประจำทุกครั้งหลังอาบน้ำ ก็จะช่วยทำให้ผิวพรรณนุ่มชุ่มชื่นไม่แห้งกร้านได้

 

 

(2) การรักษาทางการแพทย์ ภาวะผิวแห้งแพทย์จะวินิจฉัยโดยดูจากลักษณะอาการและอาการแสดงของคนไข้ ได้แก่ สภาวะผิวเป็นขุย เป็นสะเก็ด มีอาการแดง คัน มีจุดเลือดออก เป็นการวินิจฉัยภาวะผิวแห้งที่มองเห็นได้จากภายนอก ซึ่งสามารถระบุได้ไม่ยาก ว่าคนไข้มีระดับของผิวที่แห้งมากน้อยแค่ไหน เพื่อทำการรักษาในขั้นตอนต่อไป ในกรณีที่ผิวแห้งโดยทั่วไป (Dry Skin) แพทย์จะแนะนำให้ทามอยส์เจอไรเซอร์ทุกครั้งหลังอาบน้ำ และตามด้วยครีมกันแดดในช่วงกลางวัน ในกรณีที่ผิวแหงรุนแรงมากขึ้นในระดับเซอร์โรติก เดอร์มาไตซิส (Xerotic Dermatitis) แพทย์จะทำการวินิจฉัยถึงอาการข้างเคียง หรือโรคแทรกซ้อนอื่นร่วมด้วย ในรายที่มีอาการรุนแรง อาจจะต้องมีการใช้ยาสเตรียร์รอยด์ให้ทาที่ผิวหนังบริเวณที่แห้ง แตก และคัน ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ และผิวแห้งรุนแรงมากขึ้นที่เรียกว่าโรคอิชไทโอซิส (Ichthyosis) หรือโรคผิวสะเก็ดงู ในกรณีนี้ต้องมีการตรวจติดตามทั้งครอบครัว อาจจะต้องมียารับประทานอื่นร่วมในรายที่มีผิวแห้งอย่างรุนแรง จนรั้งตาแล้วไม่สามารถปิดตาได้ เมื่อนั้นแพทย์จำเป็นต้องให้ยากินบางอย่าง ทางการแพทย์ร่วมด้วยในการรักษา

 

 

(3) การเพิ่มความสามารถในการอุ้มน้ำของผิวด้วยการฉีดสาร หรือที่เรียกว่าการฉีดผิวฉ่ำ ซึ่งเป้นการใช้สารไฮยาลูรอนิก แอซิด (Hyaluronic acid) และสารนิดใหม่ที่เรียกว่าเดกซ์แทรน (Dextran) ฉีดเติมเต็มเข้าไปในผิวหนังบริเวณที่แห้งเหี่ยว สารทั้งสองชนิดนี้จะทำหน้าที่อุ้มน้ำคืนความชุ่มชื้นให้กับผิว โดยเฉพาะไฮยาลูรอนิก แอซิดเป็นสารให้ความชุ่มชื้น (Humectants) ชนิดหนึ่งในผิวของเราของเราอยู่แล้ว โดยการดึงดูดน้ำและความชื้นเข้าสู่ผิว ในคนที่อายุมากขึ้น โปรตีนที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของผิวหนังอย่างคอลลาเจน อีลาสติน และไขมันใต้ชั้นผิวหนังจะพร่องหายไป การฉีดสารทั้งสองชนิดนี้เข้าไป จะช่วยทำให้ผิวมีการอุ้มน้ำได้ดี ซึ่งการฉีดต้องฉีดด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากต้องใช้ปริมาณยาให้เหมาะสมและฉีดเข้าไปในชั้นใต้ผิวหนังที่เหมาะสม หากฉีดไม่พอกับส่วนที่พร่องก็จะทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นบวมมากเกินไป ซึ่งการฉีดเติมเต็มนี้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถทำให้ผิวดูตึง เนียน นุ่ม และดูดีขึ้นได้

 

 

ผิวแห้งเกิดจากสภาวะอากาศที่แห้ง นั่นหมายความว่าถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ฤดูหนาวผิวของคุณก็อาจจะแห้งกร้านและแตกคันได้เช่นกัน ดังนั้น หากไม่อยากให้ริ้วรอยตีนกามาเยือนก่อนวัยอันควร และไม่อยากให้ผิวเหี่ยวด้านควรดูแลปกป้องผิวพรรณของคุณเนิ่นๆ เสียตั้งแต่วันนี้

 

 

ภาวะผิวแห้งสามารถเกิดขึ้นได้บริเวณใบหน้า เช่น โหนกแก้ม จมูกรอบๆ ริมฝีปาก บริเวณมือ มือแตก มือลอก รวมถึงบริเวณขา หน้าแข้งส่วนคนที่อาบน้ำร้อนบ่อยๆ ลำตัวก็จะแห้งเป็นขุยได้เช่นกัน ภาวะผิวแห้งที่พบได้มากคือผิวแห้งธรรมดาและผิวแห้งเซอร์โรติก เดอร์มาไตซิสส่วนผิวแห้งอิชไทโอซิสพบได้ไม่มากนัก ข้อแนะนำสำหรับคนที่มีผิวแห้งก็คือ (1) อย่าอาบน้ำร้อน (2) อย่าถูสบู่ที่มีฤทธิ์รุนแรง สบู่ที่กรดเยอะฆ่าเชื้อได้ดี หรือมีฟองเยอะ ควรใช้สบู่เด็กที่อ่อนๆ (3) ทาบำรุงด้วยมอยส์เจอไรเซอร์ การใช้มอยส์เจอไรเซอร์ให้เหมาะกับผิว ควรใช้ที่มีส่วนประกอบของไขมันมากๆ หรือเป็นเนื้อน้ำมัน (Oil Base) ยิ่งมีความหนืด อยู่ตัวสูง ยิ่งเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวได้มาก ไม่ควรใช้ที่มีส่วนประกอบของแอลกอฮอล์ (Alcohol Base) หรือน้ำ (Water Base) เพราะจะทำให้แสบคัน มอยส์เจอไรเซอร์ที่ดีต่อการปกป้องผิว เช่น ลาโนลีน ไขแกะ Oil (Liquid Petrolatum) น้ำมันมะกอก บางคนนำมาลูบผม เพิ่มความชุ่มชื้นในกรณีที่ผมแห้งแตก และยังสามารถนำมาทาตัวได้เช่นกัน โคคิวเทน (Q-10) ก็เป็นมอยส์เจอไรเซอร์ที่ดีอีกชนิดหนึ่ง มีลักษณะพิเศษคล้ายเนย เป็นสารที่นำมาปกป้องผิวได้ ข้อปฏิบัติเหล่านี้จะเป็นการป้องกันการเกิดผิวแห้งได้ ซึ่งก็คือเรื่องของการดูแลสุขอนามัยนั่นเองครับ

 

 

นพ.ไพศาล รัมณีย์ธร

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังและเลเซอร์

ผู้ช่วยคณะบดีสำนักวิชาเวชศาสตร์ชะลอวัย

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และผู้บริหารเครือปิ่นเกล้าคลินิก

(Some images used under license from Shutterstock.com.)