Haijai.com


เป้ใบใหญ่ กับไหล่เอียงๆ


 
เปิดอ่าน 1631
 

เป้ใบใหญ่ กับไหล่เอียงๆ

 

 

“โอ๊ย ทำไมมันหนักอย่างนี้ละคะลูก” คุณแม่ตกใจ เมื่อพยายามจะช่วยหนูน้อยยกกระเป๋าเป้ “ก็หนังสือเรียนเยอะแยะนี่หน่า แล้วไหนจะโครงงานวิทย์ฯ อีกด้วย” เจ้าตัวดีตอบฉะฉาน ก่อนจะค่อยๆ ยกกระเป๋าเป้ขึ้นสะพายไหล่ แล้วไปขึ้นรถ คุณแม่มองตามเจ้าตัวดีเดินไหล่เอียงจากไป พร้อมนึกขึ้นได้ว่าที่ลูกบ่นปวดหลังบ่อยๆ เป็นเพราะเป้ใบใหญ่ๆ นี้หรือเปล่านะ?

 

 

จากข้อมูลของศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ระบุว่า เด็กๆ ไม่ควรแบกสัมภาระเกิน 10% ของน้ำหนักตัว เพราะจะเป็นเหตุให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพ โดยเฉพาะต่อโครงสร้างของร่างกาย และหากแบกสัมภาระเกิน 20% ของน้ำหนักตัว ก็มีความเป็นไปได้ว่ากระดูกสันหลัง หมอนรองกระดูก และความโค้งงอของกระดูกสันหลัง อาจผิดปกติได้ อย่างไรก็ตาม มีการสำรวจพบว่ามีเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาตอนต้น เกินกว่า 90%  ที่แบกกระเป๋าน้ำหนักมากกว่า 10% ของน้ำหนักตัว เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว พ่อแม่ผู้ปกครองทั้งหลาย น่าจะหันมาใส่ใจดูแลน้ำหนักกระเป๋าเป้ของลูก รวมทั้งวิธีการที่ลูกสะพายกระเป๋าให้ถูกวิธีกันดีกว่าค่ะ

 

 

เป้หนักๆ ลูกรักไม่ปลอดภัย

 

การสะพายเป้ที่หนักเกินไปนั้น ไม่เพียงแต่ทำให้เจ้าตัวเล็กมีอาการปวดหลัง ปวดไหล่อย่างถาวรเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อสุขภาพอีกหลายประการด้วย ไม่ว่าจะเป็น

 

 

 น้ำหนักที่มากเกินไปของกระเป๋า จะดึงให้ลำตัวของเด็กๆ เอนไปด้านหลัง และเพื่อถ่วงดุล หนูน้อยก็มักจะแอ่นสะโพกมาด้านหน้า หรือไม่ก้มจนหลังงอ จนทำเป็นสาเหตุให้กระดูกสันหลังอยู่ในตำแหน่งที่ผิดรูปทรง และทำให้เกิดอาการปวดไหล่ ปวดต้นคอ และปวดหลังได้

 

 

 การสะพายกระเป๋าหนักๆ จะทำให้ท่าทางการเดินของลูกเปลี่ยนแปลงไปขณะที่ต้องแบกกระเป๋าไว้บนไหล่ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการหกล้ม ตกบันได เพราะขาดสมดุลในการทรงตัว

 

 

 หากเด็กๆ ได้รับอุบัติเหตุ ขณะที่สะพายกระเป๋าเป้ที่มีน้ำหนักมาก ก็มีแนวโน้มว่าหนูน้อยจะได้รับบาดเจ็บมากกว่าการที่ไม่ได้สะพายกระเป๋า เพราะน้ำหนักที่มากอาจทับตัวลูกได้

 

 

 คุณหนูๆ ที่นิยมสะพายเป้ไว้บนไหล่ข้างเดียว ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม มักจะเกิดอาการปวดหลัง รวมทั้งทำให้รู้สึกตึงบริเวณต้นคอและไหล่อีกด้วย

 

 

 สายสะพายของกระเป๋าเป้ ที่สั้น และรัดแน่นเกินไป จะขัดขวางทางเดินของเส้นเลือด ทำให้เกิดอาการเหน็บชาที่มือและแขน หรืออาจทำให้มือและแขนของลูกไม่มีแรงได้

 

 

เรื่องของเป้ เด็กอยากเท่ ต้องรู้วิธี

 

จะว่าไปแล้วกระเป๋าเป้นั้นดูจะเป็นอุปกรณ์ที่สะดวกและปลอดภัยที่สุดสำหรับคุณหนูๆ เพราะเมื่อเทียบกับกระเป๋าที่มีล้อลากแล้ว กระเป๋าเป้จะปลอดภัยกว่าหากใช้ถูกวิธี เพราะหากเจ้าตัวเล็กต้องขึ้นรถโรงเรียน หรือรถประจำทางการลากกระเป๋าล้อเลื่อนขึ้น-ลงรถ หรือขึ้น-ลงบันได นอกจากจะไม่คล่องตัว ก็ยังเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุด้วย ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของลูก เรามาสอนลูกให้รู้จักใช้กระเป๋าเป้อย่างถูกวิธีดีกว่า

 

 

 โดยทั่วไป เด็กๆ (และผู้ใหญ่หลายคน) มักจะยกกระเป๋าเป้ขึ้นมาก่อนจะสวมสายสะพายบนไหล่ทั้งสองข้าง ทั้งๆ ที่กำลังยืนอยู่ ซึ่งไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องนัก โดยเฉพาะหากกระเป๋านั้นเต็มไปด้วยสัมภาระที่หนักอึ้ง วิธีที่ถูกคือ งอขาทั้งสองลงนั่ง โดยให้กระเป๋าเป้วางอยู่ด้านหลัง ก่อนจะสอดแขนเข้าไปในสายสะพาย เมื่อสายสะพายอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมแล้วจึงค่อยๆ ลุกยืนขึ้น

 

 

 ในแต่ละวัน เมื่อลูกสะพายกระเป๋าขึ้นบ่า คุณพ่อคุณแม่ควรช่วยปรับสายสะพายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม คือ อยู่เหนือจากเอวของลูกประมาณ 5 ซม. คุณควรปรับสายสะพายทุกวัน ตามน้ำหนักของกระเป๋าที่เปลี่ยนไปค่ะ

 

 การจัดสัมภาระลงกระเป๋าเป้ คุณควรนำสิ่งของหนักๆ เช่นหนังสือเรียนเล่มโต วางไว้ตรงกลางของกระเป๋า และหากกระเป๋ามีช่องเก็บสัมภาระหลายๆ ช่อง คุณก็ควรใช้ทุกๆ ช่อง ตามความเหมาะสม เพื่อกระจายน้ำหนัก

 

 

5 วิธีเลือกซื้อเป้ เพื่อสุขภาพ (ล้อมกรอบแนวตั้งด้านข้าง)

 

1.เลือกเป้ที่มีน้ำหนักเบา ในเมื่อต้องแบกสัมภาระที่หนักอึ้งแล้ว เป้ที่นำมาใส่ของก็น่าจะมีน้ำหนักไม่มาก เพื่อจะได้ไม่เพิ่มน้ำหนักที่เจ้าตัวน้อยต้องแบกรับ หลีกเลี่ยงกระเป๋าเป้ที่ทำจากหนังเพราะมีน้ำหนักมาก

 

 

2.สายสะพายของกระเป๋าทั้งสองด้านควรมีความกว้างมากพอ เพราะสายสะพายที่เล็กเกินไปอาจกดลงบนผิวของลูก จนทำให้เลือดไม่เดินและเกิดรอยช้ำได้

 

 

3.กระเป๋าเป้ที่ดีควรบุแผ่นรอง บริเวณที่ต้องสัมผัสกับหลังของผู้ใช้ เพราะไม่เพียงจะช่วยให้รู้สึกสะดวกสบายเท่านั้น แต่ยังป้องกันไม่ให้วัตถุแหลมคม เช่น ดินสอ หรือมุมหนังสือเล่มหนา ทิ่มหลังของลูกด้วย

 

 

4.เลือกระเป๋าที่มีสายคาดเอว ซึ่งจะช่วยถ่วงดุลน้ำหนักไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายได้

 

 

5.มีช่องเก็บของที่หลากหลาย เพื่อไม่ให้น้ำหนักของสิ่งของกระจุกรวมกันอยู่ในตำแหน่งเดียว

(Some images used under license from Shutterstock.com.)