
© 2017 Copyright - Haijai.com
โรคปวดศีรษะ โรคไมเกรน คืออะไร
ไมเกรน เป็นโรคปวดศีรษะชนิดหนึ่ง ที่เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทที่หลอดเลือดแดง บริเวณศีรษะไมเกรนเป็นโรคเรื้อรังไม่หาขาด ซึ่งอาจจะมีอาการเป็นครั้งคราว ลักษณะอาการที่สำคัญของไมเกรนนั้น ประกอบไปด้วย ส่วนใหญ่มักจะปวดศีรษะข้างเดียวประมาณ 70% หรือจะมีอาการปวดศีรษะทั้ง 2 ข้างก็ได้ โดยทั่วไปจะมีอาการปวดศีรษะนาน 4-72 ชั่วโมง นอกจากนี้ ผู้ป่วยมักจะมีอาการคลื่นไส้ วิงเวียนศีรษะ อาเจียนและในบางราย อาจจะมีอาการกลัวแสงหรืออาการกลัวเสียงได้
ในทางการแพทย์จะแบ่งโรคไมเกรนออกเป็น 5 ระยะ นั่นก็คือ
1.ระยะอาการนำ (Prodome)
มีอาการหงุดหงิด หิว ท้องเดิน ไม่มีสมาธิ อ่อนเพลีย เหม็นกลิ่นอาหารภายใน 24 ชั่วโมง ก่อนมีอาการปวดศีรษะ
2.ระยะออร่า (aura)
มีอาการผิดปกติทางสายตา เช่น เกิดจุดเมื่อมองวัตถุ เห็นภาพผิดขนาด เห็นภาพเพียงครึ่งเดียว แสงซิกแซก มองเห็นเป็นเส้นคลื่นก่อนการปวดศีรษะประมาณ 1 ชั่วโมง
3.ระยะปวดศีรษะ
มีอาการปวดศีรษะแบบจุดๆ และส่วนมากแล้ว ผู้ป่วยจะปวดข้างเดียว แต่ก็พบที่ปวดศีรษะทั้งข้างได้เช่นกัน และมักจะมีเหล่านี้ร่วมด้วย เช่น ปวดกระบอกตา ปวดต้นคอ คลื่นไส้อาเจียน กลัวแสง กลัวเสียง เป็นต้น
4.ระยะหายปวดศีรษะ (Resolution)
อาการปวดศีรษะมักจะหายไปหลังจากได้พักผ่อน เช่น การนอนหลับ การผ่อนคลาย การนวดเพื่อผ่อนคลาย เป็นต้น
5.ระยะภายหลังจากหายปวดศีรษะ (Postdrome)
หายจากอาการปวดศีรษะ แต่ร่างกายมีอาการอ่อนเพลีย ความคิดไม่แล่น คิดอะไรไม่ค่อยออก เป็นต้น
ปัจจัยเสี่ยงและสาเหตุของโรคไมเกรน
• สิ่งแวดล้อม ก็สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะได้ เช่น อากาศร้อนจัด อากาศหนาวจัด แสงแดดจ้าเกินไป และกลิ่นไม่พึงประสงค์ เป็นต้น
• ระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง ก็สามารถทำให้เกิดอาการปวดศีรษะได้ เช่น ช่วงที่มีประจำเดือน รับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด ได้รับฮอร์โมนอื่นๆ และช่วงกำลังตั้งครรภ์ เป็นต้น
• อาหารบางชนิด ส่งเสริมให้เกิดไมเกรนได้ เช่น คาเฟอีน ผงชูรส (monosodium glutamate) ช็อกโกแลต แอสปาแตม (aspartame) เป็นต้น
• ยาและสารเคมีบางชนิด ที่กระตุ้นให้เกิดการปวดศีรษะได้ เช่น nitroglycerine, Hydralazine, Histamine, Resepine เป็นต้น
• ออกกำลังกายที่มากเกิน ก็สามารถกระตุ้นให้เกิดการกำเริบ ของอาการปวดหัวไมเกรนได้
• สภาพร่างกาย ที่อาจส่งเสริมให้เกิดอาการไมเกรนได้ เช่น นอนไม่พอ เครียด วิตกกังวล ทำงานหนักมากเกินไป และอดอาหาร เป็นต้น
การป้องกันการเกิดโรคไมเกรน
ผู้ป่วยโรคไมเกรนจะมีความไวต่อการตอบสนองการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในร่างกาย และสิ่งแวดล้อมภายนอกมากเกินไป ดังนั้น จงพยายามหลีกเลี่ยงต่อสิ่งเร้า ที่จะกระตุ้นให้อาการปวดไมเกรนกำเริบ เช่น ควันบุหรี่ อาหารที่ใส่สารปรุงรส แดดร้อนแสงจ้า ฝนตกหนาวสั่น สภาวะที่เคร่งเครียด เสียงดังหนวกหู เป็นต้น
ผู้ป่วยโรคแผลในกระเพาะอาหาร ห้ามรับประทานแอสไพรินเด็ดขาด นั่นก็เป็นเพราะว่า อาจเกิดเลือดออกในกระเพาะได้มากๆ และอาจทำให้เสียชีวิตได้
อนึ่ง หากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้ว อาการปวดไมเกรนยังมีอยู่ บางครั้งอาจจำเป็นต้องใช้ยาป้องกันโรคไมเกรน ยาในกลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ไม่ให้สมองหลั่งสารเซอโรโตนิน (Serotonin) ออกมามากเกินไป การใช้ยาป้องกันโรคไมเกรน ต้องเลือกชนิดและปรับขนาดยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายๆ ไป และต้องกินยาต่อเนื่องเป็นเวลานานหลายเดือน จนอาการไมเกรนดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การใช้ยาต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์
การรักษาโรคไมเกรน
แนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไมเกรน มีทั้งให้การรักษาแบบไม่ใช้ยา โดยการให้ความรู้แก่ผู้ป่วยเกี่ยวกับพยาธิกำเนิด ปัจจัยกระตุ้นต่างๆ ที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ รวมถึงการปรับเปลี่ยนวิถีแห่งชีวิต และการรักษาแบบใช้ยา โดยจำแนกออกเป็นยาป้องกันไมเกรน ที่ต้องรับประทานทุกวัน สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการตั้งแต่ 3 ครั้ง ต่อเดือน และยารักษาอาการปวดศีรษะเฉียบพลัน
อนึ่ง การดูแลรักษาเพื่อควบคุมการปวด ไม่ให้รบกวนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยนั้น เป็นเรื่องสำคัญ การรักษาจะได้ผลดีหรือไม่ดีนั้น จะต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ป่วย ในการลดปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการปวดด้วย การรักษาด้วยยามี 2 วัตถุประสงค์ นั่นก็คือ รักษาอาการปวดในระยะเฉียบพลัน และการป้องกันการปวดศีรษะไมเกรนในครั้งต่อไป
โดยส่วนมาก การปวดศีรษะจากโรคไมเกรนนั้น มักจะรักษาไม่หายด้วยยาแก้ปวด พาราเซตตามอลธรรมดาทั่วๆ ไป ยาที่ได้ผลดี คือ ยาแก้ปวดแอสไพรินขนาด 2 เม็ด แต่ข้อควรห้ามรับประทานแอสไพรินในขณะท้องว่าง และผู้ป่วยโรคแผลในกระเพาะอาหาร ห้ามรับประทานแอสไพรินเด็ดขาด นั่นก็เป็นเพราะว่า อาจเกิดเลือดออกในกระเพาะได้มากๆ และอาจทำให้เสียชีวิตได้ ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่แน่ใจว่า เป็นโรคกระเพาะหรือไม่ ก็ให้รับประทานยาเคลือบกระเพาะอาหาร หรือนมร่วมด้วย ก็จะป้องกันการระคายเคืองของแอสไพรินต่อเยื่อบุกระเพาะอาหารได้
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่มีอาการปวดไมเกรน ควรเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองเสียก่อน หากอาการปวดไมเกรนยังไม่ดีขึ้น ให้บรรเทาโดยการนวด และพักผ่อน ให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย และหากยังมีอาการปวดอยู่อีกจึงค่อยๆ ใช้ยารักษาตามระดับของความรุนแรงของอาการปวด ข้อสำคัญพึงระลึกเอาไว้ว่า ยาสำหรับโรคไมเกรนนั้น มีผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ดังนั้น จึงควรใช้ยาในความดูแลของแพทย์ทุกๆ ครั้ง
(Some images used under license from Shutterstock.com.)