© 2017 Copyright - Haijai.com
โตแล้วนะ แต่ทำไมหนูยังดูดนิ้ว?
Problem
เจ้าอาการดูดนิ้วในเด็กเล็กถือเป็นเรื่องปกติค่ะ เพราะนอกจากการดูดนิ้วจะเป็นพฤติกรรมตามธรรมชาติแล้ว ยังถือเป็นการสร้างความสุขอย่างหนึ่งของเด็กๆ อีกด้วย คือ เมื่อใดที่เจ้าตัวน้อยรู้สึกเครียด กังวล ก็มักจะแสดงออกด้วยพฤติกรรมดูดนิ้วเพื่อระบายความเครียด คลายความวิตกกังวล ให้รู้สึกอบอุ่นใจ และมั่นคงปลอดภัย เช่นเดียวกับความรู้สึกขณะดูดนมในอ้อมอกแม่ยามเป็นทารก ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วเด็กๆ จะเลิกดูดนิ้วไปเองหลังจากอายุ 3 ขวบหรือเมื่อเข้าโรงเรียน เนื่องจากเด็กๆ จะรู้สึกอายเพื่อน อายคุณครู แต่เมื่อใดที่เจ้าตัวน้อยยังคงมีพฤติกรรมดูดนิ้วอยู่แม้จะอายุล่วงเลย 3 ขวบไปแล้ว คุณแม่และผู้ใกล้ชิดไม่ควรนิ่งนอนใจหรือปล่อยปละละเลยนะคะ ต้องฝึกฝนและเบี่ยงเบนแก้ไขพฤติกรรมเหล่านี้ ก่อนที่จะกลายไปเป็นบุคลิกภาพที่ไม่เหมาะสม และมีปัญหาเกี่ยวกับฟันและช่องปาก เช่น ขากรรไกรบนและล่างเติบโตอย่างไม่สมดุล ฟันหน้าบนและล่างไม่สบกัน ส่งผลให้การออกเสียงบางคำไม่ถูกต้อง อย่างพยัญชนะ ส.เสือ เป็นต้น นอกจากนี้อาจมีปัญหาในการฉีกหรือกัดสิ่งของอีกด้วย แค่ฟังก็น่ากลัวแล้วใช่ไหมคะ แล้วจะมีวิธีใดที่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้บ้างล่ะ?
Solution
• หาสาเหตุที่แท้จริงของการดูดนิ้ว คุณแม่ต้องทราบสาเหตุของการดูดนิ้วของลูกก่อนค่ะ เพราะหนูน้อยบางคนดูดนิ้วเพราะรู้สึกเพลิดเพลิน บางคนเหงา กังวล ตื่นเต้นเลยปลอบตัวเองด้วยการดูดนิ้ว บางคนก็ดูดนิ้วเพื่อทดแทนที่พ่อแม่ไม่ให้ดูดนมจากขวดอีกต่อไป ดังนั้นเพื่อให้การแก้ไขพฤติกรรมบรรลุผล คุณแม่จะต้องหาสาเหตุให้พบค่ะ
• บางครั้งการที่เจ้าตัวน้อยดูดนิ้วก็เพื่อต้องการเรียกร้องความสนใจจากพ่อแม่และคนใกล้ชิด เพราะเด็กๆ มักรู้ว่า เมื่อเขาดูดนิ้วแล้วพ่อแม่จะสนใจเข้ามาเล่นด้วย หรือเข้ามาห้ามปรามไม่ให้ดูดนิ้ว ก็เลยใช้พฤติกรรมนี้เรียกให้พ่อแม่เข้ามาหาค่ะ
• เบี่ยงเบนความสนใจของลูก เช่น เมื่อเห็นลูกดูดนิ้ว อย่าทักหรือดุว่าลูกให้เขารู้สึกอาย แต่ให้เบี่ยงเบนพฤติกรรมและความสนใจของเขาค่ะ เช่น หยิบของเล่นที่จำเป็นต้องใช้มือเล่นให้ลูกเพื่อให้เขาหันมาสนใจของเล่นแทน เด็กจะสนุกสนานกับของเล่นจนลืมเรื่องการดูดนิ้วไปเลย
• ออกกำลังกายให้เจ้าตัวน้อยเพิ่มขึ้น เพราะเด็กๆ มักกล่อมตัวเองให้หลับไหลด้วยการดูดนิ้ว ซึ่งการออกกำลังกายจะทำให้ระยะเวลาช่วงก่อนจะหลับของเด็กๆ นั้นสั้นลงเนื่องจากความอ่อนเพลีย จนบางครั้งอาจไม่จำเป็นต้องพึ่งการดูดนิ้วเลยก็ได้
• ปรับเปลี่ยนลักษณะอาหารให้เคี้ยวมากขึ้น คุณแม่สามารถปรับเปลี่ยนอาหารของเจ้าตัวน้อยได้ตั้งแต่น้องอายุ 8 เดือนเป็นต้นไป เพื่อฝึกให้กล้ามเนื้อบริเวณปาก คาง คอ ทำงานเพิ่มขึ้นค่ะ
ขอแค่ใช้ความรักและความเข้าใจในการแก้ทุกๆ ปัญหาของลูกรัก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาน้อยใหญ่แค่ไหน คุณแม่ก็สามารถพิชิตได้ทั้งหมด รับรองว่าไม่เกินความสามารถคุณแม่หรอกค่ะ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)