Haijai.com


กัวซา บำบัดโรคด้วยวิธีขับพิษทางผิวหนัง


 
เปิดอ่าน 7799

กัวซา สุขภาพดีโดยไม่ต้องพึ่งยา บำบัดโรคด้วยวิธีขับพิษทางผิวหนัง

 

 

วิธีกัวซาหน้าให้เริ่มทำจากหน้าผาก รอบดวงตา แก้ม คาง และบริเวณจมูก (จากบนลงล่าง) ทำวนไปแบบนี้ ประมาณ 5-10 ครั้ง อย่างเบามือ ควรกัวซาใบหน้าเป็นประจำทุกวัน วันละ 1 ครั้ง ก่อนนอนหรือหลังตื่นนอนประมาณ 15-30 นาที

 

 

เนื่องจากการแพทย์แผนจีนได้มีการพัฒนาตลอดเวลา การบำบัดโรคด้วยวิธีดั้งเดิมจึงเริ่มผสมผสานกับทฤษฎีใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการรักษาแบบ กัวซา ที่สามารถยกระดับวิธีบำบัดให้สูงขึ้นกว่าเดิม เพราะไม่เพียงแต่บรรเทาอาการเจ็บป่วยธรรมดา แต่ปัจจุบันยังช่วยดูแลรักษาระบบภายในได้ดีอีกด้วย ถ้าใครอยากรู้ว่าสามารถบำบัดโรคอะไรได้บ้าง มีข้อจำกัด หรือวิธีการรักษาอย่างไร ครั้งนี้เราได้รับเกียรจิจาก “อาจารย์หยาง เผยซิน” ผู้เชี่ยวชาญด้านแพทย์แผนจีน และเป็นเจ้าของศูนย์ธรรมชาติบำบัดอาจารย์หยาง มาตอบทุกข้อสงสัย และให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้กันค่ะ

 

 

กัวซาในอดีตและปัจจุบัน

 

กัวซา เป็นการบำบัดโรคด้วยแพทย์แผนจีนทีมีมาตั้งแต่โบราณ มีรากฐานมาจากการฝังเข็ม แต่ง่ายและสะดวกกว่า แค่ใช้แผ่นกัวซากวาด หรือขูดลงบนผิวหนัง เพื่อหาพิษหรือโรคที่แอบแฝงอยู่ในส่วนต่างๆ ของร่างกายให้ขับออกมาก็สามารถรักษาโรค หรือบรรเทาอาการเจ็บป่วยได้แล้ว โดยผู้ที่ทำกัวซาแล้วมีพิษในร่างกายเยอะ จะมีอาการเป็นเม็ดสีแดงๆ หรือม่วงคล้ำปรากฏบนผิวหนัง

 

 

“กัว” หมายถึง การกวาด หรือขูด ส่วน ซา หมายถึง อาการของพิษ หรือโรค ซึ่งปรากฏบนผิวบนหนัง เป็นรอยผื่น หรือจ้ำแดงๆ คล้ายเม็ดทราย ในสมัยโบราณ ชาวจีนนิยมใช้เหรียญกษาปณ์ หรืออุปกรณ์ในครัวเรือนอย่างช้อน ชาม หรือถ้วยที่หยิบจับได้ง่าย รวมถึงป่านปอที่ชุบน้ำแล้วนำมาตีและฟาดบริเวณหลังไหล่ หรือแขนขา จนกว่าจะปรากฏรอยผื่นแดงบนผิว เพื่อบำบัดอาการไข้หวัด หรืออาการเจ็บป่วยจากากรเปลี่ยนแปลงของอากาศ จนมาถึงปัจจุบันแม้ว่าการแพทย์แผนปัจจุบันจะเข้าถึงชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้น แต่กัวซาก็ยังคงเป็นที่รู้จักและนิยมในหมู่ชาวจีนเสมอมา เนื่องจากสามารถเรียนรู้ได้ง่าย สะดวก เห็นผลรวดเร็ว ราคาไม่แพง และมีการปรับปรุงพัฒนาอยู่เสมอ เช่น การปรับปรุงอุปกรณ์ที่ใช้ในการกัวซา โดยเลือกใช้แผ่นกัวซาที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ เพื่อให้มีคุณสมับติในการใช้งานได้ดียิ่งขึ้น จับถนัดมือ ให้ผลเร็ว ไม่เจ็บ ปลอดภัย ไม่ติดเชื้อ เหมาะกับสรีระร่างกายของมนุษย์ ตลอดจนมีสมรรถนะในการใช้งานได้หลากหลายมากขึ้น

 

 

นอกจากนี้ ยังมีการรวบรวมตำราเฉพาะทางใหม่ๆ ออกมามากขึ้น มีการขยายขอบเขตการบำบัดให้ครอบคลุมถึงโรคที่เป็นกันมากในยุคนี้ เช่น โรคกระเพาะอาหาร ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ ปวดคอไหล่ หรืออาการออฟฟิศซินโดรม รวมไปถึงการบำบัดในเชิงจิตวิทยา เป็นต้น เรียกว่ามีการผสมผสานระหว่างการบำบัดกัวซาแบบดั้งเดิมกับทฤษฏีใหม่ๆ กำหนดเส้นประสาท ลมปราณและตำแหน่งจักระบบร่างกาย จนสามารถยกระดับวิธีบำบัดให้สูงขึ้นกว่าเดิม กลายเป็นรูปแบบกัวซาในปัจจุบัน ที่ไม่เพียงแค่บำบัดโรคธรรมดาเหมือนในสมัยโบราณ แต่ยังสามารถบำบัดโรคของระบบอวัยวะภายในอีกด้วย”

 

 

อุปกรณ์และวิธีใช้กัวซา

 

อุปกรณ์ที่ใช้ในการกัวซา สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ แผ่นกัวซา และตัวนำประสาน ซึ่งปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงอุปกรณ์ เพื่อให้เหมาะกับการใช้งาน และช่วยให้การบำบัดได้ผลดีมากขึ้น

 

 

“ในสมัยโบราณอุปกรณ์ที่ใช้กัวซา ส่วนมากจะนำสิ่งที่ใช้ในชีวิตประจำวันมาทำเป็นแผ่นกัวซา โดยแบ่งออกเป็น 4 ชนิด ดังนี้

 

1.กระเบื้อง ได้แก่ ขอบช้อน ปากจานชาม แก้วเหล้า ที่มีขอบเรียบลื่น ไม่มีรอยแตกบิ่น

 

 

2.โลหะ ได้แก่ เหรียญกษาปณ์ แผ่นโลหะ ช้อนอลูมิเนียม เงิน หรือทองแดง

 

 

3.ผลิตภัณฑ์จากพืช ได้แก่ แผ่นไม้ไผ่

 

 

4.ผลิตภัณฑ์จากสัตว์และหินหยก ได้แก่ เปลือกหอย หรือเขาสัตว์ อาทิ กวาง วัว แพะ ควาย จามรี เป็นต้น

 

 

ซึ่งชนิดที่ 4 ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอุปกรณ์อื่นๆ นั้น มีข้อเสีย คือ ไม่เหมาะกับส่วนต่างๆ ของร่างกายมนุษย์ แตกหักง่าย เวลานำมากัวซาอาจทำให้ร่างกายบาดเจ็บได้ ถึงจะหาง่ายก็ตาม

 

 

ฉะนั้นในระยะหลังจึงได้มีการปรับใช้หินหยกและเขาสัตว์เป็นวัสดุจากธรรมชาติ มาทำเป็นแผ่นกัวซามากขึ้น โดยได้ปรับปรุงขนาดความหนาบาง พื้นผิวที่กว้างขึ้น เพื่อลดแรงเสียดทานน้อยลง ทำให้แผ่นกัวซามีคุณสมบัติหลายอย่าง เช่น กัวซาแล้วไม่เจ็บ เห็นผลในการบำบัดเร็ว จัดถนัดมือ ปลอดภัย ไม่ติดเชื้อ และเหมาะกับผิวหนังตามจุดต่างๆ ของร่างกาย ตลอดจนสามารถใช้งานได้หลากหลายมากขึ้น เช่น การกดจุด รวมถึงยังมีส่วนโค้งที่ดูสวยงามอีกด้วย

 

 

ทั้งนี้แผ่นกัวซาจากเขาควายธรรมชาติกับหินหยก มีคุณสมับติที่พิเศษ คือ เขาควาย จัดเป็นสมุนไพรจีนที่มีค่าขนานหนึ่ง สามารถลดไข้ สลายพิษ ช่วยการไหลเวียนของโลหิตขจัดสิ่งหมักหมม เป็นอุปกรณ์ที่เหมาะสำหรับปรับแต่งผิวในบริเวณที่มีปัญหา ปรับปรุงการทำงานของเส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนัง เวลากวาดนั้นจะทำให้โลหิตเย็น ป้องกันภูมิแพ้และทำให้ผ่อนคลาย ส่วนหินหยก ทางวิทยาศาสตร์ได้มีการทดสอบแล้วว่ามีคุณสมบัติพิเศษ ในการทำปฏิกิริยากับไฟฟ้าและแสงสว่าง ระหว่างการเสียดสี จะทำให้สะสมความร้อนและพลังงานจนกลายเป็นสนามแม่เหล็กไฟฟ้าขึ้น ทำให้ร่างกายและสนามแม่เหล็กเกิดการกระตุ้นพร้อมๆ กัน จึงช่วยให้ระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายสมดุล ทำงานสอดคล้องกันอย่างแม่นยำและถูกต้อง หินหยกมีส่วนประกอบ Microelement ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์ การสวมใส่เครื่องประดับหินหยก หรือใช้แผ่นกัวซาหินหยกกวาดบนผิว จะมีประสิทธิภาพในการบำบัดร่างกายและบำรุงสุขภาพได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญการใช้หินหยกที่มีความเย็นนวด หรือกวาดเบาๆ บนผิวใบหน้า จะทำใหเลือดลมบริเวณใบหน้าหมุนเวียนสะดวก ช่วยขจัดรอยฝ้า ทำให้ผิวหน้าอ่อนนุ่ม และลบรอยเหี่ยวย่นได้อีกด้วย

 

 

สำหรับลักษณะของแผ่นกัวซาที่ทำมาจากหยกและเขาสัตว์ มีหลายลักษณะ เช่น

 

 รูปหูฉลาม เป็นอุปกรณ์พื้นฐานในการกัวซา ใช้ได้ในหลายๆ ส่วนของร่งกาย

 

 

 แผ่นสีเหลี่ยม เป็นอุปกรณ์ที่เหมาะกับแผ่นหลังและไหล่

 

 

 หวี เป็นอุปกรณ์ที่เหมาะกับศีรษะ

 

 

 รูปปลา เป็นอุปกรณ์ที่เหมาะกับแนวกระดูกสันหลัง

 

 

 แผ่นหยก เป็นอุปกรณ์ที่เหมาะกับใบหน้า

 

 

 ดินสอกดจุด เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการกดตามจดต่างๆ

 

 

 รูปมีด เป็นอุปกรณ์ที่เหมาะกับคอ ใช้กวาดตั้งแต่หลังหูลงมาถึงบ่า

 

 

 ช้อนนูน เป็นอุปกรณ์ที่เหมาะกับนิ้ว สำหรับผู้ที่มีปัญหามือชา นิ้วล็อค

 

 

 ช้อนเล็ก เป็นอุปกรณ์ที่เหมาะกับหู ใช้กวาวดบริเวณหน้าและหลังหู

 

 

ซึ่งการใช้ส่วนต่างๆ ของแผ่นกัวซา ก็มีเทคนิคเหมือนกัน คือ ถ้าต้องการกาวดตำแหน่งที่ไม่อยากให้เกิดซา ให้ใช้ขอบด้านที่เป็นสันหนากวาดไม่เจ็บ แต่ถ้าใช้ขอบด้านที่บาง จะทำให้เกิดซาขึ้นเร็วกว่า ส่วนด้านที่มีส่วนโค้งเว้าเขาใช้กวาดตำแหน่งที่มีสันกระดูก อาทิ หน้าแข็ง สันแขน ด้านที่โค้งนูนออก ให้ใช้กวาดผิวเนื้อ ในตำแหน่งที่ต้องการลงน้ำหนักมาก ส่วนที่เป็นปลายมนเรียว ใช้กดจุด และส่วนที่เป็นขอบหยัก ใช้กวาดนิ้วมือ หรือศีรษะ

 

 

นอกจากนี้ อุปกรณ์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งในการกัวซา ก็คือ ตัวนำประสาน แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ของเหลว กับ ครีม ที่ต้องมีตัวช่วยนี้ก็เพราะว่า ระหว่างกัวซาต้องให้ผิวหนังบริเวณบำบัดได้รับความชุ่มชื้น เวลาทำจะได้ไม่ฝืดหรือเจ็บ ซึ่งในตำราโบราณได้บันทึกไว้ว่า แต่เดิมใช้เพียงน้ำเปล่าเท่านั้น ต่อมามีการพัฒนาหันมาใช้น้ำมันชนิดต่างๆ เพิ่มขึ้น เช่น น้ำมันงา หรือบางครั้งใช้น้ำจากพืชสมุนไพรผสมผสานกับน้ำมัน เพื่อช่วยในการกระตุ้นการหมุนเวียนของโลหิต อย่างไรก็ดีตัวนำประสาน มีหน้าที่ คือ เป็นตัวนำความหล่อลื่นเท่านั้น ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นน้ำมันนวด น้ำมันมวย ครีม โลชั่นบำรุงผิว ล้วนสามารถนำมาเป็นตัวนำประสานได้ทั้งสิ้น ขึ้นอยู่กับคามชอบของแต่ละคน”

 

 

อย่างไรก็ดี อาจารย์หยาง ยังได้บอกวิธีการเลือกซื้อ เลือกใช้ และดูว่าแผ่นกัวซาที่ซื้อมาเป็นของแท้ หรือของปลอม พร้อมการกัวซาด้วยตัวเองอย่างถูกวิธีอีกด้วย

 

 

“แผ่นกัวซามีทั้งแบบหนาและบางแตกต่างกัน ฉะนั้นผู้ที่ต้องการบำบัดร่างกายให้เลือดลมหมุนเวียน รู้สึกสบาย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ควรเลือกแผ่นหนา เพราะเวลาทำจะไม่รู้สึกเจ็บ ส่วนผู้ที่ต้องการใช้แผ่นกัวซาขับสารพิษออกจากร่างกาย ควรใช้แผ่นบางแต่ต้องทนเจ็บเล็กน้อย เพราะแผ่นบางจะกวาดบนผิวได้ลึกกว่า ส่วนการพิสูจน์ว่าแผ่นกัวซาที่ซื้อมา ได้ทำมาจากวัสดุเขาสัตว์หรือไม่ ให้ลองนำแผ่นกัวซาไปเผาไฟจะได้กลิ่นไหม้คล้ายกลิ่นกระดูก หากเป็นพลาสติก กลิ่นไหม้จะคล้ายกลิ่นยาง หรือลองนำแผ่นกัวซาไปแช่น้ำเป็นเวลานานๆ หากทำมาจากเขาสัตว์ จะมีลักษณะบวมขึ้นและมีกลิ่นเหม็น หากเป็นแผ่นพลาสติกจะไม่มีปฏิกิริยาใดๆ ทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่จำเป็น ก็ไม่ควรนำแผ่นกัวซาแช่ทิ้งไว้ในน้ำเป็นเวลานานเกินไป เพราะจะทำให้แผ่นกัวซาขยายตัว หรือบวม และเมื่อใช้อุปกรณ์เสร็จแล้ว ควรใช้น้ำสะอาดล้างแล้วเช็ดให้แห้ง จากนั้นเก็บไว้ในบริเวณที่มีอุณหภูมิปกติ

 

 

อย่างไรก็ดี การทำกัวซาด้วยตัวเอง สิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องใช้อุปกรณ์อย่างถูกวิธีและมีความรู้เบื้องต้น ควรขูดด้วยน้ำหนักและความเร็วสม่ำเสมอ โดยกวาดอย่างเบามือ จากนั้นค่อยๆ เพิ่มแรงหักขึ้น พยายามกวาดตำแหน่งบนพื้นผิวเป็นแนวยาว คือ กวาวดจากตำแหน่งบนลงล่าง จากด้านในออกด้านนอก มีแนวการกวาดหรือขูดที่เป็นระเบียบ จนกว่าผิวเนื้อจะปรากฏรอยแดง หรือเกิดซาเป็นรอยจ้ำสีแดงอมม่วง หรือผิวหนังบวมขึ้นเล็กน้อย”

 

 

ประโยชน์ของกัวซา

 

จุดเด่นของกัวซา คือ มีประโยชน์ในการขับพิษ โดยทั่วไปสามารถบำบัดอาการต่างๆ ที่มีความผิดปกติเบื้องต้น ให้หายเป็นปกติได้จากการบำบัดเพียงครั้งเดียว ส่วนการรักษาโรคต่างๆ สามารถช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้ทำให้โรคหายขาดได้

 

 

“กัวซามีคุณประโยชน์ 4 ข้อใหญ่ๆ ดังนี้

 

1.ช่วยขับไอพิษ ไอโรค แก้ปวดเมื่อย และชาตามกล้ามเนื้อ

 

 

2.ปรับระบบการทำงานต่างๆ ภายในร่างกายให้สมดุล เช่น ระบบน้ำในร่างกาย ระบบภายในของสตรี เสริมความงาม ลดความอ้วน ฟื้นฟูสมรรถนะของกระดูก เส้นเอ็น กล้ามเนื้อและข้อต่อ โดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน มีหลายคนเป็นโรคออฟฟิศซินโดรมกันมากขึ้นเรื่อยๆ ส่ว่นหนึ่งเป็นเพราะต้องนั่งทำงานอยู่กับที่เป็นเวลานาน การใส่รองเท้าส้นสูงยืนเป็นเวลานาน หรือยกของหนัก เมื่อกัวซาตรงบริเวณไหล่ หรือต้นคอ ก็จะช่วยแก้ปวด ผ่อนคลายอาการตึงของกล้ามเนื้อ และเส้นเอ็นได้

 

 

3.เผยอาการเจ็บป่วยที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใน ถือเป็นวิธีขับพิษออกจากบริเวณที่เจ็บป่วย ซึ่งจะรู้ผลทันทีขณะทำการกวาดหรือขูดเลย

 

 

4.ป้องกันและลดการเกิดอาการเจ็บป่วยได้ ทำให้สุขภาพแข็งแรง

 

 

ข้อควรระวังและการดูแลร่างกาย

 

ทุกอย่างมีทั้งประโยชน์และโทษ ถ้าเราไม่รู้จักระมัดระวัง เช่นเดียวกันกับการบำบัดโณคด้วยกัวซา ถึงแม้จะได้ชื่อว่าเป็นวิธีบำบัดที่เห็นผลได้อย่างรวดเร็วชัดเจน ตั้งแต่ครั้งแรกที่ทำ และสามารถเรียนรู้ได้ง่าย ไม่สลับซับซ้อนที่สำคัญไม่มีผลข้งเคียงใดๆ แต่ถ้าผู้เข้ารับการบำบัดไม่ตรวจเช็คสภาพร่างกายของตัวเองก่อน การกัวซาก็อาจทำให้ผู้บำบัดได้รับบาดเจ็บ และเกิดอันตรายได้ ฉะนั้นเรามาดูกันว่ากัวซามีข้อจำกัดอะไรบ้าง

 

 

“ผู้ที่ไม่ควรเข้ารับการบำบัด ได้แก่ ผู้หญิงที่มีประจำเดือน หรือมีครรภ์ ผู้สูงอายุที่ร่างกายอ่อนแอ ผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อรังเพิ่งฟื้นไข้ หรือมีอาการบวมน้ำตามร่างกาย ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคเลือด โรคหัวใจ ไต และตับ ผู้ที่มีผิวแพ้ง่าย หรือบริเวณที่จะบำบัดเกิดบาดแผลภายนอก หรือแผลเปื่อยพุพอง เช่น เป็นสิว ฝี เนื้องอก กระดูกหัก เป็นต้น รวมถึงผู้ป่วยที่มีรอยแผลเป็นจากการผ่าตัด ควรรอเวลาพักฟื้นอย่งน้อย 2 เดือน จึงจะสามารถกัวซาได้ ห้ามกัวซาในตำแหน่งเต้านมและสะดือ ผู้ที่อยู่ในอาการมึนเมาสุรา หิว หรืออิ่มเกินไป กระหายน้ำ หรือร่างกายเหน็ดเหนื่อยเกินไป ห้ามกัวซา เพื่อป้องกันการเกิดอาการวิงเวียนระหว่างการบำบัด และห้ามกัวซาในผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็ง เพื่อป้องกันการขยายตัวของเซลล์มะเร็ง”

 

 

ส่วนการดูแลตัวเองก่อน ระหว่าง และหลังการบำบัด ก็สำคัญไม่น้อย ฉะนั้นเราต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด และมีอันตรายน้อยที่สุด

 

 

“ก่อนการบำบัด สิ่งแรกที่ต้องทำเลยให้สังเกตดูว่าสถานที่เราเข้าไปบำบัดนั้น ดูแลรักษาความสะอาดได้ดีหรือไม่ การถ่ายเทของอากาศ แสงสว่าง และอุณหภูมิภายในห้องไม่ควรเย็น หรือร้อนจนเกินไป ที่สำคัญต้องตรวจเช็คว่าอุปกรณ์ที่ทำมีความสะอาดหรือไม่ ตรวจสอบแผ่นกัวซาว่ามีรอยแตกบิ่น หรือมีคมหรือไม่ เพื่อไม่ให้เกิดการบาดเจ็บ รวมถึงต้องทำความสะอาดร่างกายตัวเอง และตำแหน่งที่จะทำการกัวซา เพื่อป้องกันการติดเชื้อ และห้ามกัวซาในเวลาก่อนและหลังอาหารครึ่งชั่วโมง ก่อนการบำบัดทุกครั้งต้องถูทาตัวนำประสานบนตำแหน่งที่จะบำบัดเสียก่อน

 

 

ต่อมาเป็นช่วงระหว่างการบำบัด ถ้าจะทำให้ตัวเอง หรือทำให้คนอื่น สิ่งที่ต้องคำนึง คือ ควรกวาด หรือขูดด้วยน้ำหนักสม่ำเสมอ ถ้าเป็นเด็กหรือผู้สูงอายุ ไม่ใช้แรงหนักบริเวณตำแหน่งคอ รักแร้ และเอว มีต่อมน้ำเหลืองกระจายอยู่โดยทั่ว ควรบำบัดอย่างเบามือ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน โรคไต โรคหัวใจ ไม่ควรใช้เวลาบำบัดเกิน 15 นาที ผู้บำบัดควรอยู่ในท่าที่ผ่อนคลาย ทำจิตใจให้สงบ ขณะทำการบำบัด หากเกิดอาการวิงเวียนศีรษะ หน้าซีด เหงื่อออกมาก ใจเต้นแรง มือเท้าเย็น อยากอาเจียน หน้าทืด ตาลาย หรือหมดสติ ควรหยุดการบำบัดทันที

 

 

ปิดท้ายด้วยการดูแลตัวเองหลังการบำบัด ควรดื่มน้ำสะอาด หรือน้ำอุ่นหนึ่งแก้วไม่ควรดื่มน้ำเย็น หรือน้ำร้อน และพักผ่อน 10-15 นาที เพื่อให้ร่างกายฟื้นฟู หากมีเหงื่อออกให้เช็ดตัวให้แห้ง อย่าถูกลม อย่ารับประทานอาหารที่มีรสจัด เช่น เปรี้ยวหรือเผ็ด อาหารมัน หรือย่อยยาก หลังการบำบัดควรพักอย่างน้อย 30 นาที ไม่ควรอาบน้ำทันที ถ้าภายใน 2-3 วัน ตำแหน่งที่ทำการบำบัดรู้สึกเจ็บ หรือมีอาการตัวร้อน เป็นภาวะปกติที่ภูมิต้านทานในร่างกาย หรือเม็ดเลือดขาวทำงาน ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น ไม่ต้องตกใจระหว่างการพักฟื้น ควรเฝ้าดูแลอาการอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้อาการป่วยกลับมาเป็นซ้ำอีก เมื่อกัวซาไปแล้ว 1 ครั้ง การทำครั้งต่อไปควรเว้นช่วงประมาณ 1 อาทิตย์ ไม่ควรทำทุกวัน เพราะอาจทำให้บาดเจ็บได้ หากจำเป็นต้องบำบัดร่วมกับการรักษาทางการแพทย์ด้วยวิธีอื่นๆ เช่น ฝังเข็ม นวดกดจุด รักษาด้วยพลังชี่กง ครอบแก้ว หรือยาสมุนไพร ก็จะช่วยเสริมประสิทธิภาพในการบำบัดให้ดียิ่งขึ้น”

 

 

อาจารย์หยาง เผยซิน

ผู้เชี่ยวชาญด้านแพทย์แผนจีน

และเป็นเจ้าของศูนย์ธรรมชาติบำบัดอาจารย์หยาง

(Some images used under license from Shutterstock.com.)