© 2017 Copyright - Haijai.com
ฝังเข็ม
การแพทย์แผนจีนอยู่คู่กับเมืองไทยมานาน จนกลายเป็นการแพทย์ทางเลือก ที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในเรื่องการฝังเข็มรักษาโรค ซึ่งก็เป็นที่นิยมในกลุ่มผู้หญิงด้วย เพราะช่วยในเรื่องความสวยงามและลดน้ำหนัก วันนี้เราได้รับเกียรติจาก “แพทย์จีนนิจวิภา ทวีโชติช่วง (คุณหมอเฉิน เอ๋อ ฮุย)” ซึ่งเป็นแพทย์ประจำคลินิกหัวเฉียว ไทย-จีน แพทย์แผนไทย (Huachiew TCM Clinic) ที่รักษาเกี่ยวกับการฝังเข็ม เพื่อช่วยเรื่องของการลดน้ำหนัก สิว ฝ้า อาการปวดตามร่างกาย คุณหมอจะมาให้ความรู้เกี่ยวกับศาสตร์การแพทย์แผนจีนนี้ให้เราได้ทราบกันค่ะ
หลักการและแนวคิดทฤษฎีการฝังเข็ม
การฝังเข็มเป็นวิธีการรักษาโรคที่มีเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของจีน ซึ่งในวิชาการแพทย์แผจีน เรียกอวัยวะภายในที่สำคัญของคนเราว่า “อู่จ้างลิ่วฝู่” ได้แก่ หัวใจ ปอด ตับ ม้าม ไต เรียกว่า “อู่จ้าง” หรืออวัยวะต้นทั้งห้า ยังมีถุงน้ำดี กระเพราะอาหาร ลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก กระเพาะปัสสาวะ ซานเจียว เรียกว่า “ลิ่วฝู่” หรืออวัยวะกลางทั้งหก ทฤษฎีพื้นฐานของวิชาการฝังเข็มก็คือ ทฤษฎีเส้นลมปราณ (จิงลิ่ว) ซึ่งเป็นเส้นทางการไหลเวียนของเลือดลมภายในร่างกาย การแพทย์แผนจีนเชื่อว่า เส้นทางการไหลเวียนของเลือดลม แบ่งเป็นทางหลัก และแขนงย่อยที่โยงใยถึงกัน จึงสามารถเชื่อมโยงอวัยวะส่วนต่างๆ ให้รวมเป็นองค์ประกอบเดียวกันอย่างเป็นระบบ การรักษาโดยวิธีการฝังเข็มโดยทั่วไป มักจะเลือกฝังเข็มที่จุดบนเส้นลมปราณ เพื่อไปกระตุ้นให้การทำงานของอวัยวะทั้งหลายมีประสิทธิภาพดังเดิม กระตุ้นการทำงานระบบภูมิต้านทานโรคของผู้ป่วย และเพื่อปรับสมดุลภายในร่างกาย เมื่ออวัยวะภายในทำงานเป็นปกติ ร่างกายก็จะแข็งแรงมีความต้านทานโรค หรืออาการเจ็บป่วยนั้นจะทุเลาหายได้เร็วขึ้น
การเลือกจุดฝังเข็ม สามารถแบ่งเป็น 3 กลุ่ม
1.จุดบนเส้นลมปราณ ได้แก่ จุดต่างๆ ที่มีตำแหน่งกระจายอยู่ตามแนวทางเดินของเส้นลมปราณหลัก เป็นตำแหน่งในการรักษาอาการหรือโรคที่เกี่ยวข้องกับเส้นลมปราณนั้นเป็นสำคัญ เช่น จุดบนเส้นลมปราณปอดจะใช้รักษาโรคปอดหรือหลอดลมได้
2.จุดพิเศษนอกเส้นลมปราณ ได้แก่ จุดที่ไม่ได้กระจายอยู่ตามแนวทางเดินของเส้นลมปราณหลัก แต่มีชื่อเรียกเฉพาะมีคุณสมบัติรักษาอาการหรือโรคเป็นการเฉพาะ อาจไม่เกี่ยวข้องกับอวัยวะที่เส้นลมปราณโดยตรง เช่น จุดไท่หยางที่บริเวณขมับ ใช้รักษาอาการปวดศีรษะ ไมเกรน เป็นต้น
3.จุดกดเจ็บ หมายถึง จุดใดๆ ก็ตาม (ยกเว้นจุดที่อยู่บนเส้นลมปราณหรือจุดพิเศษ) ที่ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวดหรือกดเจ็บ มันไม่มีตำแหน่งระบุเอาไว้แน่นอน จึงไม่มีชื่อเรียกเฉพาะ ในการรักษาสามารถที่จะใช้จุดเหล่านี้ได้เช่นกัน โดยถือหลักว่า “เจ็บตรงไหน ตรงนั้น คือจุดปักเข็ม”
ฝังเข็มรักษาโรค มีหลักการดังนี้
1.การรักษาที่ได้ผลเด่นชัดเป็นพิเศษ อาการปวด เช่น ปวดต้นคอเรื้อรัง หัวไหล่ ข้อศอก (เทนนิสเอลโบว์) ปวดกระดูกสันหลัง ปวดเอว ปวดหัวเข่า ปวดจากโรครูมาตอยด์ ปวดจากการเคล็ดขัดยอก ปวดประจำเดือน ปวดนิ่วในถุงน้ำดี ปวดศีรษะ มีสาเหตุมาจากความเครียด หรือก่อนการมีประจำเดือน ปวดเนื่องจากสาเหตุต่างๆ ปวดในระบบทางเดินปัสสาวะ ปวดเส้นประสาท เช่น ปวดเส้นประสาทบนใบหน้า ปวดหลังการผ่าตัด ปวดไมเกรน โรคในระบบจิตประสาท เช่น อาการซึมเศณ้า นอนไม่หลับ
โรคอาการทั่วไป เช่น อัมพฤกษ์ และผลข้างเคียงหลังจากป่วยด้วยโรคทางสมองความดันโลหิตสูงหรือต่ำ งูสวัด เม็ดเลือดขาวน้อยกว่าปกติ สมรรถภาพทางเพศถดถอยภูมิแพ้ หอบหืด หวาดวิตกกังวล ข้อต่อขากรรไกรอักเสบ แพ้ท้อง คลื่นไส้อาเจียน การเลิกเหล้าบุหรี่ ยาเสพติด
2.การรักษาที่ให้ผลดี อาการเจ็บเฉียบพลันหรือเรื้อรังในลำคอ (ต่อมทอนซิล) อาการวิงเวียนศีรษะสาเหตุจากน้ำในช่องหู สายตาสั้นในเด็ก เด็กในครรภ์มารดาอยู่ในท่าขวาง (ทำให้คลอดยาก) อาการผิดปกติของลำไส้เมื่อเกิดความเครียด
3.การรักษาที่ได้ผล ท้องผูก ท้องเดิน การมีบุตรยาก ที่มีสาเหตุจากทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย กระเพาะอาหารเลื่อนต่ำ ปัสสาวะไม่คล่อง ไซนัสอักเสบ หญิงหลังคลอดมีน้ำนมไม่พอ
ฝังเข็มลดความอ้วน
การฝังเข็มสามารถรักษาโรคได้กว้างในประเทสไทยถูกจัดให้เป็นการแพทย์ทางเลือก ปัจจุบันนอกจากฝังเข็มเพื่อการรักษาโรค การฝังเข็มยังมีบทบาทใหม่ที่กำลังเป็นที่สนใจในกลุ่มสาวๆ คือ การฝังเข็มหน้าใส จะทำให้หน้าดูสดใสแวววาวเปล่งปลั่งมากขึ้น ลดสิวลบรอยเหี่ยวย่น ตีนกา มีถุงน้ำใต้ตา รอบตาดำคล้ำ ฝ้าจางลง รอยแผลเป็นตื้นขึ้น และที่พลาดไม่ได้ก็คือ การฝังเข็มลดความอ้วน
เราคงเคยได้ยินว่า คนอ้วนท้วน เป็นคนแข็งแรง คนผอมแห้ง เป็นคนขี้โรค หรือถ้าผู้ใหญ่อ้วนลงพุง ก็มักจะบอกว่าคนรวยก็ต้องไว้พุงแบบนี้แหละ ถือเป็นแบบฉบับของคนรวย คนมีวาสนา และยังรวมถึงการเลี้ยงลูกหลานเด็กเล็ก ในแบบฉบับคนจีนที่ต้องอ้วนท้วนสมบูรณ์จะถือว่าเลี้ยงลูกดี แข็งแรง ด้วยความเชื่อเหล่านี้ทำให้สังคมไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นเร่อยๆ จนเมื่อหลายปีก่อนเราเริ่มได้ยินคำว่าโรคอ้วน ปัจจุบันมีหลายวิธีในการลดความอ้วน แต่ก็ไม่สามารถบอกได้ว่าจะกลับมาอ้วนอีกหรือไม่ มีบางคนที่ลดความอ้วนได้สำเร็จ แต่ร่างกายกลับอ่อนเพลียไม่มีชีวิตชีวา ตามทัศนะคติของการแพทย์แผนจีน ไม่ได้มองเรื่องอ้วนหรือผอม แต่มีเป้าหมายที่การมีสุขภาพที่แข็งแรง เนื่องจากคนที่อ้วนเกินไปหรือผอมเกินไป ทำให้ หยิน-หยาง เกิดความไม่สมดุลอาจแกร่งหรือพร่องก็ได้
การแพทย์แผนจีนถือว่าสภาวะของร่างกายแต่ละคนไม่เหมือนกัน การรักษาจึงต้องพิจารณาว่าร่างกายของคนนั้นอยู่ในสภาวะใด สาเหตุของปัญหาอยู่ที่ไหน โดยส่วนใหญ่คนอ้วน หรือมีน้ำหนักเกินมักมีสาเหตุจากการกินมาก แต่นำไปใช้น้อย หรือร่างกายไม่สามารถเผาผลาญอาหารไปเป็นพลังงาน เพื่อนำไปใช้ได้หมด นั่นแสดงถึงสภาวะที่ระบบการย่อย และการดูดซึมของร่างกายผิดปกติ จึงทำให้มีไขมันหรือของเสียตกค้างในร้างกายสภาวะที่ระบบการย่อย และการดูดซึมของร่างกายผิดปกติ มีอยู่สองลักษณะด้วยกัน
ประการแรก คือ มีสภาพแกร่ง หมายถึงระบบกาย่อยและการดูดซึมของร่างกายมีการสะสมความร้อนมากเกินไป ซึ่งเกิดได้จากการกินอาหารที่มีฤทธิ์ร้อน บ่อยๆ เป็นเวลานานการกินอาหารมื้อดึก การกินอาหารประเภทไขมัน รวมถึงการกินอาหารปริมาณมากเป็นประจำ ทำให้ได้รับแคลอรีหรือพลังงานมากร่างากยก็ร้อนมาก เมื่อใช้พลังงานไม่หมดร่างกายสะสมพลังงานที่เหลือไว้ เมื่อนานเข้าก็มีผลกระทบให้การย่อยไม่ดีตามไปด้วย อาการของคนที่มีสภาวะนี้จะขี้ร้อน เหงื่อออกง่าย กินเก่ง หิวง่าย หน้าแดง ลิ้นแดง ชีพจรเต้นเร็วและแรง ท้องผูก ปัสสาวะมีสีเข้ม
ลักษณะที่สอง คือ ระบบการย่อยและดูดซึม มีสภาพพร่อง ทำให้ระบบการย่อยไม่ดี ซึ่งจะมีผลให้มีน้ำและความชื้นตกค้างในร่างกายมาก จะสังเกตว่าคนอ้วนที่อยู่ในสภาวะนี้มักจะตัวบวม กล้ามเนื้อเหลว กินน้อยแต่อ้วนเหนื่อยง่าย ท้องเสียบ่อย ถ้าหากไปกินอาหารที่มีฤทธิ์เย็น เช่น แตงโม สับปะรด ชมพู่ น้ำชา มะขามแขก ผักผลไม้ต่างๆ ก็จะทำให้อ้วนเพิ่มขึ้น
การฝังเข็มเพื่อลดน้ำหนักให้ได้ผล จึงต้องขึ้นอยู่กับความชำนาญของแพทย์ ในการวินิจฉัยสาเหตุแห่งความอ้วนของคนไข้แต่ละรายได้ถูกต้องด้วย เพราะวิธีบำบัดจะแตกต่างกันตามลักษณะว่าอ้วนแบบใด คนที่อ้วนแบบยิ่งกินยิ่งอ้วน ก็ต้องใช้หลักฝังเข็มใน จุดที่ลดความร้อนในกระเพาะและลำไส้ จุดที่ช่วยระบายความชื้นที่ตกค้าง หรือที่เรียกว่าระบายเสมหะชื้นและกระตุ้นบางจุดให้มีไขมันละลาย ส่วนคนที่กินน้อยแต่อ้วน แพทย์จะฝังเข็มกระตุ้นในจุดตรงข้าม คือ กระตุ้น ทำให้สุขภาพแข็งแรงขึ้น ปรับระบบการย่อยให้แข็งแรง เมื่อระบบการย่อยอาหารทำงานได้ดี ของเสียไปตกค้างในร่างกาย อาการบวมก็น้อยลงเป้นการรักษาสมดุลของร่างกาย เรียกว่าผอมอย่างแข็งแรง
ผลการรักษาในคนไข้แต่ละคนจะได้ผลดีไม่เท่ากัน ขึ้นกับการตอบสนองต่อการฝังเข็มที่แตกต่างกัน และระยะเวลาที่เป็นโรคนั้น สำหรับระยะเวลาในการังเข็มจะต้องทำ 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ (ถ้า 2 ครั้ง ห่างกัน 3-4 วัน) คอร์สหนึ่งประมาณ 10 ครั้ง ส่วนมากแล้วจะเห็นผลชัดเจนครั้งที่ 5 เป็นต้นไป หรือขึ้นอยู่กับการตอบสนองของแต่ละคนด้วย ทั้งนี้การฝังเข็มลดความอ้วน ถ้าอยากให้ได้ผลดีแล้วเร็วควรทำควบคู่ไปกับการออกกำลังกายด้วย สำหรับการฝังเข็มมีข้อห้ามสำหรับผู้ป่วย ที่อยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์ ต้องให้การรักษาอย่างระมัดระวัง และผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ยังไม่ได้รับการตรวจรักษาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบัน ผู้ป่วยโรคเลือดที่มีความผิดปกติ ของระบบการแข็งตัวขอเลือด โรคที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด และโรคที่ยังไม่ทราบการวินิจฉัยที่แน่นอน สำหรับอาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น การเป็นลม ซึ่งเป็นอาการของคนที่กลัวเข็ม
ก่อนไปฝังเข็ม
ศาสตร์การฝังเข็มในการแพทย์แผนจีน แม้จะเกิดขึ้นมาหลายพันปีแล้ว แต่สำหรับคนไทยยังถือเป็นเรื่องใหม่ ฉะนั้นก่อนไปรักษาควรทราบถงการปฏิบัติตัว เพื่อให้ได้รับผลการรักษาที่สูงสุด ผู้รักษาต้องมีการเตรียมตัวที่ดีด้วยเช่นกัน
1.เตรียมใจไปรักษา
ก่อนไปฝังเข็มนั้น ความมาด้วยความั่นใจต่อากรรักษา ไม่ใช่มาด้วยความกังวล หวาดวิตก เกร็ง เพราะอาจส่งผลต่อากรรักษาได้ เช่น เกิดอาการหน้ามืดกลัวเข็ม ขณะการรักษา
2.สวมใส่เสื้อผ้าให้เหมาะสม
ในการฝังเข็ม ตแหน่งจุดปักเข็มบางครั้งจะอยู่ริเวณใต้ร่มผ้า จึงควรสวมใส่เนื้อผ้าที่เป็นชุดแยกส่วน เสื้อผ้าที่สวมใส่ไม่ควรรัดแน่นเกินไป เพื่อสะดวกในการถลกพับ ในกรณีที่ต้องปักเข็มบริเวณไหล่ หรือต้นคอก็ควรเลือกสวมเสื้อที่มีคอกว้าง ผู้ป่วยที่เป็นโรคอัมพาต ควรสวมเสื้อแขนกุดและกางเกงขาสั้น จะทำให้แพทย์ปักเข็มได้สะดวกง่ายดายขึ้น แต่ส่วนใหญ่ในสถานพยาบาลมักจะมีเสื้อผ้าเตรียมให้
3.รับประทานอาการให้พอเหมาะ
โดยทั่วไปแล้ว ผู้ป่วยที่มาฝังเข็มควรรับประทานอาหารมาก่อนประมาณ 1-2 ชั่วโมง ไม่ให้อิ่มจนเกินไป และไม่ควรมารักษาในขณะที่กำลังหิวจัด เนื่องจากผู้ป่วยอาจเกิดอาการ “หน้ามืดเป็นลม” ได้ง่าย
4.ทำความสะอาดร่างกายให้เรียบร้อย
เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อโรคให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก่อนมาฝังเข็ม หากผู้ป่วยสามารถอาบน้ำสระผมมาก่อนได้นั้นก็จะดีที่สุด สำหรับผู้หญิงที่กำลังมีประจำเดือน สามารถรักษาได้ตามปกติ
5.สงบกายและใจในขณะรักษา
เมื่อแพทย์ปักเข็มลงบนผิวหนัง จะรู้สึกเจ็บเล็กน้อยคล้ายกับถูกมดกัด เมื่อแพทย์ปักถึงตำแหน่งจุด จะรู้สึกตื้อๆ หรือหนักๆ หรือชา เล็กน้อย หากเกิดความรู้สึกเช่นนี้ มักจะมีผลการรักษาดีเสมอ
6.การปฏิบัติตัวหลังการรักษา
หลังจากปักเข็มกระตุ้นครบเวลาตามกำหนด ซึ่งใช้เวลาประมาณ 20-30 นาทีแล้ว แพทย์ก็จะถอนเข็มออก บางครั้งอาจมีเลือดออกเล็กน้อย ตรงจุดที่ปักเข็มเหมือนกับเวลาไปฉีดยา เนื่องจากเข็มอาจปักไปถูกเส้นเลือดฝอยเล็กๆ เมื่อใช้สำลีกดเอาไว้สักครู่ เลือกก็จะหยุดได้เอง หลังเสร็จสิ้นจากการรักษา โดยทั่วไปแล้วไม่มีข้อห้ามเป็นพิเศษอะไรเลย ผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหาร หากจะอาบน้ำจะทำได้หลังจากฝังเข็มแล้วสองชั่วโมง
7.การรักษาอื่นๆ ร่วมกับการฝังเข็ม
ผู้ป่วยที่มารักษาฝังเข็ม อาจมีโรคประจำตัวอย่างอื่นอยู่แล้ว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไขมันในเลือดสูง โรคถุงลมโป่งพอง ฯลฯ ซึ่งมักจะต้องมียารับประทานรักษาอยู่เป็นประจำ หรือมีอาการรักษาอื่นๆ เช่น การภาพบำบัด ร่วมอยู่ด้วย โดยทั่วไปแล้วการรักษาด้วยการฝังเข็ม มักสามารถจะรับประทานยาหรือช้การรักษาอื่นๆ ร่วมไปด้วยได้ โดยไม่มีข้อห้ามอะไร
การรักษาโรคและการลดน้ำหนักด้วยการฝังเข็ม ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อย ในการเลือกรักษาโรค แต่อย่างไรก็ตามทางที่ดีที่สุด เราควรป้องกันไม่ให้เกิดโรคหันมาดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ด้วยการกินอาหารที่มีประโยชน์ ในปริมาณที่พอดีต่อความต้องการของร่างกาย ควบคู่ไปกับการออกกำลังกาย น่าจะเป็นทางเลือกแรกที่ควรเลือกปฏิบัติ
แพทย์จีนนิจวิภา ทวีโชติช่วง (คุณหมอเฉิน เอ๋อ ฮุย)
แพทย์ประจำคลินิกหัวเฉียว ไทย-จีน แพทย์แผนไทย
(Huachiew TCM Clinic)
(Some images used under license from Shutterstock.com.)