Haijai.com


ยกเครื่องคุณแม่หลังคลอด


 
เปิดอ่าน 3677

ยกเครื่องคุณแม่หลังคลอด

 

 

แม่ คำเรียกคุ้นเคยที่เราได้เอ่ยเป็นคำแรกเมื่อตอนเราเป็นเบบี้เริ่มหัดพูด มืออันอบอุ่นของแม่ที่คอยประคองพยุงให้หัดเดิน สายตาของแม่ที่เติมเต็มไปด้วยความรักความอ่อนโยนที่คอยดูแลห่วงใยและคอยระแวดระวังภัย มีหลายๆ ครั้งที่เรานึกถึงทึกทักเอาเองว่า สิ่งที่แม่ทำให้คือความเคยชิน จนหลายๆ ครั้ง อาจทำให้เราละเลยที่จะดูแลเอาใจใส่ร่างกาย และจิตใจของคนที่รักเรามากที่สุด บางคนอาจรู้สึกถึงความเสียสละของแม่ก็ต่อเมื่อเข้าวัยที่ตัวเองมีครอบครัว และตั้งครรภ์เองถึงได้เข้าใจถึงความยากลำบากที่แม่ผ่านมา บางคนก็อาจใช้เวลาเนิ่นนานจนอาจเกือบสายเกินไป

 

 

คนเป็นแม่นอกจากจะต้องเสียสละหลายสิ่งอย่างในการอุ้มท้องนานถึง 9 เดือน ยังเกิดการเปลี่ยนแปลงอีกมากมายทั้งร่างกายและจิตใจ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมาจากการแปรปรวนของฮอร์โมนชนิดต่างๆ ในร่างกายของแม่ ซึ่งฮอร์โมนมีหน้าที่ในความคุมการทำงานของร่างกายให้เป็นปกติ ฮอร์โมนถูกสร้างมาจากอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น ต่อมไทรอยด์ ต่อมหมาวกไต รังไข่ เป็นต้น เมื่อตั้งครรภ์ร่างกายของแม่ต้องมีการปรับเปลี่ยน เพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อม และให้ครรภ์ดำเนินปกติ รวมถึงการเจริญเติบโตของทารกน้อยในครรภ์และการคลอด การเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น จึงเป็นตัวทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของผิวพรรณและรูปร่าง การทำงานของร่างกายภายในและจิตใจ ที่สำคัญการเปลี่ยนแปลงของผิวพรรณและรูปร่าง การทำงานของร่างกายภายในและจิตใจ ที่สำคัญการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเป็นความเสื่อมที่ถาวรของร่างกาย จะว่าไปแล้ว การตั้งครรภ์แต่ละครั้งเปรียบเสมือนตัวเร่งความแก่ ลดความสวยความสดของผู้หญิงได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นผิวพรรณและรูปร่างที่เปลี่ยนไป ผิวพรรณที่เคยเต่งตึงก็หย่อนคล้อย เรือนร่างที่เคยได้สัดส่วนก็อาจกลายเป็นอ้วนถาวรหรือแม้กระทั่งรับผลพวกความเสี่ยงของโรคบางอย่างจากการตั้งครรภ์ เช่น เบาหวาน เป็นต้น ยิ่งตั้งหลายครรภ์ การเปลี่ยนแปลงก็ยิ่งเห็นได้ชัดเจน การเปลี่ยนแปลงทิดขึ้นมีได้ดังนี้

 

 

ผิวแห้ง ผิวไว ผิวเป็นผื่น การเปลี่ยนแปลงในระดับฮอร์โมนต่างๆ ในร่างกายคุณแม่ มีผลทำให้ภูมิต้านทานเปลี่ยนแปลงจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน ทำให้สุขภาพและภูมิต้านทานผิวพรรณเสียไป คุณแม่ตั้งครรภ์จึงมีปัญหาต่อการเป็นผื่นแดง ผื่นเรื้อรังได้ง่ายขึ้น ร่างกายขาดพลังงานมากพอที่จะดูแลซ่อมแซมผิวของตัวเอง ยิ่งคุณแม่ที่มีโรคผิวหนังเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เช่น ผิวหนังภูมิแพ้ โรคสะเก็ดเงิน เชื้อราบางชนิด อาจมีอาการของโรคผิวหนังเหล่านี้มากขึ้นในช่วงขณะตั้งครรภ์

 

 

สิว ฮอร์โมนที่แปรปรวนในขณะตั้งครรภ์ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผิวหน้ามันไปจากเดิม โดยเฉพาะช่วง 3 เดือนแรก อาจทำให้คุณแม่มีปัญหาการเกิดสิวง่ายขึ้น การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์รักษาสิวและดูแลผิวพรรณก็ต้องเลือกให้อ่อนโยนและมีความเหมาะสมกับผิว ไม่ควรใช้ยาที่มีส่วนประกอบที่มีกรดวิตามินเอ หรือ เรตินอล ที่ซื้อได้จากเคาน์เตอร์เครื่องสำอางได้เอง รวมถึงสารที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองได้ง่าย ได้แก่ สาร BHA หรือกรดสาลิไซลิก แม้กระทั่งยาทาสิวเบนซ์ซอยเพอร์ออกไซด์และกรดผลไม้ แพทย์อาจให้มีการหยุดใช้ เพื่อลดปัญหาผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ แถมผิวหลังเป็นสิวในช่วงตั้งครรภ์อาจหลงเหลือเป็นรอยแผลเป็นได้ง่าย เป็นที่ระลึกฝากไว้เป็นความทรงจำไม่รู้ลืม

 

 

สีผิวที่เข้มขึ้น ผู้หญิงตั้งครรภ์เกือบร้อยทั้งร้อยจะพบปัญหาที่มีสีผิวเข้มกว่าเดิม โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีผิวคล้ำเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว หรือในรายที่รับประทานยาคุมกำเนิด โดยมักพบในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ เพราะช่วงนี้มีเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนโปรเจสเตอร์โรน โดยเฉพาะรอบหัวนม เล็บ ผิวหนังตรงกลางท้อง รักแร้ รอบทวารหนัก เป็นต้น ใครที่มีฝ้ากระอยู่เดิมอาจพบว่าสีเข้มขึ้นได้ หลังคลอดบางราย ส่วนของสีผิวที่คล้ำขึ้นนี้ก็ยังคงมีสีเข้มอยู่ บางรายก็กลายเป้นฝ้าถาวร ปัญหากระฝ้าที่เข้มขึ้นนั้น เป็นสัญญาณสำคัญที่พบได้ในแม่ตั้งครรภ์ได้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ แม้ว่าส่วนหนึ่งพบว่าอาจจางลงได้ภายในประมาณ 3-6 เดือนหลังคลอด แต่ก็อาจดำคล้ำขึ้นมาอีกได้เมื่อถูกแดด พูดง่ายๆ การตั้งครรภ์เป็นสาเหตุกระตุ้นฝ้าในผู้หญิงจากภาวะการแปรปรวนของฮอร์โมนนั้นเอง การใช้ยาหรือเลเซอร์บางอย่างควรจะรอให้คลอดน้องเสียก่อน เพราะยาฝ้าโดยเฉพาะกลุ่มวิตามินเอ ไม่ควรใช้ในขณะตั้งครรภ์ ส่วนประกอบในเครื่องสำอางยาหลายๆ ตัว แม้จะไม่มีรายงานการศึกษาทำให้เกิดความพิการในเด็กได้ โดยทั่วไปมักจะให้หยุดการใช้ทุกอย่าง เพื่อสุขภาพที่ดีของลูกน้อย รวมถึงเลเซอร์ขจัดเม็ดสี เอาไว้ยกเครื่องทีเดียวหลังตั้งครรภ์ ควรรอหลังจากคลอดไปแล้วสักระยะหนึ่ง เพื่อให้ร่างกายได้มีการปรับฮอร์โมน ถ้าแน่ใจว่าไม่หายแน่ จึงใช้เลเซอร์ปราบ

 

 

เนื้องอก กระเนื้อ ในคุณแม่ตั้งครรภ์พบมีปัญหาเนื้องอกและกระเนื้อเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งสามารถหายได้เองหลังคลคอด ส่วนหนึ่งยังคงเหลืออยู่ให้รำคาญใจ พบได้ทั้งใบหน้า ลำคอ และลำตัว แก้ไขได้ไม่ยาก จัดการโดยใช้เลเซอร์คาร์บอนไดออกไซด์ยิงออก ดูแลแผล 7-10 วัน รักษาผิวให้กลับมาเนียนสวยเหมือนเดิม

 

 

ท้องลาย เป็นปัญหาที่พบบ่อยมากๆ พบได้มากถึง 90% ของคุณแม่ตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในช่วงท้องแก่ 6-9 เดือนหลัง มักพบในคุณแม่ที่มีประวัติในครอบครัวมีปัญหาท้องลายเหมือนกัน เชื่อว่าเกิดจากการที่ผิวหนังมีการยืดตัวออกอย่างมาก จากการเติบโตของทารกในครรภ์ ร่วมกับน้ำหนักตัวของแม่ที่เพิ่มขึ้นตามอายุครรภ์ ผสมรวมกับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสโตโรน ที่ทำให้เส้นใยคอลลาเจและอีลาสตินถูกทำลาย จึงทำให้เกิดการฉีกขาดของคอลลาเจนและอีลาสติน พบลักษณะผิวเป็นเส้น เป็นริ้วสีแดงหรือสีชมพูม่วง อาจมีการยุบตัวของผิวหนังเป็นร่องๆ เห็นได้ชัดเจนในช่วงที่มีปัญหาใหม่ๆ และเปลี่ยนเป็นสีขาวเมื่อเวลาผ่านไป พบบ่อยที่หน้าท้อง ก้น นม ต้นขา และต้นแขน พบได้บ่อยในคุณแม่ยังเอ๊าะ มากกว่าคุณแม่สูงวัย พบในคุณแม่ที่มีบุตรในครรภ์ตัวโต คุณแม่ที่มีภาวะโรคอ้วนและค่าดัชนีมวลกายสูง อยากจะจัดการกับท้องลายต้องกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนและอีลาสตินใหม่ ยาทาอาจช่วยได้บ้าง เช่น ยาในกลุ่มวิตามินเอ กรดผลไม้ เอเอชเอ พร้อมกับการรักษาด้วยเลเซอร์จะช่วยกระตุ้นคอลลาเจนใหม่อย่างเป็นระเบียบ ผิวจึงมีความยืดหยุ่นมากขึ้น เลเซอร์ที่มีการใช้ได้ดี ได้แก่ เลเซอร์เออร์เบียบ และคาร์บอนไดออกไซด์ ส่วนนวัตกรรมที่แซงหน้าที่ให้ผลการรักษาดีกว่า ได้แก่ การใช้เทคโนโลยี Fractional RF ปล่อยคลื่นความถี่วิทยุออกเป็นตารางเหมือนเลเซอร์ ขจัดผิวเสียกระตุ้นผิวใหม่รอยแตกจางลง รอยบุ๋มตื่นขึ้นเห็นผลอย่างรวดเร็ว ส่วนเลเซอร์ที่จัดการกับหลอดเลือด เหมาะสำหรับผิวแตกลายที่เกิดขึ้นใหม่ ส่วนวิธีอื่นๆ ที่มีการใช้ในสมัยก่อน ได้แก่ การใช้ผงอลูมิเนียมคริสตัล การใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ฉีดตื้นๆ ใต้ผิว (CARBOXY) ต้องทำจำนวนหลายครั้งมาก เห็นผลช้า ไม่เหมือนกับนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จัดการรอยแตกลายได้ไม่ยากเลย หลังคลอดเมื่อไหร่พร้อมยกเครื่องได้ทันที ยิ่งเร็วก็ยิ่งดี รอยแตกยิ่งใหม่การรักษาก็ยิ่งได้ผลดีค่ะ

 

 

เส้นเลือดโป่ง การเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือดที่พบได้ในภาวะตั้งครรภ์ พบว่ามีหลอดเลือดโป่งพองได้ตามบริเวณต่างๆ เช่น ริดสีดวงทวารเส้นเลือดขอดที่ขา เพราะขนาดของมดลูกที่ขยายโตขึ้นทำให้ความดันในช่องท้องเพิ่มขึ้น เลือดไหลเวียนไม่สะดวกจึงมีการป่องพองของหลอดเลือดเกิดขึ้นได้ จะแก้ไขคงต้องรอให้หลังคลอด สามารถรักษาได้โดยการฉีดสารทำลายผนังเส้นเลือดที่ผิดปกติ ร่วมกับการใส่ถุงน่องเพื่อช่วยส่งเสริมการไหลเวียนของระบบหลอดเลือด ควบคู่กับการใช้เลเซอร์เย็นพลังงานต่ำ เพื่อกระตุ้นในการไหลเวียน รีบรักษาก่อนที่จะเป็นมากจนกลายเป็นเส้นเลือดที่คดเคี้ยว หรือมีอาการปวด จนอาจจะต้องทำการผ่าตัดหรือใช้เลเซอร์ทำลายผนังคลอดเลือด ซึ่งอาจจะเกิดแผลเป็นได้ นอกจากนั้นหลอดเลือดที่เปลี่ยนแปลงอาจทำไปสู่การเกิดเนื้องอกของหลอดเลือด เป็นตุ่มไฝแดงตามบริเวณต่างๆ ที่พบได้บ่อย คือ เนื้องอกหลอดเลือดบริเวณเหงือก กรณีที่มีเลือดออกต้องใช้วิธีจี้ออกด้วยเลเซอร์หรือเครื่องจี้ไฟฟ้า ถ้าไม่มีอาการ ขนาดไม่ใหญ่มากอาจจะปล่อยรอให้หายเองได้หลังคลอด เนื้องอกแบบนี้ไม่มีอันตายค่ะ

 

 

ผมร่วง ขนดก ว่าที่คุณแม่ทั้งหลายอาจกลายเป็นสาวขนดกจำเป็นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในขณะตั้งครรภ์ ที่เป็นตัวการที่ทำให้การเจริญของขนมากขึ้น เช่น ขนดกที่ใบหน้าหรือส่วนอื่นๆ ในตำแหน่งที่ไม่ต้องการ เช่น เต้านม หน้าท้องได้ โดยส่วนใหญ่หลังคลอดจะดีขึ้น หากหลังคลอดแล้วยังเป็นคุณแม่ขนดกอยู่ จัดการไม่ยากด้วยเลเซอร์กำจัดขนถาวร อีกปัญหาตรงกันข้าม คือ ผมร่วง พบว่าคุณแม่หลังคลอดอาจมีปัญหาในช่วง 1-3 เดือนแรก เนื่องจากากรคลอดถือเป็นภาวะเครียดของร่งกายอย่างหนึ่งระหว่างคลอด ผมหยุดเจริญเติบโตพร้อมกัน หลังจากคลอด ผมจึงพร้อมใจกันร่วงในช่วง 3 เดือนต่อมา ถึงตอนนั้น ไม่ต้องตกใจ ไม่ต้องทำอะไรเยอะ ผมจะงอกกลับมาใหม่ได้เองค่ะ

 

 

แผลเป็น ยุคนี้ยุคสมัยที่คนเลือกเกิดได้ เลอืกเพศ เลือกวัน เลือกเวลาตกฟาก การผ่าตัดเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยม คุณแม่ที่เลือกการผ่าตัด ก็ต้องน้อมรับแผลเป็นนูนหรือแผลเป็นคีลอยด์ที่อาจเกิดขึ้นได้ แผลผ่าตัดแข็งแรงเมื่อไหร่ ก็จัดการด้วยแสงเลเซอร์พร้อมกับการฉีดยาลดการเจริญเติบโต ช่วยแก้ปัญหา ป้องกันแผลเป็นและคีลอยด์อย่างได้ผลค่ะ

 

 

เห็นการเปลี่ยนแปลงมากมายแบบนี้รู้อย่างนี้ ไม่รักแม่แล้วจะรักใคร โชคยังดีที่นวัตกรรมทั้งหลายช่วยยกเครื่องใหม่ให้คุณแม่หลังคลอดได้ดี ช่วยให้คุณแม่มีความสุขทั้งกายและใจค่ะ

 

 

แพทย์หญิงอัจจิมา สุวรรณจินดา

LINE ID : dr.atchima

(Some images used under license from Shutterstock.com.)