© 2017 Copyright - Haijai.com
โตแล้วนะลูก ทำไมยังดูดนิ้วอีก
การดูดนิ้ว (thumb sucking) พบได้ในเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา ในวัยทารกมักทำเพื่อให้รู้สึกสงบเวลาที่เหนื่อยหรือหงุดหงิด ในเด็กโตมักทำเพื่อเสริมสิ่งกระตุ้นให้แก่ตัวเอง หรือในช่วงที่มีภาวะเครียด ซึ่งอาการเหล่านี้ถือว่ายังอยู่ในภาวะปกติ ส่วนใหญ่แล้วการดูดนิ้วนั้นมักจะเกิดในเด็กเล็ก อาจจะติดจนอายุ 1 ปี
PROBLEM
ในเด็กบางคน อายุ 3-5 ปีแล้วก็ยังดูดนิ้วอยู่ คุณแม่ก็ตกใจไปต่างๆ นานา เพราะเคยได้ยินมาว่าเด็กที่ดูดนิ้วเป็นเด็กที่ขาดความอบอุ่น ขาดความรัก หรือปรับตัวไม่ได้หรือเปล่า คุณแม่อย่าเพิ่งคิดมากไปขนาดนั้นค่ะ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องรับรู้พฤติกรรมนี้ในฐานะของ “ปัญหา” ด้วยนะคะ เพราะนี่ไม่ใช่พฤติกรรมปกติของเด็กในวัยนี้อย่างแน่นอน
SOLUTION
ส่วนใหญ่การรักษามักเริ่มเมื่ออายุมากกว่า 4 ปี คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่กังวลกับอาการดูดนิ้วของลูกมากนัก เพราะบางทีเด็กบางคนอาจทำเพื่อเรียกร้องความสนใจ ถ้ายิ่งไปใส่ใจกับพฤติกรรมนี้มากขึ้นเด็กจะรู้สึกดีที่ได้รับการเอาใจใส่ สนใจ เลยยิ่งดูดหนักไปอีก
วิธีการโบราณที่หลายๆ บ้านชอบทำอย่างการเอาบอระเพ็ดไปทาที่นิ้วหัวแม่มือ เพื่อให้เลิกดูดนิ้วนั้นยังไม่มีการสรุปนะคะว่าแก้ได้มากน้อยเท่าใด เท่าที่รู้มาบางบ้านก็ชะงัดนัก แต่บางบ้านเจ้าตัวเล็กกลับเลียตรงที่ขมแล้วก็ดูดอีกจนได้
เราจึงมีทางแก้ง่ายๆ ที่ใช้การปรับพฤติกรรมเข้าช่วยมานำเสนอค่ะ
• ควรให้รางวัลหรือชมเชยเมื่อเด็กไม่ดูดนิ้ว ลูกจะได้รู้ทิศทางของพฤติกรรมที่ควรทำ เพราะเมื่อได้รับคำชม ลูกก็จะดีใจ จะได้รู้ว่าพฤติกรรมไม่ควรทำ ถ้าไม่ทำเขาจะได้รับการชื่นชม
• ห้ามล้อเลียนหรือดุด่าว่ากล่าวเด็ดขาด เพราะจะยิ่งทำให้เด็กเสียความมั่นใจ เครียด และกลับมาดูดนิ้วอีก โดยคราวนี้อาจจะแอบทำ ยิ่งทำให้เลิกยากขึ้นไปอีก
• ชี้ให้เห็นถึงผลร้าย อธิบายให้ลูกฟังได้ เพราะว่าวันนี้พอจะรับฟังบ้างแล้วว่าจะทำให้นิ้วเป็นแผลเจ็บมากนะ ทำให้ฟันหนูไม่สวยนะ ถ้ายังดูดนิ้วอยู่
• เบี่ยงเบนความสนใจ ถ้าพ่อแม่อยู่กับลูกตลอด ลองให้เค้าได้ทำกิจกรรมที่ต้องใช้มืออย่างมีประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นของเล่นเสริมทักษะ หรือกิจกรรมกลางแจ้ง เล่นกีฬา ปลูกต้นไม้ไปเลย เด็กวัยนี้ชอบทำกิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหวอยู่แล้ว ไม่นานลูกจะลืมการดูดนิ้วไปเอง
(Some images used under license from Shutterstock.com.)