© 2017 Copyright - Haijai.com
ภาวะนักเรียนใหม่ เรื่องใหญ่ของคนตัวเล็ก
เปิดเทอมใหม่นี้มีเด็กๆ หลายคนทีเดียวค่ะที่เพิ่งก้าวเท้าเข้าโรงเรียนเป็นครั้งแรกในชีวิต ภาวะของการจากกัน และต้องไปอยู่ในที่ที่ไม่คุ้นเคยสร้างความหวาดหวั่นให้ลูกน้อยของเราไม่ใช่น้อย เด็กที่ปรับตัวได้ดีคุณพ่อคุณแม่ก็จะโล่งใจ แต่บ้านใดที่ลูกน้อยแสดงอาการต่อต้านสารพัดแบบ จะสร้างความทุกข์ สร้างความวิตกกังวลจนแทบจะทำงานไม่ได้ ไปหลายต่อหลายวัน ไปจนถึงเป็นเดือนก็มี
ทำอย่างไรกับอาการของลูกที่ยังบอกเราว่าเขายังทุกข์ใจเมื่อไปโรงเรียน
1.อาการ “ไม่ยอมออกจากบ้าน”
ถ้าเป็นวันที่ต้องไปโรงเรียนก็จะไม่ยอมไปเสียทุกเรื่องนับตั้งแต่ไม่ยอมลืมตา ไม่ยอมอาบน้ำแต่งตัว ไม่ยอมขึ้นรถไปโรงเรียน ทำเอาเหนื่อยไปทุกเช้า อดทนกับลูกหน่อยนะคะ อย่าเพิ่งโมโห ลากๆ จูงๆ กัน พาไปอาบน้ำ แต่งตัว (แม้ว่าจะทำท่าไม่เต็มใจ) หากลูกต่อต้านอาละวาดมากแล้วจัดการไม่ได้จริงๆ ก็หอบชุดนักเรียน อาหารการกิน มาให้คุณครูช่วยจัดการให้ ที่สำคัญ คือ อย่ายอมให้ลูกหยุดอยู่บ้าน ไม่อย่างนั้นลูกจะเรียนรู้ว่า ถ้าเขาทำอย่างนั้นเขาจะได้อยู่บ้าน การปรับตัวต่อการมาโรงเรียนจะยิ่งยุ่งยากมาก
2.อาการ “ไม่ยอมจากกัน”
ตอนมาส่งลูกที่โรงเรียนลูกอาละวาดหนักขึ้น ทั้งเหนี่ยว ทั้งรั้ง ทั้งร้องโวยวาย ทำอย่างนี้นะคะ หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ สักสองเฮือก แล้วบอกลูกด้วยท่าทีที่มั่นคงและสงบว่า “ลูกอยู่กับคุณครูนะลูก พ่อกับแม่จะไปทำงาน แล้วจะรีบมารับลูกตอนเลิกเรียนนะจ๊ะ” จากนั้นตัดใจหันหลังกลับไปเลยนะคะ อย่าสั่งเสีย สั่งลานานเด็ดขาด ลูกจะตัดใจลำบาก การพูดกับลูกอย่างนี้ทุกวันด้วยท่าทีที่สงบจะเป็นการย้ำให้รู้ว่านี่คือกิจวัตรประจำวันที่จะต้องปฏิบัติ อย่าใช้วิธีหลอกหรือแอบหลบลูกแล้วหนีไปเฉยๆ และที่สำคัญ ต้องมารับตรงเวลาอย่าให้ลูกรอนาน ลูกจะใจเสีย วันรุ่งขึ้นจะมาโรงเรียนยากขึ้น
3.อาการ “ขี้โมโห หงุดหงิด หรือซึมเศร้า เหงาหงอย”
ช่วงนี้ลูกอาจออกอาการโมโหง่ายกว่าธรรมดา โปรดเข้าใจและเห็นใจว่าภาวะนี้ลูกยังไม่สบายใจกับการไปโรงเรียน บางรายยิ่งให้เล่าถึงเรื่องโรงเรียนยิ่งออกอาการ “ไม่ชอบ.. ไม่อยากไปโรงเรียน.. ครูใจร้าย... เพื่อนเกเร” บางรายตรงข้ามค่ะ พอถามเรื่องโรงเรียน ทำยังไงยังไงก็ไม่ยอมพูดถึง อย่าเซ้าซี้เลยค่ะ รอให้ลูกสบายใจก่อน แล้วลูกจะค่อยๆ เล่าเอง พอลูกปรับตัวได้ ลูกจะสนุกกับเพื่อน กับกิจกรรมของคุณครู คราวนี้ล่ะค่ะ จะเล่าไม่ยอมหยุดปากทีเดียว
4.อาการ “ต่อรอง ออดอ้อน และมีข้ออ้าง”
ลูกน้อยแสนฉลาดหลายคน รู้ว่าจะทำอย่างไรที่จะไม่ต้องไปโรงเรียน “หนูปวดท้อง..หนูปวดหัว ” “คุณยายขา..หนูขอไม่ไปโรงเรียนวันนึงนะ ขอวันเดียว” (แล้วก็ต่อรองกันอย่างนี้ทุกวัน) อย่าหลงกลทีเดียว ต้องตรวจสอบให้ดี ไม่อย่างนั้นลูกจะเรียนรู้ที่จะใช้กลยุทธ์และกลลวง
สิ่งที่จะลืมไม่ได้
• ลูกต้องการเวลาในการปรับตัว และเด็กแต่ละคนก็ปรับตัวได้เร็วและช้าต่างกัน
• ความสม่ำเสมอของการมาโรงเรียน การตรงต่อเวลา จะช่วยให้ลูกปรับตัวได้ง่ายขึ้น เพราะรู้ว่าเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นเป็นประจำ
• ช่วงนี้ลูกต้องการกำลังใจ อย่าตอกย้ำแต่ความล้มเหลวลูก “ ร้องอยู่ได้ทุกวันๆ” แต่ให้ชื่นชมเมื่อลูกดีขึ้นแม้เพียงเล็กน้อย หรือแม้แต่ลูกได้แสดงความพยายามโดยที่ยังทำไม่สำเร็จ
อ.ธิดา พิทักษ์สินสุข
(Some images used under license from Shutterstock.com.)