
© 2017 Copyright - Haijai.com
การตั้งครรภ์ในผู้หญิงอายุมาก
ในยุคปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงของสภาวะสังคมและเศรษฐกิจ ผู้หญิงมีสิทธิและเสรีภาพมากขึ้น มีการศึกษาสูงขึ้น สามารถทำงานเลี้ยงตัวเองได้ ทำให้ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะแต่งงานและมีบุตรเมื่ออายุมากขึ้น พบว่าใน 10 ปีที่ผ่านมา สถิติผู้หญิงที่คลอดบุตรเมื่ออายุมากกว่า 35 ปี เพิ่มมากขึ้นถึง ร้อยละ 30-50
เมื่อผู้หญิงอายุมากขึ้น ย่อมมีโอกาสที่จะมีโรคประจำตัวก่อนตั้งครรภ์มากกว่าผู้หญิงอายุน้อย เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไต นอกจากนี้ที่สำคัญ อวัยวะภายในสตรีที่มีหน้าที่ในการตั้งครรภ์ยังมีโอกาสเกิดความผิดปกติมากกว่าอีกด้วย เช่น มีเนื้องอกมดลูก พังผืดในกล้ามเนื้อมดลูก เยื่อบุมดลูกงอกในเชิงกราน ช็อกโกแลตซีสต์ เป็นต้น
อายุที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการตั้งครรภ์ คือ 25-30 ปี ผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 35 ปี จะมีปัญหามากกว่าผู้หญิงอายุน้อย โดยเริ่มตั้งแต่ปัญหาการตั้งครรภ์ยาก ตั้งครรภ์ช้า เนื่องจากความไม่สมบูรณ์ของเซลล์สืบพันธุ์ (ไข่) และโรคของอวัยวะภายในสตรีดังที่กล่าวมาแล้ว นอกจากนั้น เมื่อตั้งครรภ์แล้วก็มีโอกาสแท้งมากกว่าผู้หญิงอายุน้อยประมาณ 5-6 เท่า
ภาวะแทรกซ้อนที่พบในหญิงตั้งครรภ์ อายุมากกว่า 35 ปี
ด้านมารดา
• เบาหวานในขณะตั้งครรภ์ มีโอกาสพบเพิ่มขึ้น 11 เท่า
• ความดันโลหิตสูง และภาวะครรภ์เป็นพิษ มีโอกาสพบเพิ่มขึ้น 4 เท่า
• พบรกเกาะต่ำมากขึ้น
• การคลอดยาก และต้องผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง มีโอกาสพบเพิ่มขึ้น 3 เท่า และมีภาวะแทรกซ้อนระหว่างการคลอดมากกว่า
ด้านทารกในครรภ์
• คลอดก่อนกำหนด
• น้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ปกติ
• มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหลังคลอด
• มีภาวะการหายใจเร็วเนื่องจากมีน้ำคั่งในปอด
• มีภาวะผิดปกติทางพันธุกรรม โครโมโซมผิดปกติ ที่พบมากคือ ดาวน์ซินโดรม ในหญิงตั้งครรภ์อายุน้อยกว่า 35 ปี จะมีโอกาสพบ 1:350 ส่วนในหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุ 40 ปี จะมีโอกาสพบ 1:70
การเตรียมตัวก่อนการตั้งครรภ์ในหญิงอายุมากกว่า 35 ปี
ควรจะพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายโดยละเอียด ค้นหาโรคประจำตัวที่มีผลต่อการตั้งครรภ์ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ตรวจภายในดูความสมบูรณ์หรือค้นหาความผิดปกติของอวัยวะภายในอุ้งเชิงกราน ตรวจเลือดคัดกรองโรคเบาหวาน ไต ตับ และโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ตลอดจนภูมิต้านทานต่อหัดเยอรมัน และไวรัสตับอักเสบบี
ก่อนการตั้งครรภ์ควรควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานไม่อ้วนหรือผอมเกินไป รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง และอาหารจำพวกแป้ง น้ำตาล พักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง หลีกเลี่ยงภาวะเครียดและการทำงานหนัก งดสูบบุหรี่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แนะนำให้รับประทานโฟลิคแอซิด วันละ 1 เม็ดก่อนตั้งครรภ์
การปฏิบัติตนเมื่อตั้งครรภ์ในหญิงอายุมากกว่า 35 ปี
เมื่อตั้งครรภ์ ควรพบแพทย์เพื่อฝากครรภ์แต่เนิ่นๆ และในระยะแรกควรระมัดระวังภาวะแท้งบุตร โดยแนะนำให้พักผ่อนมากๆ หลีกเลี่ยงการทำงานหนักและการเดินทางไกล ตลอดการตั้งครรภ์แพทย์จะให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ในด้านต่างๆ เช่น การรับประทานอาหาร โดยจะเน้นให้หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสหวาน อาหารมัน อาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล แต่จะให้เพิ่มอาหารจำพวกโปรตีน ควบคุมน้ำหนักให้เพิ่มในเกณฑ์ปกติ คือประมาณ 12-15 กิโลกรัม ตลอดการตั้งครรภ์ นอกจากนั้นแพทย์จะตรวจเพื่อคัดกรองโรคเบาหวานและภาวะความดันโลหิตสูง(ครรภ์เป็นพิษ) เป็นระยะ ๆ
การตรวจดูความสมบูรณ์และค้นหาความผิดปกติของทารกในครรภ์
จะมีการตรวจอัลตราซาวด์ เริ่มตั้งแต่ อายุครรภ์ 6-8 สัปดาห์ เพื่อคำนวนอายุครรภ์และดูความเสี่ยงต่อภาวะแท้งบุตร , การตรวจวินิจฉัยความผิดปกติทางด้านโครโมโซม จะเริ่มตรวจตั้งแต่อายุครรภ์ 11-14 สัปดาห์ โดยการตรวจอัลตราซาวด์และเจาะเลือดมารดาดูความผิดปกติของระดับสารเคมีในเลือด สำหรับการเจาะน้ำคร่ำเพื่อตรวจดูโครโมโซมของเด็กในครรภ์ จะตรวจเมื่ออายุครรภ์ 18-20 สัปดาห์ การตรวจวินิจฉัยความผิดปกติของทารกในครรภ์นั้น จะตรวจมากแค่ไหน ขึ้นอยู่กับหญิงตั้งครรภ์และครอบครัวเป็นฝ่ายตัดสินใจ โดยแพทย์จะให้คำแนะนำละเอียดถึงข้อดีข้อเสียของการตรวจต่างๆ ก่อนทำการตรวจทุกครั้ง
พ.ญ. สุรินทร์ทิพย์ เปี่ยมสมบูรณ์
ศูนย์สูติ-นรีเวชกรุงเทพ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)