
© 2017 Copyright - Haijai.com
โรคภูมิแพ้ คืออะไร
โรคภูมิแพ้ หรือ โรคทางเดินหายใจ เป็นโรคที่ค่อนข้างพบได้มากของประเทศไทย โดยเฉพาะประชาชนในเขตเมืองใหญ่ๆ เนื่องจากมลภาวะหลากหลายชนิด ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีหน้าที่ ที่จะจดจำสิ่งแปลกปลอมที่จะทำร้ายร่างกายเรา เช่น เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เป็นต้น เมื่อร่างกายได้รับเชื้อโรค ร่างกายก็จะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นต่อสู้กับเชื้อโรค โรคภูมิแพ้เป็นภาวะที่ภูมิของร่างกายมีปฏิกิริยากับโปรตีน หรือสารก่อภูมิแพ้จากสิ่งแวดล้อม ซึ่งปกติจะไม่มีอันตรายต่อบุคคลปกติหรือผู้ที่ไม่แพ้
เมื่อได้รับสารก่อภูมิแพ้ ก็จะเกิดการสร้างภูมิที่เรียกว่า IgE antibody ตัว antibody นี้ จะกระตุ้น Mast cell ให้มีการหลังสาร Histamin ขึ้นที่เนื้อเยื่อต่างๆ เช่น ผิวหนัง ปอด จมูก ลำไส้ ทำให้เกิดการอักเสบของอวัยวะต่างๆ อาการแสดงจะเกิดตามอวัยวะต่างๆ ยกตัวอย่าง เช่น ลมพิษที่ผิวหนัง คัดจมูก น้ำมูกไหล น้ำตาไหล แน่นหน้าอก หอบหืด บางรายอาจจะรุนแรงถึงกับเสียชีวิตได้
สำหรับอาการของโรคภูมิแพ้นั้น มีดังนี้
• เกิดผื่นที่ผิวหนัง เช่น ผื่นแพ้ ลมพิษ ผื่นคัน
• คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ จาม และแน่นหน้าอก
• หายใจมีเสียงหวีด หอบหืด
• เคืองตาและตาแดง
• บวมรอบปาก ปากเจ่อตุ่ย
• อาเจียนและถ่ายเหลว
• แสบคอ หูอื้อ
ปัจจัยเสี่ยงและสาเหตุของโรคภูมิแพ้
ผู้ที่มีประวัติโรคภูมิแพ้ในครอบครัว อาทิ เช่น มีพ่อแม่ พี่น้อง เป็นโรคภูมิแพ้ ก็จะเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า จะเป็นโรคภูมิแพ้ได้ง่ายมากกว่า เด็กผู้ชายจะเป็นโรคภูมิแพ้มากกว่าเด็กผู้หญิง หากพ่อหรือแม่เป็นโรคภูมิแพ้ เด็กจะเป็นภูมิแพ้ได้ถึง 30% แต่หากทั้งพ่อและแม่เป็นภูมิแพ้ เด็กจะมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ได้ถึง 50%
อนึ่ง การสัมผัสควันบุหรี่ ไรฝุ่น เกสรดอกไม้ สัตว์เลี้ยง ขนนก การใช้ยาปฏิชีวนะ การรับประทานอาหารสำเร็จรูป เหล่านี้จะทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ได้ทั้งสิ้น จากการวิจัยพบว่า คนในเมืองติดเครื่องปรับอากาศมากเกินไป อีกทั้งไม่ออกกำลังกายทำให้ร่างกายอ่อนแอ เกิดการติดเชื้อได้ง่าย เด็กกินนมแม่น้อยลง รับประทานอาหารจานด่วนมากเกิดไป ทำให้ได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน และได้รับสิ่งแปลกปลอมเข้ามามาก เช่น สี สารกันบูด เลี้ยงสัตว์เลี้ยงในบ้าน การติดตั้งพรม มลภาวะจากอุตสาหกรรม และไรฝุ่นบนที่นอน เป็นต้น
การป้องกันการเกิดโรคภูมิแพ้
• หลีกเลี่ยงกลิ่น สีน้ำมัน น้ำหอมระเหย น้ำมันเครื่อง น้ำมันเชื้อเพลิง
• หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา และยาเสพติด
• เปิดหน้าต่างให้เกิดการถ่ายเทของอากาศ โดยเฉพาะห้องครัว ห้องน้ำ โดยเปิดหน้าต่างอย่างน้อยครั้งละ 1 ชั่วโมง เปิดวันละ 2 ครั้ง
• หากแพ้เกสร ควรปิดหน้าต่าง โดยเฉพาะช่วงที่มีเกสรดอกไม้มาก
• ไม่ควรตากผ้าในห้องนอนและห้องนั่งเล่น
• ถ้าห้องมีความชื้นมาก ให้เปิดให้อากาศถ่ายเทให้มาก
การรักษาโรคภูมิแพ้
โรคภูมิแพ้ส่วนใหญ่ เมื่อหลีกเลี่ยงจากสิ่งที่แพ้ และรับประทานยาแก้แพ้ ก็จะสามารถควบคุมอาการได้ สำหับผู้ที่มีอาการคัดจมูกมากๆ พร้อมทั้งมีน้ำมูกไหล ก็อาจจะต้องให้ยาลดอาการคัดจมูกและยาลดน้ำมูกร่วมด้วย สำหรับผู้ที่มีอาการเรื้อรัง อาจจะต้องใช้ยาหยอดจมูกก็เป็นได้ ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ ยังสมควรหลีกเลี่ยงหรือป้องกันสารที่เป็นภูมิแพ้ ในบางกรณีเครื่องฟอกอากาศ ก็มีประโยชน์เหมือนกัน เนื่องจากมันสามารถลดสารก่อภูมิแพ้ในอากาศได้ในบางส่วน และอาจจะใช้เสริมกับระบบเครื่องปรับอากาศ ถ้าอัตราการไหลต่ำก็ไม่มีประโยชน์ อนึ่ง ไม่ควรใช้โอโซน เพราะจะระคายเคืองเยื่อจมูก ยิ่งไปกว่านั้น เราควรประพฤติตนอย่างนี้อีกด้วย เช่น
• ไม่เลี้ยงสัตว์ที่มีขนไว้ในบ้าน โดยเฉพาะในห้องนอน
• ไม่ควรตกแต่งห้องนอนด้วยพรม หรือมีตุ๊กตา หมั่นเช็ดฝุ่น บ่อยๆ
• ห้องนอนไม่ควรจะมีชั้น หรือหนังสือ
• เครื่องนอน ควรจะซักและต้มสัปดาห์ละครั้ง
• งดบุหรี่ หรือทาสีในบ้าน
• หมั่นทำความสะอาด และดูดฝุ่นบ้านและม่านกันแดก
• กำจัดเศษอาหารให้มิดชิด เพื่อป้องกันแมลงสาบและหนู
ในบางครั้งการล้างจมูกด้วยน้ำเกลืออุ่นๆ หรือการดมไอน้ำ ร้อนครั้งละ 10-15 นาที วันละ 2-4 ครั้ง ก็พอที่จะช่วยผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ได้ในเบื้องต้น แต่ถ้าผู้ป่วยไปรักษาที่สถานพยาบาลแล้วละก็ บางครั้งแพทย์จะรักษา โดยการฉีดภูมิแพ้ Immunotherapy เพื่อให้ผู้ป่วยร่างกายสร้างภูมิชนิด IgG การฉีดจะเลือกฉีดเฉพาะสารก่อภูมิแพ้ ที่ได้ทดสอบทางผิวหนังแล้วว่าแพ้ แล้วจะค่อยๆ เพิ่มขนาดยาตามตารางเวลา หลังจากฉีดแต่ละครั้ง ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ราวครึ่งชั่วโมง และระหว่างการรักษาไม่ควรรับประทานยา beta-block และยา monoamine oxidase
Inhibitors (MAOIs) ผลข้างเคียงจากการฉีดก็มีผื่นเฉพาะที่แดงคัน ผื่นจะอยู่นาน 4-8 ชั่วโมง ส่วนอาการข้างเคียงอีกชนิดหนึ่ง คือ อาการคัดจมูก น้ำมูกไหล และแน่นหน้าอก เป็นต้น
(Some images used under license from Shutterstock.com.)