Haijai.com


หลักสูตรสติและสมาธิบำบัด เพื่อจัดการความอ้วน


 
เปิดอ่าน 3442

หลักสูตรสติและสมาธิบำบัด เพื่อจัดการความอ้วน

 

 

กระทรวงสาธารณสุขเผยแพร่ให้ประชาชนใช้หลัก 3 อ. เพื่อส่งเสริมสุขภาพและลดโรค 3 อ. ก็คือ อาหาร ออกกำลังกาย และอารมณ์ ซึ่งในเรื่องของอารมณ์สมัยก่อนเราเน้นการผ่อยคลายเพื่อจัดการความเครียด เนื่องจากความเครียดเป็นตัวการสำคัญตัวหนึ่งที่บั่นทอนสุขภาพ ทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายลดลง ทำให้โรครุมเร้าได้ง่าย และยังมีผลต่อพฤติกรรมสุขภาพของคนเรา เช่น นอนไม่หลับ พักผ่อนไม่เพียงพอ ร่างกายกระตุ้นให้อยากทานอาหารหวานๆ และอาหารจำพวกแป้งมากขึ้น บางคนจะสูบบุหรี่ หรือดื่มเหล้ามากกว่าเดิมอีกด้วย

 

 

ต่อมา มีการเพิ่มเครื่องมือ อ.อารมณ์ คือ สติและสมาธิบำบัดเข้ามา โดยทำการศึกษาวิจัยกับผู้ป่วยที่มารับบริการ ก็พบว่าช่วยให้ความดันลดลง และที่น่าสนใจ คือ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขได้จัดประชุมโดยเชิญนักโภชนาการ นักวิชาการจากกรมอนามัย พยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังมาพูดคุยกัน เพื่อนำสติและสมาธิบำบัดมาใช้ลดน้ำหนัก เนื่องจากทางด้านการแพทย์ยอมรับว่า สำหรับคนที่น้ำหนักเกินนั้น การลดน้ำหนักลงแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ ก็สามารถลดความเสี่ยงของโรคเรื้อรังบางโรคได้ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง

 

 

มารู้เรื่องการนำสติและสมาธิมาใช้บำบัดโรคอ้วนกันเถอะ

 

คุณอินทิรา ปัทมินทร นักวิชาการสาธารณสุขของกรมสุขภาพจิตเป็นผู้หนึ่งที่ได้มีโอกาสไปดูงาน และเข้าร่วมสังเกตการณ์ในชั้นเรียนการอบรมเรื่องการฝึกสติและสมาธิ เพื่อบำบัดโรคอ้วนที่อเมริกา เธอกล่าวถึงหลักสูตรเกี่ยวกับการรับประทานอย่างมีสติที่ฝึกให้กับคนที่เป็นโรคอ้วน หรือคนที่มีน้ำหนักเกิน ยกตัวอย่างเช่น

 

 

หลักสูตรของ Center for Mindfulness ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก้ ครูที่สอนเรื่อง การรับะทานอย่างมีสติ คือ อลันโกลสไตน์ (Allan Goldstein) เขาเปิดรับผู้ใหญ่ที่มีปัญหาโรคอ้วน โดยฝึกการใช้สติและสมาธิในการกิน ใช้เวลา 8 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 1 ครั้งๆ ละประมาณ 2 ชั่วโมง 30 นาที ซึ่งเขาจะเริ่มด้วยการฝึกสมาธิด้วยการจับลมหายใจและใช้เทคนิค Body Scan คือจับความรู้สึกไปตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ตั้งแต่ศีรษะไปจนถึงปลายเท้า เป็นการฝึการรับรู้ของประสาทสัมผัสทางร่างกาย ต่อมาฝึกสติโดยใช้ลูกเกดเป็นสื่อในการสอน คือ มองลูกเกดอย่างพินิจพิจารณา (ใช้ประสาทสัมผัสทางตา) ใช้มือสัมผัสผิวลูกเกด (ใช้ประสาทสัมผัสทางตา) ใช้มือสัมผัสผิวลูกเกด (ใช้ประสาทสัมผัสทางผิวหนัง) ดมกลิ่น (ใช้ประสาทสัมผัสทางจมูก) เอาเข้าปากอม รสชาติเป็นอย่างไร พอถูกน้ำลายแล้วมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ก่อนที่จะเคี้ยวและกลืน มีการให้ความรู้ทางจิตวิทยาเกี่ยวกับกระบวนการทางจิตใจที่มีต่อพฤติกรรมการกินของคนเรา เพราะคนอ้วนมักทานเร็ว ไม่สนใจรสชาติ ทานได้โดยไม่รู้สึกหิว แถมยังจับความรู้สึกว่าร่างกายเริ่มจะอิ่มแล้วก็ไม่ได้อีก ดังนั้นเขาจึงให้ความรู้เพื่อให้เข้าใจสาเหตุที่ก่อให้เกิดความหิวและความอยากอาหารของแต่ละคน ซึ่งมีอยู่ 7 แบบ ได้แก่

 

 

1.Eye Hunger รูปลักษณ์ของอาหาร คนที่ทานอาหารไปดูทีวีไป มักจะไม่เคยสังเกตอาหารที่ทานเลย ทำให้ทานเร็วทานเยอะ ในขณะเดียวกัน ก็ขาดสุนทรียะทางสายตา

 

 

2.Nose Hunger กลิ่นของอาหาร ลองฝึกละจากรสชาติแล้วมาจับที่กลิ่นอาหาร ที่จริงกลิ่นอาหารก็เสมือนอโรมาอย่างหนึ่ง ความหอมของอาหารทำให้เกิดความพึงพอใจและอารมณ์ดี

 

 

3.Mouth Hunger รสชาติอาหารขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมและนิสัยการกิน เช่น บางคนชอบรสเผ็ด รสเค็ม หรือบางคนชอบรสหวาน รสเปรี้ยว ทำให้คนเราชอบอาหารต่างกัน อย่างตั๊กแตนทอดกรอบ เชื่อว่ารสชาติคงไม่ถูกปากทุกคนแน่นอน

 

 

4.Stomach Hunger คนส่วนใหญ่มักทานด้วยความเคยชิน ถึงเวลาที่ต้องทานทั้งๆ ที่ยังไม่หิว เช่น เที่ยงแล้วต้องไปหาอะไรทาน คำแนะนำที่บอกให้เราชะลอการทานอาหารไว้สักครู่ เมื่อรู้สึกหิวก็มาจากข้อนี้แหละค่ะ เราควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าเราทานเพราะรู้สึกหิวจริงๆ

 

 

5.Cellular Hunger เป็นความต้องการสารอาหารของร่างกาย ซึ่งเป็นส่วนที่จับความรู้สึกได้ยากมาก แต่การฝึกสติและสมาธิจะช่วยได้

 

 

6.Mind Hunger เป็นความพึงพอใจความรู้สึกชอบไม่ชอบ ความร็สึกว่าดีไม่ดี ที่ส่งสัญญาณตามธรรมชาติออกมาจากภายในร่างกายของคนเรา ซึ่งการฝึกสติ ทำให้ใจสงบจะช่วยให้คนเราจับความร็สึกที่ร่างกายส่งสัญญาณออกมาให้เรารับรู้ได้

 

 

7.Heart Hunger อารมณ์กับการทานอาหารมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างยิ่งยวด บางครั้งเราทานอาหารเพื่อดับความรู้สึกเหงา ความรู้สึกแย่ๆ ที่ผุดขึ้นมา ที่เป็นเช่นนี้ เพราะคนเราเชื่อมโยงอาหารกับความรัก และความต้องการความใส่ใจดูแล เหมือนสมัยที่เรายังเด็ก พ่อแม่คอยป้อนอาหารให้ทำให้เรารู้สึกพึงพอใจ หลักสูตรนี้จะสอนให้เราสังเกตอารมณ์ความรู้สึกของตนเองที่เกิดขึ้น ก่อนที่จะเกิดเกิดความรู้สึกอยากทานขนมกรุบกรอบ หรือทานอาหารที่ทำให้อ้วน และถ้าเราได้ฝึกสติจนชำนาญจะทำให้เราสามารถหาวิธีการใหม่ๆ ที่จะช่วยสร้างความรู้สึกพึงพอใจ ให้เกิดขึ้นแทนการหยิบขนมหวานใส่ปาก เช่น โทรศัพท์ไปหาเพื่อน นอนอาบน้ำอุ่นๆ หรือด่มชาร้อนๆ แทน

 

จากนั้น เขาก็ให้แนวทางการทานอาหารอย่างมีสติ 6 แนวทาง ได้แก่

 

1.ทานอาหารอย่างช้าๆ

 

 

2.ทานอาหารแต่พออิ่ม

 

 

3.การทำกิจกรรมที่ใช้พลังงาน

 

 

4.การทานอาหารสุขภาพแทนการทานอาหารที่ให้พลังงานสูง

 

 

5.การเก็บอาหารให้มิดชิด หยิบออกทานได้ยาก

 

 

6.การฝึกสมาธิและแผ่เมตตาให้ตัวเอง

 

 

มีการทบทวนประวัติการกินตั้งแต่สมัยยังเด็กและพัฒนาความสามรถของสมาชิกกลุ่มในการเลือกที่จะมีพฤติกรรมการกินในรูปแบบใหม่ ที่จะช่วยลดน้ำหนักและควบคุมน้ำหนักไม่ให้เพิ่มขึ้นในระยะยาวด้วย

 

 

นอกจากนั้น ก็ยังมีหลักสูตร Mindful Based Eating Awareness ที่ใช้เวลาในการฝึกอบรม 10 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ๆ ละ 2 ชั่วโมง เนื้อหาคล้ายๆ กับหลักสูตรแรก แต่เพิ่มการทดสอบด้วยการให้ผู้เข้ารับการฝึกได้ทานอาหารบุฟเฟ่ท์อย่างมีสติ

 

 

ที่สำคัญ ผู้ฝึกทุกคนต้องนำวิธีการที่สอนไปฝึกต่อที่บ้าน ใช้ในชีวิตประจำวันจนสามารถทำได้โดยอัตโนมัติ เป็นการปรับพฤติกรรมและเปลี่ยนนิสัยไปเลยค่ะ ซึ่งถือว่าเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ยั่งยืนและสามารถลดน้ำหนักได้อย่างแท้จริง

 

 

คุณอมรากุล อินโอชานนท์

(Some images used under license from Shutterstock.com.)