© 2017 Copyright - Haijai.com
กินนมแม่แต่ยังท้องผูก
Q : ลูกสาวอายุ 3 เดือน กินนมแม่ค่ะ แต่ลูกมีอาการท้องผูก บางครั้ง 3 วันถึงจะถ่ายค่ะ ดิฉันก็แก้ไขตามปรกติ คือสวนทวารให้ลูก แต่ไม่แน่ใจว่าการสวนบ่อยๆ จะมีผลอะไรกับลูกหรือเปล่า และลูกจะเจ็บไหมคะ
A : ทารกที่กินนมแม่ เมื่ออายุย่างเข้าเดือนที่สอง ที่สามมักไม่ถ่ายทุกวัน อย่าลืมว่านมแม่มีกากน้อย ลูกกินนมแม่แล้วสามารถย่อยได้ดี มีกากอาหารเหลือเป็นอุจจาระนิ่มๆ จำนวนไม่มากจึงไม่ค่อยถ่ายบ่อยเหมือนในช่วงเดือนแรก เนื่องจากในช่วงหลังเกิดน้ำนมแม่มีสารที่ทำให้ลำไส้บีบตัว เพื่อระบายของค้างในลำไส้ที่ทารกกลืน และหลั่งน้ำย่อยออกมาสะสมอยู่รวมเป็นของเหลวมีลักษณะเหนียวสีเทาๆ ที่เรียกกันว่า ‘ขี้เทา’ ให้หมดไป เมื่อขี้เทาถูกระบายหมดแล้ว อุจจาระเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลืองทอง เพราะนมแม่มีน้ำตาลแลคโทสสูง ย่อยไม่หมดถูกหมักโดยจุลินทรีย์เกิดเป็นกรดแลคติก ดึงน้ำไว้ในโพรงลำไส้ อุจจาระจึงเหลวมีฟองและมีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว ถ่ายบ่อย 6-8 ครั้งต่อวัน หรือกินทีถ่ายที เมื่อได้รับนมแม่ระยะหนึ่ง กรดแลคติกกระตุ้นเซลล์เยื่อบุลำไส้เล็กของทารก ทำให้เซลล์เยื่อบุลำไส้ของทารกเจริญเติบโตแข็งแรง ทำหน้าที่ดูดซึมได้ดีขึ้น อุจจาระจึงมีน้ำน้อยลง และเปลี่ยนลักษณะเป็นอุจจาระนิ่มและถ่ายน้อยครั้งลง คนรอบข้างมักเฝ้าดูว่า วันนี้หนูน้อย ‘อึ ‘ หรือยัง ถ้ายังก็เกิดความกังวล รีบสวนให้ จึงมักพบว่าอุจจาระที่ออกมาไม่ใช่อุจจาระเป็นก้อนแข็ง ถ่ายยากแบบคนท้องผูก ทารกเหล่านี้แม้ไม่ถ่าย 3 วัน ถ้าไม่มีอาการท้องอืด ร้องแสดงความอึดอัดไม่สบายท้อง น่าจะรอให้ลูกหัดเบ่ง "อึ" เองมากกว่า ผลเสียของการสวนบ่อยๆ คือทำให้ลูกไม่ได้ฝึกการขับถ่ายด้วยตัวเอง
การเบ่งอุจจาระเป็นการประสานการทำงานของหูรูดทวารหนัก กล้ามเนื้อกระบังลม กล้ามเนื้อหน้าท้อง กล้ามเนื้อในอุ้งเชิงกรานที่เกาะจับที่ผนังทวารหนัก และหูรูดนอกของทวารหนัก
เพื่อให้เข้าใจจะได้บรรยายกระบวนการขับถ่ายดังนี้ เมื่อกากอาหารหรืออุจจาระลงไปในลำไส้ใหญ่ส่วนปลายถึงบริเวณหูรูดใน เกิดการกระตุ้นให้รู้สึกปวดถ่าย อยากเบ่ง ในขณะที่มีความรู้สึกอยากเบ่ง หูรูดในเริ่มคลาย เกิดกระบวนการเบ่งโดยความร่วมแรงระหว่างกล้ามเนื้อกระบังลมที่ยืดตัวให้มีการหายใจเข้าเต็มที่ ร่วมกับการบีบตัวของกล้ามเนื้อหน้าท้อง เกิดความดันในช่องท้องสูงขึ้น บีบรีดอุจจาระในลำไส้ใหญ่ตรงทวารหนัก ให้ผ่านหูรูดในลงมาพร้อมกับที่หูรูดทวารหนักนอก เปิดอุจจาระจึงเคลื่อนออกมาได้สำเร็จ แล้วกล้ามเนื้อที่ยึดติดที่กระดูกเชิงกรานด้านล่างกับผนังลำไส้หดตัว รีดอุจจาระที่เหลืออยู่ออกให้หมดเป็นการสิ้นสุดการขับถ่าย ในระยะฝึกขับถ่ายทารกเล็กๆ ยังควบคุมการเบ่งด้วยการกลั้นลมหายใจไม่เก่ง แทนที่จะเบ่งลมลงล่างกลับเบ่งขึ้นบน เบ่งเต็มที่จนหน้าแดงแต่อุจจาระก็ไม่ค่อยออก ต้องหัดทำใหม่ ทำบ่อยๆ จะเบ่งลงล่างได้เอง อุจจาระออกมาได้ตามต้องการ ถือเป็นความสำเร็จเบื้องต้นของทารกที่เดียว
ทีนี้มาดูว่าเมื่อช่วยสวนหรือเหน็บอุจจาระจะเกิดอะไรขึ้นกับกระบวนการขับถ่าย การสวนเท่ากับไปกระตุ้นที่หูรูดในโดยที่ไม่ได้เกิดจากการดันของอุจจาระตามธรรมชาติ เมื่อสวนช่วยกระตุ้นให้ถ่ายบ่อยๆ ทารกต้องสนองด้วยการเบ่งได้แต่อาจจะเสียการรับรู้ภายในเมื่ออุจจาระลงมาขังอยู่ตรงหูรูดใน คือไม่รู้สึกปวดถ่ายต้องรอให้มีการกระตุ้นอย่างแรงด้วยการเหน็บหรือสวน ซึ่งทำขึ้นไม่ได้เกิดจากการกระตุ้นตามธรรมชาติ ไม่สวนช่วยกระตุ้นจากภายนอกเขามักไม่ถ่าย การควบคุมการขับถ่ายได้เองปกติแล้วจะทำได้เมื่ออายุประมาณขวบครึ่งถึงสองขวบ เด็กเหล่านี้อาจทำได้ช้า มีปัญหาถ่ายยากจนโต นอกจากนั้นการสวนบ่อยๆ ยังทำให้ทวารหนักอักเสบได้
การฝึกการถ่ายอุจจาระคือการฝึกให้เกิดกระบวนการขับถ่าย เริ่มจากการรับรู้ปวดอุจจาระตามด้วยการตอบสนองโดยการบังคับให้กล้ามเนื้อทั้ง 3 กลุ่มดังกล่าวข้างต้นบีบตัวทำงานเบ่งอุจจาระออกได้เอง (Toilet training is not stimulation but coordination)
พญ.วันดี วราวิทย์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)