
© 2017 Copyright - Haijai.com
โปลิโอ
โปลิโอเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ผู้ที่ได้รับเชื้อโปลิโออาจจะไม่มีอาการอะไรเลย หรืออาจป่วยมากจนกระทั่งมีอาการอัมพาต โรคโปลิโอมักพบในเด็กและเป็นโรคติดเชื้อที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดความพิการ สามารถป้องกันได้โดยการให้วัคซีน
โรคนี้เกิดจากเชื้อโปลิโอไวรัส (Polivovirus) โดยเชื้อเข้าสู่ร่างกายทางปากจากการกินอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อไวรัสนี้ เมื่อเข้าสู่ร่างกายเชื้อจะเกาะติดกับเซลล์เยื่อบุของลำไส้ ต่อมาจึงแพร่กระจายไปทางน้ำเหลืองและกระแสเลือด เชื้อสามารถเข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลางผ่านทางเลือดหรือทางเส้นประสาท โดยมักจะโจมตีเซลล์ประสาทไขสันหลังที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ
โปลิโอไวรัสจัดอยู่ในกลุ่มเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) มีเชื้อไวรัสเป็นสมาชิกร่วมกลุ่มคือ Echovirus, Coxsackievirus แลเอนเทอโรไวรัสอื่นๆ อีกลหายชนิด ไวรัสในกลุ่มนี้เจริญเติบโตได้ดีในกระเพาะอาหาร และลำไส้มนุษย์ และมีบทบาทสำคัญต่อการเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคมือเท้าปาก เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เจ็บคอ ตาแดง เป็นต้น
อาการ
ระยะฟักตัวของโรคโปลิโอนานประมาณ 1-2 สัปดาห์ แต่อาจจะเกิดเร็วภายในเวลา 3 วัน และนานถึง 7 สัปดาห์ ส่วนใหญ่ผู้ที่ได้รับเชื้อโปลิโอไวรัส มักจะไม่มีอาการอะไรหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น ไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย เจ็บคอ เบื่ออาหาร อาการเหล่านี้หายได้เองภายใน 3 วัน
ผู้ได้รับเชื้อโปลิโอบางรายอาจมีลักษณะทางคลินิกคล้ายเยื่อหุ้มสมองอักเสบ คือ มีไข้ ปวดศีรษะ ตรวจร่างกายพบว่าคอแข็ง กรวดน้ำไขสันหลังพบความผิดปกติ น้ำไขสันหลังมีเซลล์เพิ่มขึ้น เซลล์เป็นลิมโฟไซต์ โปรตีนปกติหรือสูงเล็กน้อย น้ำตาลปกติเป็นลักษณะของน้ำไขสันหลัง ที่พบในโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อไวรัส มีผู้ได้รับเชื้อเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มีอาการมาก
เนื่องจากเชื้อไวรัสโจมตีไขสันหลัง โดยเฉพาะเซลล์ประสาทที่อยู่ในเนื้อสีเทาของไขสันหลัง จึงเป็นที่มาของชื่อโรคโปลิโอ เพราะคำว่า “โปลิออส” (Polios) ในภาษากรีก แปลว่า “สีเทา” ผู้ป่วยจะมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง มักเกิดที่แขนขา โดยเฉพาะขาอ่อนแรงมากกว่าแขน อาการอ่อนแรงอาจเกิดที่ขาหรือแขนข้างเดียวหรือสองข้าง โดยที่ข้างหนึ่งอ่อนแรงมากกว่าอีกข้างหนึ่ง อาการอ่อนแรงมักเกิดกับกล้ามเนื้อต้นขาหรือต้นแขนมากกว่ากล้ามเนื้อปลายขาหรือปลายแขน กล้ามเนื้ออ่อนแรงอาจเกิดขึ้นที่หน้าอกและท้อง ทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ เมื่อเวลาผ่านไปกล้ามเนื้อที่อ่อนแรงนั้น จะลีบเล็กลง ทำให้ไม่สามารถใช้งานได้เหมือนเดิม
หากเชื้อไวรัสรุกรานเซลล์ประสาทที่อยู่ในก้านสมอง จะทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาการพูด การกิน การกลืน และการหายใจ ทำให้พูดไมชัด กินและกลืนลำบาก สำลักง่าย มีปัญหาการหายใจ ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และให้อาหารทางสายยาง
เด็กที่ป่วยด้วยโรคโปลิโอและมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อลีบ เมื่อเวลาผ่านไปอีก 20-40 ปี อาการของโรคอาจกำเริบขึ้นมาได้อีก ผู้ป่วยจะรู้สึกว่ากล้ามเนื้อมัดเดิมที่เคยมีอาการตอนเด็ก มีอาการล้าง่ายโดยเฉพาะเวลาทำงานหรือออกกำลัง กล้ามเนื้ออ่อนแรงและปวดเมื่อย อาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อมัดใหม่ ที่ไม่เคยมีอาการมาก่อนก็ได้ เรียกว่า “กลุ่มอาการหลังจากโปลิโอ” (Postpolio syndrome) อาการมักจะไม่รุนแรง สามารถรักษาโดยการทำกายภาพบำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพของกล้ามเนื้อ
การรักษา
การรักษาในระยะเฉียบพลัน เป็นการรักษาตามอาการและรักษาแบบประคับประคอง ยังไม่มียาต้านไวรัสที่ใช้ได้ผล ผู้ป่วยที่มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงมากและมีปัญหาการหายใจ แพทย์จะพิจารณาให้ออกซิเจนและใช้เครื่องช่วยหายใจ และพิจารณาให้อาหารทางสายยาง ในกรณีที่มีปัญหาการกินการกลืน ระยะต่อมาเมื่อพ้นจากภาวะเฉียบพลันแล้ว ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาโดยการทำกายภาพบำบัดและพื้นฟูสมรรถภาพของกล้ามเนื้อ เด็กที่มีความพิการอาจจะต้องใช้ไม้ค้ำหรือปลอกขาช่วยเดิน หากมีความพิการมากก็ต้องใช้รถเข็น
การป้องกัน
โปลิโอเป็นโรคที่ป้องกันได้ โดยการให้วัคซีนโอพีวี (Oral polio vaccine) ให้วัคซีน โดยหยอดทางปากจำนวน 5 ครั้ง เมื่อเด็กมีอายุ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน หนึ่งปีครึ่ง และ 4 ปี เป็นวิธีที่ง่ายและได้ผลดี
ข้อมูลทางสถิติจากประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่าระหว่างปี พ.ศ. 2491-2498 ซึ่งเป็นช่วงที่มีรายงานผู้ป่วยอัมพาตจากโรคโปลิโอมากที่สุดนั้น พบจำนวนผู้ป่วยถึง 30,000-60,000 รายต่อปี หลังจากมีการผลิตวัคซีนป้องกันโรคและรณรงค์ให้เด็กรับวัคซีนแล้ว จำนวนผู้ป่วยก็ลดลงไปเรื่อยๆ จนแทบไม่พบรายงานผู้ป่วยอีกเลย
เพื่อป้องกันการติดเชื้อและการแพร่กระจายของเชื้อโปลิโอ ให้รับประทานอาหารและดื่มน้ำสะอาด ถ่ายอุจจาระลงส้วมที่ถูกสุขลักษณะทุกครั้ง ผู้ที่มีโรคโปลิโอสามารถปล่อยเชื้อไวรัสออกมาทางอุจจาระได้เป็นเวลานานถึง 3 เดือน และถ้าผู้ที่มีโรคโปลิโอนั้น มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องร่วมด้วย ก็จะสามารถปล่อยเชื้อไวรัสทางอุจจาระได้นานหลายปีทีเดียว
องค์การอนามัยโลกมีเป้าหมายที่จะกำจัดโรคโปลิโอให้หมดไปภายในปี พ.ศ. 2543 แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ เพราะยังมีรายงานโรคโปลิโอจากหลายประเทศในทวีปเอเชียและแอฟริกา ซึ่งยังมีปัญหาทางสาธารณสุขและการให้วัคซีนยังไม่ทั่วถึง
นพ.จีรศักดิ์ กาญจนาพงศ์กุล
อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา
(Some images used under license from Shutterstock.com.)