© 2017 Copyright - Haijai.com
มะเร็งช่องปาก
ถ้าจะพูดถึงเรื่องการตรวจสุขภาพช่องปาก หลายท่านก็คงทราบกันดีอยู่แล้วว่า เราต้องไปพบทันตแพทย์ เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากและขูดหินปูน ปีละ 2 ครั้ง หรือทุก 6 เดือน นั่นเอง แต่ถ้าพูดกันถึงเรื่องของ “การตรวจคัดกรองมะเร็งในช่องปาก” เชื่อว่าหลายท่านอาจจะยังไม่ค่อยคุ้นเคย หรืออาจคิดว่ามะเร็งในช่องปากมีด้วยหรือ เพราะเคยได้ยินแต่มะเร็งปอด มะเร็งตับ มะเร็งลำไส้ และมะเร็งเต้านมกับมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิง
อันที่จริงแล้ว จากข้อมูลของกรมอนามัยพบว่า มะเร็งในช่องปากเป็น 1 ใน 10 อันดับแรกของมะเร้งที่พบในคนไทย ข้อมูลจากโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขปี 2555 พบมะเร็งที่ลิ้นมากที่สุดจำนวน 354 ราย โดยเป็นมะเร็งที่โคนลิ้นจำนวน 181 ราย และมะเร็งที่ส่วนอื่นของลิ้นจำนวน 173 ราย รองลงมาคือมะเร็งที่เพดานปากจำนวน 284 ราย มะเร็งที่พื้นของช่องปาก มะเร็งที่เหงือก และมะเร็งริมฝีปาก ส่วนที่ยังคงพบน้อยคือมะเร็งที่ต่อมน้ำลาย โดยเราจะพบผู้ป่วยในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ส่วนใหญ่มักจะพบมะเร็งในช่องปากในผู้ที่มีอายุ 50-60 ปีขึ้นไป อาจพบในคนอายุน้อยได้บ้างแต่ไม่บ่อยนัก
สำหรับโรคมะเร็งชนิดนี้ ในประเทศไทยยังเป็นปัญหาทางการแพทย์อยู่ ในปัจจุบันแม้เซลล์มะเร็งที่เกิดบริเวณนี้ส่วนใหญ่จะโตไม่เร็วนัก แต่ก็มักตรวจพบในระยะเริ่มแรกได้ค่อนข้างน้อย เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมาพบแพทย์เมื่อมีก้อนขนาดใหญ่หรือมีอาการมากแล้ว ซึ่งเป็นระยะที่ 3 และ 4 ทำให้การรักษายากขึ้น
อาการส่วนใหญ่ของมะเร็งในช่องปากคือการพบก้อน ติ่งเนื้อ หรือแผลเกิดขึ้น โดยก้อนเนื้อเหล่านั้นจะโตขึ้นเรื่อยๆ ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บเวลาสัมผัสหรือเวลากินอาหาร บางครั้งอาจจะมีเลือดออกฟันโยกคลอนและหลุดออก หรือในบางรายอาจพบก้อนหรือต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอโตขึ้น โดยที่ความผิดปกติในช่องปากยังมีไม่มากก็ได้
ปกติแล้วท่านที่ใส่ใจไปตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำ ทันตแพทย์มักจะตรวจเช็คเรื่องมะเร็งช่องปากให้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นสบายใจได้ค่ะ แต่มีอีกประเภทที่ถ้าฉันทนไหวยังไงก็ไม่ยอมไปหาหมอฟันเด็ดขาดเนี่ย อันนี้ต้องลองพิจารณาดูนะคะ ว่าเราอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ ถ้าใช่รีบไปหาหมอฟันก่อนอาการต่างๆ จะมาเลยนะคะ
การตรวจคักรองมะเร็งในช่องปาก สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มได้แก่
กลุ่มที่ 1 ผู้ที่ไม่มีรอยโรคแต่ควรได้รับการตรวจคัดกรองอย่างน้อยปีละครั้ง ได้แก่
• อายุ 40 ปีขึ้นไป
• สูบบุหรี่ เคี้ยวยาสูบ เคี้ยวหมาก อมเมี่ยง สูดยานัตถุ์เป็นประจำ
• ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นประจำ
• สุขภาพช่องปากไม่ดี
• มีการระคายเคืองเรื้อรัง
• มีฟันปลอมที่ไม่ถูกสุขลักษณะ
• ได้รับแสงอาทิตย์ โดยตรงบริเวณใบหน้าเป็นประจำ
• ภาวะทุพโภชนาการ
• มีบุคคลในครอบครัวเคยเป็นมะเร็งบริเวณทางเดินอาหารส่วนบน
• ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง
• มีประวัติติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น HIV, CMV & HPV
กลุ่มที่ 2 ผู้ที่ควรได้รับการตรวจอย่างละเอียดทันที ได้แก่
• เป็นแผลเรื้อรังเป็นระยะเวลานานกว่า 2 สัปดาห์ เมื่อกำจัดสิ่งระคายเคืองออกแล้ว
• มีการบวมเป็นก้อน หรือหนาตัวบริเวณริมฝีปาก เหงือก หรือตำแหน่งอื่นๆ ในปาก
• รอยโรคโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
• มีเลือดไหลออกจากแผลได้ง่าย
• มีอาการชาบริเวณริมฝีปากและใบหน้า
• การเคลื่อนไหวของลิ้นจำกัด (ลิ้นแข็ง)
• มีอาการเจ็บแสบในช่องปากโดยอาจไม่มีแผล
• ฟันโยกที่ไม่ทราบสาเหตุหรือมีอาการชาร่วมด้วย
ส่วนเรื่องแนวทางในการรักษานั้น ในปัจจุบัน วิธีการรักษาที่เป็นที่ยอมรับและได้ผลคือการผ่าตัดและการฉายรังสี ซึ่งอาจจะใช้วิธีใดวิธีหนึ่ง หรือใช้ทั้งสองอย่างร่วมกันก็ได้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ถึงแม้จะเป็นมะเร็งในช่องปากระยะที่เริ่มลุกลามแล้ว ยังมีคนไข้ส่วนหนึ่งซึ่งแพทย์สามารถที่จะรักษาเพื่อควบคุมอาการของโรคได้ค่อนข้างดีค่ะ
สุดท้ายหมอจุ้มจิ้มอยากฝากข้อมูลจากผู้อำนวยการสถานบันมะเร็งแห่งชาติค่ะ ท่านกล่าวว่า “มะเร็งช่องปากเป็นมะเร็งที่สามารถวินิจฉัยโรคในระยะเริ่มแรก และสามารถรักษาหายขาดได้ ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาลง แต่กลับพบว่าอัตรารอดชีวิต 5 ปี ของผ็ป่วยมะเร็งช่องปาก มีเพียงประมาณ 30% เมื่อเทียบกับมะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูกที่พบอัตรารอดชีวิต 5 ปี สูงถึง 60% ทั้งที่มะเร็งช่องปากสามารถตรวจพบในระยะเริ่มแรกได้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้สาเหตุที่ทำให้อัตรารอดชีวิตน้อยเกิดจาก การพบรอยโรคช้า เนื่องจากขาดความรู้ในการสังเกตอาการตนเอง ประชาชนจึงควรพบทันตแพทย์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง”
เห็นไหมคะว่าการตรวจคัดกรอง เพื่อรับการวินิจฉัยตั้งแต่เริ่มต้นมีความสำคัญมากแค่ไหน คิดว่าข้อมูลในตอนนี้จะสามารถช่วยให้ทุกๆ ท่านได้มีความรู้และลองสังเกตตนเองเบื้องต้นว่า มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งในช่องปากได้หรือไม่ จะได้รีบมาพบทันตแพทย์ เพื่อตรวจละเอียดกันอีกที แต่จริงๆ แล้วมาพบทันตแพทย์ปีละ 2 ครั้ง หรือทุก 6 เดือน ก็สบายใจได้แล้วล่ะค่ะ และโรคมะเร็งในช่องปากนั้น สามารถป้องกันได้ โดยการไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ไม่สูบบุหรี่ รักษาสุขอนามัยในช่องปาก และรักษาสุขภาพโดยรวมด้วยการรับประทานอาหารทีมีประโยชน์ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอค่ะ
ขอให้ทุกท่านมีสุขภาพปากและฟันที่แข็งแรงนะคะ
ทพญ.กิตติลักษณ์ จุลลัษเฐียร
ทันตแพทย์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)