Haijai.com


ตรวจสุขภาพเจาะเลือดหาโรค


 
เปิดอ่าน 21848

เจาะเลือดหาโรค

 

 

ตรวจก่อนเสื่อม ร่างกายของเราเหมือนเครื่องจักรที่ต้องทำงานสัปดาห์ละ 7 วัน วันละ 24 ชั่วโมง ไม่เคยหยุดพัก หากเราไม่ดูแลรักษาให้ดี สุขภาพที่ดีก็คงจะอยู่กับเราได้ไม่นาน การดูแลสุขภาพในขณะที่ร่างกายยังทำงานเป็นปกติ จึงมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นดังจะเห็นได้ว่าหน่วยงานรัฐบาลต่างๆ ได้กำหนดให้ข้าราชการมีสิทธิ์ในการตรวจร่างกายประจำปี และบริษัทเอกชนหลายแห่งก็กำหนดให้พนักงานได้รับสิทธิ เรื่องการตรวจร่างกายประจำปีแล้วเช่นกัน การตรวจร่างกายประจำปีทำให้เราทราบถึงความเจ็บป่วยที่อาจแอบแฝงอยู่ก่อนที่จะเริ่มมีอาการ และส่วนสำคัญของการตรวจร่างกายประจำปีก็คือ “การตรวจเลือด”

 

 

บางคนคงเคยมีประสบการณ์ถูกเจาะเลือดไปตรวจมาแล้ว แต่อาจจะยังไม่แน่ใจว่าเราสามารถรู้อะไรจากการตรวจเลือดได้บ้าง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไต โรคเบาหวาน โรคตับ ดูผลจากเลือดได้จริงหรือ ประเด็นเหล่านี้อาจยังคงคาใจใครอีกหลายคน ดังนั้นเรามารู้จักการตรวจเลือดกันดีกว่า เผื่อวันข้างหน้าหากต้องไปเจาะเลือดตรวจอีกจะได้ปฏิบัติตนได้ถูกต้อง

 

 

ความสำคัญของการเจาะเลือด

 

เชื่อหรือไม่ เลือดเพียง 3-5 มิลลิลิตรที่ถูกเจาะไป สามารถสะท้อนถึงภาวะสุขภาพของเราได้มหาศาล ตั้งแต่ปริมาณเม็ดเลือดแดงที่บ่งบอกถึงสภาวะเลือดจาง และเม็ดเลือดขาวที่บอกถึงการติดเชื้อในระบบของร่างกาย ความเข้มข้นของเลือด เกล็ดเลือด ภาวะโรคเลือดต่างๆ เช่น ลิวคีเมีย ธาลัสซีเมีย ไปจนถึงระดับสารเคมีต่างๆ ในเลือดบางคนอาจจะงง สารเคมีรึ แล้วมันเข้าไปอยู่ในเลือดของเราได้ยังไง อย่าแปลกใจไปเลย สารเคมีต่างๆ ก็มาจากอาหารที่เรากินเข้าไปนี่ล่ะเป็นส่วนใหญ่ เมื่อกินไปแล้ว ร่างกายก็ต้องย่อย จนสุดท้ายก็กลายเป็นสารเคมีโมเลกุลเล็กๆ อยู่ในกระแสเลือดของเรา เช่น กลูโคส คอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ โปรตีน กรดอะมิโน เกลือแร่ วิตามินต่างๆ เพื่อร่างกายจะได้นำสารเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์

 

 

ถ้าร่างกายของเรายังปกติดี ค่าสารเคมีเหล่านี้จะอยู่ในช่วง “ปกติ” แต่ถ้ามีโรคภัยไข้เจ็บ สารบางตัวอาจมีค่าผิดปกติได้ การตรวจเลือดด้วยวิธีที่ถูกต้องและเหามะสมสามารถตรวจพบความผิดปกติเหล่านี้ได้ แม้ในยามที่ยังไม่เป็นโรคหรือไม่มีอาการของโรค ตัวอย่างเช่น ระดับกลูโคสในเลือดอาจขยับขึ้นสูงในคนที่ยังไม่เป็นโรคเบาหวานได้ ส่วนแนวโน้มที่จะเป็นโรคเบาหวานในอนาคตหรือไม่ ก็ขึ้นกับความเสี่ยงในแต่ละบุคคลด้วย เช่น ประวัติครอบครัวว่ามีญาติสายตรงเป็นเบาหวานหรือไม่ เพราะเบาหวานเป็นโรคทางพันธุกรรม ภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกิน การออกกำลังกาย และอาหารที่รับประทาน ถ้าหากคนผู้นั้นไม่ดูแลตัวเองให้ดี ไม่ควบคุมอาหารไม่ออกกำลังกายให้เหมาะสม เขาก็อาจเป็นเบาหวานได้ในอนาคตอันใกล้

 

 

สำหรับสารเคมีในเลือดตัวอื่นๆ เช่น

 

 ไขมันในเลือด บ่งบอกถึงความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง

 

 

 ค่าเอนไซม์ตับที่สูงผิดปกติ บ่งบอกถึงภาวะที่ผิดปกติของตับ ตับอักเสบ หรือการได้รับสารพิษของตับ

 

 

 กรดยูริกที่สูงขึ้น บ่งบอกถึงโรคเกาต์

 

 

 สารยูเรียไนโตรเจนและครีเอตินีน ใช้สำหรับตรวจดูการทำงานของไต เป็นต้น

 

 

ซึ่งค่าเหล่านี้มีความแม่นยำ ความไวและความจำเพาะสูงหากใช้วิธีการตรวจที่ถูกต้องเหมาะสม และผู้ไปตรวขสุขภาพหรอคนไข้ปฏิบัติตนตามคำแนะนำของแพทย์

 

 

เตรียมตัวอย่างไรก่อนเจาะเลือด

 

เนื่องจากปัจจุบันนี้ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า “ห้องแล็บ” ส่วนใหญ่มีวิธีการตรวจที่ทันสมัยได้มาตรฐานสากล ความผิดพลาดจากขั้นตอนของการตรวจจึงเกิดขึ้นได้น้อย ในขณะที่ความผิดพลาดในขั้นตอนก่อนวิเคราะห์ อาจสูงได้ถึงร้อยละ 30-50 และการปฏิบัติตนของผู้ที่มารับการตรวจก็นับว่าสำคัญมากต่อผลการตรวจ เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว เราจะมีวิธีปฏิบัติตัวอย่างไร เพื่อให้ผลการตรวจเลือดมีความแม่นยำและสะท้อนสุขภาพของเราอย่างแท้จริง

 

 

หลักการทั่วๆ ไป ของการเตรียมตัวก่อนไปตรวจสุขภาพก็คือ ทำตัวตามปกติ ไม่ต้องควบคุมอาหารหรือควบคุมตัวเองมากเป็นพิเศษ เพื่อให้ผลตรวจเลือดบ่งบอกภาวะสุขภาพที่แท้จริงของเรา ไม่ควรนอนดึก ไม่ควรออกกำลังกายก่อนไปเจาะเลือด หากต้องการตรวจหาน้ำตาลและไขมันในเส้นเลือด ควรงดอาหาร 8-12 ชั่วโมง หรือพูดง่ายๆ ก็คือ งดอาหาร ชา กาแฟ นม ขนม และของหวานต่างๆ หลัง 2 ทุ่มเป็นต้นไป เพื่อเตรียมไปเจาะเลือดในเช้าวันรุ่งขึ้น สำหรับน้ำเปล่าสามารถดื่มได้ในปริมาณที่ไม่มากจนเกินไป แต่ถ้าหากไม่ได้ตรวจน้ำตาลและไขมัน ท่านสามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ แต่ควรเลี่ยงอาหารมื้อใหญ่ เช่น บุฟเฟต์หรืองานเลี้ยง อย่างน้อย 2 ชั่วโมงก่อนมาตรวจสุขภาพ

 

 

สำหรับวิตามิน อาหารเสริม และยาที่ไม่ใช่ยาประจำตัวควรงดก่อนรับการตรวจ 24 ชั่วโมง ควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนมารับการตรวจสุขภาพ 24-48 ชั่วโมง ไม่ควรสูบบุหรี่ก่อนมารับการตรวจ เพราะจะทำให้ความดันเลือดสูงกว่าที่เป็นจริง นอกจากนั้นยาบางชนิดอาจมีผลต่อการตรวจเลือด ปัสสาวะ หรืออุจจาระได้ เช่น

 

 ยารักษาโรคความดันในกลุ่ม beta-blocker ยาคุมกำเนิด ยาขับปัสสาวะ (Thiazide diuretics) ยาลดความซึมเศร้า (Tricyclic antidepressants) ยาในกลุ่มสเตียรอยด์อาจทำให้ระดับน้ำตาลสูงได้

 

 

 พาราเซตามอล แอลกอฮอล์ หรือ anabolic steroids อาจทำให้ระดับน้ำตาลต่ำกว่าความเป็นจริง

 

 

ดังนั้นหากรับประทานยาประจำ รวมถึงอาหารเสริมควรแจ้งให้ผู้ที่เจาะเลือด หรือแพทย์ทราบก่อนทุกครั้ง ทั้งนี้รวมถึงภาวะตั้งครรภ์ด้วย

 

 

“แฝดคนละฝา” หลายค่าวัดตัวเดียวกัน ความหมายต่างกันอย่างไร

 

ในการตรวจโรคเบาหวาน เราสามารถตรวจน้ำตาลในเลือดได้หลายรูปแบบ ได้แก่

 

 การตรวจหาระดับน้ำตาลหลังอดอาหาร 8 ชั่วโมง ใช้เพื่อวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานหรือไม่

 

 

 การตรวจน้ำตาลหลังจากรับประทานอาหารไปแล้ว 2 ชั่วโมง ถือว่าเป็นการเจาะน้ำตาลแบบสุ่ม ใช้สำหรับตรวจคัดกรองแต่ไม่ใช่การวินิจฉัยโรคเบาหวาน

 

 

 การตรวจหาค่าน้ำตาลเฉลี่ย เป็นการตรวจน้ำตาลที่เกาะเม็ดเลือดแดง ใช้วินิจฉัยโรคเบาหวาน และเป็นการติดตามผลการรักษาและควบคุมเบาหวาน ในช่วง 3 เดือนของผู้ป่วยเบาหวานได้เป็นอย่างดี

 

 

 การตรวจหา Fructosamine ใช้ติดตามผลการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำตาลของผู้ป่วยเบาหวานในช่วง 3-4 สัปดาห์ก่อนหน้าวันที่มาเจาะเลือด

 

 

 การตรวจวัดความทนต่อน้ำตาล หรือที่เรียกว่าการทำ Oral glucose tolerance test (OGTT) ใช้เพื่อวินิจฉัยโรคเบาหวานในกลุ่มเสี่ยง และเบาหวานในขณะตั้งครรภ์

 

 

การตรวจเหล่านี้มีวัตถุประสงค์ต่างกัน ใช้เกณฑ์การตัดสินต่างกัน หากไม่ได้ตรวจหาระดับน้ำตาลก็ไม่จำเป็นต้องอดอาหารก่อนไปเจาะเลือด

 

 

นอกจากนั้นการตรวจไขมันเส้นเลือดก็มีหลายตัว เช่นกัน เพราะไขมันในร่างกายเรามีหลายชนิด เช่น

 

 คอเลสเตอรอลรวม ร้อยละ 30 มาจากอาหาร อีกร้อยละ 70 ร่างกายสร้างจากตับ การตรวจค่าคอเลสเตอรอลยังสามารถแบ่งย่อยได้เป็น เอชดีแอล คอเลสเตอรอล ซึ่งเป็นไขมันที่ดี คอยกำจัดไขมันที่ไปอุดตันเส้นเลือด ยิ่งมีมากยิ่งลดโอกาสเสี่ยงจะเป็นเส้นเลือดอุดตัน ในขณะที่แอลดีแอลคอเลสเตอรอล เป็นไขมันที่ไม่ดี หากมีสูงจะทำให้เส้นเลือดอุดตัน

 

 

 ไตรกลีเซอไรด์ เป็นไขมันในเลือดที่ได้รับจากอาหารโดยตรง ทั้งจากอาหารประเภทไขมันและคาร์โบไฮเดรต ดังนั้น หากต้องการลดไขมันชนิดไตรกลีเซอไรด์ ต้องควบคุมอาหารทั้งประเภทแป้งและไขมันจึงจะได้ผลที่ดี

 

 

ในการวินิจฉัยโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดและหัวใจ ต้องแปลผลร่วมกันทั้งหมด รวมถึงดูค่าสัดส่วนระหว่างคอเลสเตอรอลรวมและไขมันเอชดีแอลด้วย เพื่อดูความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหัวใจ (มากกว่า 6 ถือว่ามีความเสี่ยงสูง)

 

 

ตรวจเลือดเองที่บ้านได้หรือไม่

 

ปัจจุบันนี้เทคโนโลยีทางการแพทย์ก้าวหน้ามากขึ้น การดูแลตนเองของผู้ป่วยก็ง่ายขึ้น การเจาะเลือดไม่ใช่เรื่องยุ่งยากเหมือนสมัยก่อน สำหรับคนไข้ที่ต้องคอยติดตามผลเลือดตนเองตลอดเวลา เช่น คนไข้โรคเบาหวาน สามารถซื้อเครื่องตรวจน้ำตาลในเลือดจากปลายนิ้ว (glucometer) ไปใช้ตรวจด้วยตนเองที่บ้านได้แล้ว เครื่องมือประเภทนี้เรียกว่า POCT หรือ point-of-care-testing ซึ่งออกแบบมาให้ใช้ได้ง่าย ปัจจุบันมีจำหน่ายหลายรูปแบบ หลากหลายยี่ห้อ สำหรับหลักการและการแปลผลของการตรวจน้ำตาลด้วยเครื่องกลูโคมิเตอร์ อาจแตกต่างกันไปบ้างกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการมาตรฐาน จากการศึกษาเปรียบเทียบโดยนักวิจัยชาวไทยและต่างประเทศ พบว่า หากมีการใช้ที่ถูกต้อง และมีการควบคุมคุณภาพของการตรวจตามคำแนะนำของผู้ผลิตแล้ว ผลที่ได้จากเครื่องกลูโคมิเตอร์เทียบกับผลจากวิธีมาตรฐานให้ผลใกล้เคียงกัน สามารถใช้ทดแทนกันได้ แต่หากน้ำตาลสูงเกิน 180 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ อาจมีความคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง (ค่าปกติของน้ำตาลในเลือดอยู่ที่ 60-100 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์)

 

 

แล้วจะเริ่มต้นเมื่อไหร่ดี

 

อาจมีคำถามว่า เราควรเริ่มตรวจสุขภาพตั้งแต่อายุเท่าใด จริงๆ แล้วก็คือ เราสามารถตรวจได้ตั้งแต่แรกเกิดเลย เพราะตั้งแต่หลังคลอด คุณแม่ก็ต้องพาลูกน้อยไปให้คุณหมอตรวจเช็คสุขภาพกันเป็นประจำ เมื่อเข้าโรงเรียนก็ต้องชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง ฉีดวัคซีนกันตามระยะเวลาที่กำหนด สำหรับผู้ใหญ่ที่อายุน้อยกว่า 35 ปี และไม่มีความเสี่ยงอื่นๆ หากต้องการตรวจสุขภาพก็สามารถตรวจได้ แต่ไม่จำเป็นต้องทำทุกปี ส่วนคนอายุ 35 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น มีประวัติโรคเบาหวาน ความดันไขมัน หัวใจภายในครอบครัว หรือมีรูปร่างอ้วน น้ำหนักเกิน ก็ควรตรวจเช็คสุขภาพทุกปี

 

 

แต่อย่างไรก็ตาม ถึงผลการตรวจสุขภาพหรือผลการตรวจเลือดของเราจะปกติ ก็ใช่ว่าเราจะปราศจากโรคเสียทีเดียว การดูแลสุขภาพอย่างถูกต้องนั้นมีส่วนสำคัญมากเช่นกัน การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ การพักผ่อนที่เพียงพอ การออกกำลังกายอย่างเหมาะสม และลดพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ จะช่วยให้ชีวิตมีความสุข และมีสุขภาพดีอย่างยาวนานมากกว่า

 

 

ดร.อัญชลี เฉียบฉลาด

นักเทคนิคการแพทย์

(Some images used under license from Shutterstock.com.)