
© 2017 Copyright - Haijai.com
โอเมก้า 3 ไขมันที่ดีต่อหัวใจ
ทุกวันนี้คนไทยเราเป็นโรคหลอดเลือด (อัมพาต อัมพฤกษ์) และหัวใจขาดเลือดกันมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นโรคของผู้มีอันจะกินตามแบบคนตะวันตก กินอาหารมากเกิน ไม่ว่าจะเป็นอาหารหวานหรือมันทำให้เกิดโรคเบาหวาน หัวใจ ความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง ต้องเสียเงินรักษากันมาก กระทรวงสาธารณสุขจึงมีนโยบายป้องกันโรคในเชิงรุก แนะนำส่งเสริมให้คนเรารู้จักออกกำลังกายและควบคุมอาหาร ความรู้เรื่องอาหารจึงมีความจำเป็น เราคงจะเคยได้ยินเรื่องการหลีกเลี่ยงการกินอาหารไขมันกันมาแล้ว แต่ไขมันนั้นทำให้อาหารอร่อย หลายคนจึงอดไม่ได้ จึงต้องเลือกกินไขมันที่ดีต่อหัวใจ แล้วก็มีคำถามออกมาว่าไขมันที่ดีต่อหัวใจมีจริงหรือเปล่า คำตอบ คือ “มี”
กรดไขมันโอเมก้า 3 เป็นไขมันที่มีคุณต่อหัวใจ ทำให้คนที่กินเป็นประจำเป็นโรคหัวใจขาดเลือดน้อยลง กรดไขมันนี้มีอยู่อุดมในเนื้อปลา โดยเฉพาะในไขมันปลา ถ้าคุณกลัวโรคหัวใจหรือกำลังเป็นโรคหัวใจขาดเลือดอยู่ ก็ควรจะหันมาสนใจกินปลาเป็นอาหารประจำ มีข้อมูลเชิงประจักษ์ว่าการกินเนื้อปลาที่มีโอเมก้า 3 สูงอาทิตย์ละ 1 หน่วยบริโภค (ประมาณ 100 กรัม หรือปลาทูขนาดกลาง 1 ตัว) จะช่วยลดอัตราเสียงการเสียชีวิตจากโรงหัวใจขาดเลือดลง 1 ใน 3 หรือมากกว่า นักวิจัยบางท่านมีข้อมูลว่าการกินปลาดังกล่าวจะลดความเสี่ยงจากการเต้นผิดปกติของหัวใจ (arrhythmias) ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ เพราะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน นอกจากนี้โอเมก้า 3 อาจจะมีบทบาทในการช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์ ซึ่งทำให้ลดการแข็งตัวตีบตันของหลอดเลือดแดงของหัวใจ (และที่อื่นๆ ในร่างกาย) ลดการแข็งตัวของเลือด และขยายหลอดเลือด
กรดไขมันโอเมก้า 3 เป็นกลุ่มกรดไขมัน ซึ่งมีตัวหลักอยู่ 2 ตัว คือ EPA (eicosapentaenoic acid) และ DHA (decosahexaenoic acid) ปลาที่มีกรดไขมันอย่างนี้อยู่มาก ได้แก่ ปลาแซลมอน เฮียริ่ง แอนโชวี่ แมคเคอเรล (ปลาทู) เทราต์ ซาร์ดีน พอลล็อต ปลาดุก
ปริมาณโอเมก้า 3 ในปลาแต่ละชนิด
ปลา
|
ขนาดต่อหนึ่งหน่วยบริโภค (กรัม) |
กรดไขมัน โอเมก้า 3 (มิลลิกรัม) |
ปรอท (ส่วนในล้านส่วน) |
แซลมอน, เลี้ยง |
170.10 |
4504 |
น้อยกว่า 0.05 |
แซลมอน, ธรรมชาติ |
170.10 |
1774 |
น้อยกว่า 0.05 |
เฮียริ่ง, แอตแลนติก |
85049 |
1712 |
น้อยกว่า 0.05 |
แอนโชวี่ |
56.699 |
1165 |
น้อยกว่า 0.05 |
แมคเคอเรล, แอตแลนติก |
85.049 |
1059 |
0.05 |
เทราต์ |
56.699 |
581 |
0.07 |
ซาร์ดีน |
56.699 |
556 |
น้อยกว่า 0.05 |
พอลล็อค, อลาสก้า |
56.699 |
281 |
น้อยกว่า 0.05 |
ดุก, เลี้ยง |
141.75 |
253 |
น้อยกว่า 0.05 |
ดัดแปลงจากตารางในวารสารสมาคมการแพทย์แห่งอเมริกา 2006
เมื่อก่อนเรามีแต่ข้อมูลจากต่างประเทศเท่านั้น ทำให้คนที่อยากกินปลาเพื่อได้อานิสงส์ของโอเมก้า 3 ไม่รู้จะกินปลาไทยชนิดไหนดี แต่ปัจจุบันนี้มีข้อมูลปลาไทยด้วยแล้ว โดยการวิจัยของ ผศ.ดร.ครรชิต จุดประสงค์แห่งสถาบันโภชนศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า ในเนื้อปลา 100 กรัม จากปลาเลี้ยงที่ได้อาหารดีมีสิ่งแวดล้อมถูกสุขลักษณะ จะมีไขมันและกรดไขมันโอเมก้า 3 ดังตารางต่อไปนี้
ปลา |
ไขมัน (กรัม) |
โอเมก้า 3 (มิลลิกรัม) |
ดุก |
14.7 |
460 |
จะละเม็ดขาว |
6.8 |
840 |
สำลี |
9.2 |
470 |
ช่อน |
8.5 |
440 |
ตะเพียน |
7.4 |
240 |
ทู |
3.8 |
220 |
จากการศึกษาที่เดียวกันนี้ ยังพบว่าปลาเลี้ยงมีไขมันและโอเมก้า 3 มากกว่าปลาที่จับได้ตามธรรมชาติ เนื่องจากอาหารที่เลี้ยงมีคุณภาพเอื้อต่อการสร้างไขมันโอเมก้า 3 มากกว่าปลาที่จับได้ตามธรรมชาติ เช่น ปลาทะเล ปลาในทะเลสาบ อาจจะมีสารปนเปื้อนที่เป็นพิษได้ เช่น พวกโลหะหนักอย่างปรอท ตะกั่ว จากมลพิษทางอากาศ เช่น จากไอเสียรถยนต์และโรงงานอุตสาหกรรม ทางประเทศตะวันตกเขามีข้อมูลเรื่องนี้ จึงไม่กล้าแนะนำให้กินปลาทุกวัน ให้กินอาทิตย์ละครั้ง แต่จากปลาที่เลี้ยงในเมืองไทย (ไม่รู้ว่ามีสารพิษปนเปื้อนมากแค่ไหน) นักโภชนาการแนะนำให้กินอาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง (ครั้งละ 1 หน่วยบริโภค)
สำหรับคนที่กลัวสารพิษโลหะหนักหรือไม่ชอบกินปลาดังกล่าว ก็อาจจะกินยาที่มีขายเป็นยาเม็ด ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐอเมริกาได้อนุมัติให้ใช้ สำหรับน้ำมันปลาก็มีเป็นแคปซูลที่ประเภทสารเสริมอาหารเหมือนกัน ซึ่งทำให้กินง่ายขึ้น แต่การกินกรดไขมันโอเมก้า 3 มากเกินไปก็ไม่ดี การกินมากกว่าวันละ 3 กรัม อาจจะมีผลเสียคือมันทำให้เลือดออกไม่หยุด เพราะมันไปต้านการแข็งตัวของเลือด เวลาเป็นแผลหรือผ่าตัดจะเลือดออกมากกว่าปกติ ถ้าท่านกินยาอย่างนี้ประจำแล้ว จะไปผ่าตัด จำเป็นต้องแจ้งให้ศัลยแพทย์ทราบด้วย เพื่อว่าศัลยแพทย์จะได้วางแผนการผ่าตัดได้ถูกต้อง นอกจากนี้โอเมก้า 3 อาจจะไปทำปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์กับยาต้านการแข็งตัวของเลือด แพทย์ที่รักษาคุณจึงจำเป็นต้องมีข้อมูลเรื่องนี้ ขนาดแนะนำของโอเมก้า 3 คือ 1000 มิลลิกรัมต่อวันเท่านั้น ไม่ใช่ยิ่งกินมากยิ่งดี
การกินยาเม็ดน้ำมันปลาอาจจะมีข้อเสียคือกลิ่นเหม็นคาว ผมยังจำได้ว่าสมัยเด็กๆ เคยกินน้ำมันตับปลาแล้วรู้สึกผะอืดผะอมมาก สมัยนั้นเขาบอกว่าเป็นยาบำรุง ไม่ทราบว่าบำรุงอะไร เมื่อก่อนไม่มีแคปซูล ต้องกินยาน้ำจากช้อนตอนผมกินก็ต้องเอามืออุดจมูกฝืนใจกิน เพราะความคาวของมัน ปัจจุบันนี้เพื่อให้กินง่ายขึ้นเขาแนะนำให้เอาแคปซูลน้ำมันปลาไปแช่แข็งแล้วจึงกิน จะทำให้กินง่ายไม่เรอเหม็นคาว หรือกินก่อนกินอาหารทำให้มันถูกกลบด้วยอาหาร ก็จะช่วยได้เหมือนกัน ที่จริงสารโอเมก้า 3 ที่สกัดออกมาบริสุทธิ์จริงๆ ไม่มีกลิ่น จึงกินง่าย ผลิตภัณฑ์ของแต่ละบริษัทไม่เหมือนกัน ต้องเลือกซื้อหา แต่ยาบริสุทธิ์ก็ต้องแพงกว่าเป็นธรรมดา
นักมังสวิรัติที่ไม่กินผลิตภัณฑ์จากสัตว์ก็จำเป็นต้องกินผลิตภัณฑ์โอเมก้า 3 จากพืช เช่น น้ำมันจาก flax seed (น้ำมันเมล็ดลินิน) และวอลนัต ซึ่งมีโอเมก้า 3 ในรูปของ ALA (alpha-linolenic acid) ซึ่งให้ผลดีคล้ายกัน แต่ราคาคงจะแพงกว่า
ของดีย่อมไม่ได้มาง่ายๆ ของฟรีไม่มีในโลก กรดไขมันโอเมก้า 3 ก็เช่นเดียวกัน
*หมายเหตุ จากบรรณาธิการประเทศไทยยังไม่มีการขึ้นทะเบียนยาดังกล่าว
นพ.นริศ เจนวิริยะ
ศัลยแพทย์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)