
© 2017 Copyright - Haijai.com
เวลาความสุขของเจ้าตัวน้อย
สำหรับคุณแม่มือใหม่อะไรๆ ก็อาจจะดูเป็นเรื่องยากไปเสียหมดค่ะ ในแต่ละชั่วโมงที่ผ่านไป คุณอาจสูญเสียเวลาไปอย่างเปล่าประโยชน์ เพียงเพราะไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นทำสิ่งใดกับลูกก่อนดี ลองใช้ตารางเวลาต่อไปนี้ เป็นแนวทางคร่าวๆ อาจจะพอช่วยให้คุณจับทางความต้องการของลูกได้ง่ายขึ้นค่ะ
7 A.M. เวลานอนคว่ำ
หลังจากนอนหงาย หรือนอนตะแคงมาตลอดทั้งคืน ตอนเช้าๆ หลังหม่ำนมไปแล้วประมาณ 15 นาที ระหว่างเล่นกับลูกวัย 3 เดือนขึ้นไป ลองจับลูกตัวน้อยนอนคว่ำบนที่นอน ซึ่งไม่นุ่มเกินไปจนยวบ เพื่อให้ลูกได้พัฒนาความแข็งแรงของกล้ามเนื้อคอ และคุ้นเคยกับการนอนคว่ำ ที่จะช่วยให้ลูกเรียนรู้ที่จะคลานได้ต่อไป อย่างไรก็ตามการให้ลูกนอนคว่ำ ควรทำเฉพาะเวลาที่ลูกตื่นนอนเท่านั้น เพื่อความปลอดภัยของลูกตัวน้อยค่ะ
9 A.M. ช่วงเวลาชิดใกล้
หลังจากเล่นจนได้ที่ หลับไปสักพักคราวนี้ลูกอาจตื่นมามองหาคุณแม่อีก ซึ่งหากคุณกำลังทำกิจวัตรประจำวันอยู่ ไม่ต้องห่วงว่าจะดูแลลูกไม่ได้ เพียงแค่คุณมีเป้อุ้มเด็ก แล้วจับลูกลงไปอยู่ในเป้ขณะที่คุณทำกิจวัตร เพื่อสร้างความรู้สึกใกล้ชิด ไม่ถูกทอดทิ้ง และคุณก็ยังได้ทำในสิ่งที่คุณต้องทำด้วย เพียงแต่ว่าอย่าลืมพูดคุยกับลูก
10 A.M. ไปเดินเล่นกัน
ในวันทีอากาศดีๆ คุณควรพาลูกนั่งในรถเข็นตัวเก่งของเขา ปรับรถเข็นให้ได้องศาประมาณ 45 องศา แล้วพาลูกออกไปเดินเล่นรอบๆ บ้าน หรือจะเป็นที่สวนสาธารณะ ชี้ให้ลูกดูต้นไม้ ดอกไม้ ก้อนเมฆ ฯลฯ หากลูกเคลิ้มจนใกล้จะหลับ ก็ปรับเบาะนอนในรถเข็นให้ลูกได้หลับสบาย
12 P.M. โต๊ะอาหารของหนู
จับเจ้าตัวเล็กนั่ง High Chair พร้อมกับหาหนังสือภาพที่ทำความสะอาดได้ง่ายๆ หากว่าต้องเลอะเทอะคราบอาหารมาให้เจ้าตัวน้อยนั่งดู ขณะที่คุณเตรียมอาหาร หรือล้างจาน
1 P.M. เรียนรู้โลกกว้าง
ให้เวลานี้เป็นเวลาทำกิจกรรมของลูกตัวน้อย หาของเล่น หรือหากิจกรรมที่จะช่วยเสริมพัฒนาการลูกในด้านต่างๆ มาเล่นกับลูก อย่างของเล่นที่มีพื้นผิวต่างๆ ของเล่นที่มีเขย่าแล้วมีเสียง เพื่อจะได้ช่วยให้ลูกได้เข้าใจเรื่องของเหตุและผล(Cause & Effect) มากยิ่งขึ้น โดยระยะเวลาการเล่นควรอยู่ที่ประมาณ 30 นาที
2 P.M. นอนกลางวัน
หลังจากเล่นจนเหนื่อย ก็ได้เวลาพาเจ้าตัวเล็กอาบน้ำ แล้วก็ไปนอนพักผ่อนกัน ซึ่งเมื่อถึงเวลานอนของลูก คุณแม่ควรอุ้มลูกไปนอนที่นอนประจำของเขา เพื่อความคุ้นเคยจะทำให้ลูก หลับลงได้ง่ายขึ้น หากว่าลูกส่งเสียงร้อง คุณแม่อย่าเพิ่งรีบวิ่งเข้าไปอุ้ม หรือโอ๋ลูกในทันที ทิ้งเวลาไว้สักพัก เพื่อให้ลูกฝึกที่จะสงบลงด้วยตัวเอง
4 P.M. เล่นคนเดียว
เปิดเพลงฟังสบายๆ หรือดนตรีสำหรับเด็ก ขณะที่ลูกกำลังเล่นของเล่นชิ้นโปรด โดยที่มีคุณเฝ้าดูอยู่ใกล้ๆ แต่ไม่ได้เล่นอยู่ด้วย เพื่อเป็นการฝึกให้ลูกได้เรียนรู้ที่จะสนุกสนานตามลำพัง ซึ่งเป็นหนึ่งทักษะที่ดี ตราบเท่าที่คุณแม่มั่นใจว่าลูกจะปลอดภัย 100 % คุณก็สามารถใช้เวลานี้ เตรียมอาหารเย็นให้ลูก หรือทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ ตัวตัวของคุณแม่ได้อย่างหายห่วง
7 P.M. ช่วงเวลาสงบ
ให้ลูกนอนบนที่นอนของเขา แล้วเปิดโมบาย หรือจะชี้ให้ดูปลาตะเพียนที่แขวนไว้เหนือเปล พร้อมกับพูดคุยหยอกล้อเบาๆ กับลูก ก่อที่จะกล่อมให้ลูกหลับ คุณแม่อาจลองจับลูกให้นอนคว่ำอัสักครั้ง ก่อนจะจับให้นอนหงายเหมือนเดิม และเฝ้าดูลูกพยายามเอื้อมมือคว้าของเล่นที่แขวนไว้เหนือที่นอน
8 P.M. หลับฝันดี
หลังจากสนุกมาทั้งวัน ก็ได้เวลานอนหลับฝันดีของลูก หากคุณแม่ทำกิจวัตรประจำวันนได้เหมือนๆ หรือคล้ายคลึงกันทุกวัน จะช่วยให้ลูกยอมนอนหลับในเวลากลางคืนได้ง่ายขึ้น เมื่อลูกหลับแล้ว คุณแม่ก็อย่าลืมนอนพักเอาแรงด้วยนะคะ
Good to Know
การนอนคว่ำจะช่วยในเรื่องของพัฒนาการของกล้ามเนื้อคอและหลัง ยิ่งถ้าคุณแม่คุณพ่อ นื่นหน้าเข้าไปใกล้ๆ ระยะประมาณ 1 ฟุต พร้อมกับส่งเสียง พูดคุยและขยับใบหน้าไปมา ซ้ายขวา บนล่าง ลูกก็จะมองตาม หรือผงกศีรษะ ซึ่งจะช่วยเรื่องพัฒนาการด้านการมองเห็นได้เป็นอย่างดี
(Some images used under license from Shutterstock.com.)