
© 2017 Copyright - Haijai.com
แคลเซียม
แคลเซียมเป็นแร่ธาตุที่มีปริมาณมากที่สุดในร่างกาย โดยร่างกายได้รับแคลเซียมจากกากรับประทานอาหารตามปกติ ขนาดของแคลเซียมที่ควรได้รับในแต่ละวันแตกต่างกันไปตามอายุและสภาวะของร่างกาย (เช่น ตั้งครรภ์ ให้นมบุตร) โดยในผู้ใหญ่จะมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1000-1300 มิลลิกรัม
แหล่งของแคลเซียม
ร่างกายสะสมแคลเซียมในกระดูกและฟัน ดังนั้นอาหารที่มีกระดูกหรือฟันองค์ประกอบ เช่น ปลาตัวเล็กที่รับประทานทั้งตัว ปลากระป๋อง จึงเป็นแหล่งของแคลเซียมที่สำคัญ อาหารอื่นๆ ที่เป็นแหล่งของแคลเซียมคือ นมและผลิตภัณฑ์จากนม ผักใบเขียว เช่น ผักกาดขาว คะน้า บรอคโคลี ผักโขม และเต้าหู้ กะปิและเคยกะปิ
ร่างกายสามารถดูดซึมแคลเซียมได้ดีเมื่อได้รับแคลเซียมในปริมาณไม่มาก เช่น 500 มิลลิกรัมต่อครั้ง และนอกจากนี้การดูดซึมแคลเซียมยังขึ้นกับสารอาหารอื่นๆ เช่น ร่างกายดูดซึมแคลเซียมได้ดี เมื่อร่างกายได้รับวิตามินดีจากอาหาร หรือแสงแดดอย่างเพียงพอ กรดไฟเตตและออกซาเลตในอาหารบางชนิด (เช่น ผักโขม มันเทศ ถั่ว) มีผลยับยั้งการดูดซึมแคลเซียมในอาหารได้
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์แคลเซียมที่มีจำหน่ายอยู่ในรูปเกลือแคลเซียม เช่น เกลือคาร์บอเนท ซิเตรต แลคเตต กลูโคเนท เป็นต้น โดยผลิตภัณฑ์แคลเซียมมีทั้งในรูปแบบยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และผลิตภัณฑ์อาหารเสริมแคลเซียม เช่น นมเสริมแคลเซียม ธัญพืชผสมแคลเซียม นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ยาบางชนิดยังมีแคลเซียมเป็นส่วนประกอบ เช่น ยาลดกรด หรือยาที่อยู่ในรูปเหลือแคลเซียม
ผลของแคลเซียมต่อสุขภาพ
แคลเซียมเป็นแร่ธาตุจำเป็นต่อร่างกาย เนื่องจากเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของกระดูกและฟัน นอกจากนี้แคลเซียมในเลือดยังสำคัญต่อการหดตัวของหลอดเลือด การทำงานของกล้ามเนื้อ การส่งสัญญาณประสาท การส่งสัญญาณระหว่างเซลล์ และการหลั่งฮอร์โมนบางชนิดในร่างกาย ฮอร์โมนหลายชนิดทำหน้าที่ควบคุมปริมาณแคลเซียมในเลือด ให้คงที่และไม่แกว่งไปตามปริมาณแคลเซียมที่ร่างกายได้รับจากอาหาร โดยการดึงแคลเซียมออกจากกระดูกหรือนำแคลเซียมไปสะสมในกระดูก ดังนั้นการรับประทานแคลเซียมไม่เพียงพอหรือมากเกินไป จึงไม่ทำให้เกิดอาการแสดงหรือความผิดปกติต่อระดับแคลเซียมในเลือดอย่างเฉียบพลัน ภาวะแคลเซียมในเลือดสูงหรือต่ำเป็นภาวะที่เกิดจากความผิดปกติทางการแพทย์ เช่น แคลเซียมในเลือดต่ำเกิดจากภาวะไตวาย การผ่าตัด หรือการใช้ยาบางประเภท ซึ่งภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำอาจมีอาการชาที่ปลายนิ้ว เป็นตะคริว ชัก เพลีย ไม่อยากอาหาร และหัวใจเต้นผิดจังหวะ และอาจถึงแก่ชีวิตได้ อย่างไรก็ตามการรับประทานแคลเซียมไม่เพียงพอ ทำให้ร่างกายดึงแคลเซียมจากกระดูกมาใช้และทำให้กระดูกบางหรือพรุน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของกระดูกหัก ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการขาดแคลเซียม ได้แก่ สตรีวัยหมดประจำเดือน ผู้ที่ไม่ดื่มนม ผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติ
การรับประทานแคลเซียมในรูปแบบยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องอืด ท้องผูก โดยอาการดังกล่าวพบได้มากในผู้ที่รับประทานแคลเซียมคาร์บอเนท ในผู้ที่มีอาการข้างเคียงตามที่กล่าวมา อาจหลีกเลี่ยงไปใช้ผลิตภัณฑ์แคลเซียมที่เป็นเกลือชนิดอื่น และแบ่งรับประทานแคลเซียมครั้งละน้อย เช่น ครั้งละ 500 มิลลิกรัม วันละหลายๆ ครั้ง โดยรับประทานพร้อมอาหาร อย่างไรก็ตามการรับประทานแคลเซียมมากเกินขนาดที่ควรรับประทาน สร้างผลเสียต่อสุขภาพ โดยอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด อีกทั้งการรับประทานแคลเซียมมากกว่าวันละ 1500 มิลลิกรัม อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งต่อมลูกหมากได้ การรับประทานแคลเซียมร่วมกับการดื่มน้ำตามมากๆ ช่วยป้องกันนิ่วแคลเซียมในไตได้
แคลเซียมเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้อย่างกว้างขว้าง เพื่อการส่งเสริมสุขภาพการรับประทานแคลเซียมและวิตามินดี จากอาหารอย่างสม่ำเสมอ ร่วมกับการออกกำลังกาย สามารถป้องกันภาวะกระดูกพรุนในวัยชราได้ นอกจากนี้แคลเซียมยังอาจป้องกันมะเร็งลำไส้ได้ อย่างไรก็ตาม ไม่พบว่าแคลเซียมมีส่วนช่วยเพิ่มความสูงได้ และผลของแคลเซียมต่อการลดน้ำหนักยังไม่เป็นที่แน่ชัด
ปฏิกิริยาระหว่างยา
การขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะจะเพิ่มมากขึ้น เมื่อร่างกายได้รับโซเดียมและคาเฟอีน นอกจากนี้การดื่มแอลกอฮอล์จะลดปริมาณการดูดซึมแคลเซียมและการเปลี่ยนวิตามินดีให้อยู่ในรูปออกฤทธิ์ แคลเซียมยังรบกวนการดูดซึมยาหลายชนิด เช่น ยากระดูก bisphosphonates และ tiludronate disodium, ยาปฏิชีวนะ fluoroquinolone และ tetracycline, ยาไทรอยด์ levothyroxine และ ยากันชัก phenytoin นอกจากนี้ยาขับปัสสาวะ ยาระบาย และสเตียรอยด์ยังทำให้ร่างกายขาดแคลเซียมได้
ข้อแนะนำ
การรับประทานแคลเซียมจากอาหารอย่างสม่ำเสมอ ช่วยป้องกันภาวะกระดูกพรุนในวัยชราได้ หากแพทย์ส่งจ่ายยาแคลเซียม ควรรับประทานยาตามแพทย์สั่งและไม่ปรับขนาดยาเอง อาจแบ่งยารับประทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3-4 ครั้ง แทนการรับประทานยาครั้งละ 2-3 เม็ด วันละ 1-2 ครั้ง และรับประทานยาพร้อมอาหาร เพื่อลดอาการข้างเคียง ผู้ที่จะเริ่มรับประทานแคลเซียมหรือผู้ที่รับประทานยาแคลเซียมเป็นประจำ แล้วต้องรับประทานยาอื่น ควรสอบถามเภสัชกรทุกครั้ง เนื่องจากแคลเซียมเกิดปฏิกิริยากับยาอื่นได้มาก
เอกสารอ้างอิง
• Dietary Fact Sheet: Calcium. Office of Dietary Supplements. National Institutes of Health. Reviewed November, 2013.
ภก.ณัฐวุฒิ ลีลากนก
(Some images used under license from Shutterstock.com.)