© 2017 Copyright - Haijai.com
วัดสมรรถนะหัวใจ
หัวใจเป็นอวัยวะที่สำคัญมากต่อการดำรงชีวิต เนื่องจากทำหน้าที่สูบฉีดเลือดแดงไปเลี้ยงทั่วร่างกาย โดยปกติอัตราการสูบฉีดขณะพักจะอยู่ที่ประมาณ 5 ลิตรต่อนาที และ 22 ลิตรต่อนาทีในขณะออกกำลังกาย หัวใจทำงานทุกวินาทีไม่มีวันหยุด การขาดการดูแลสุขภาพที่ดีหรือการมีปัจจัยเสี่ยงบางอย่าง จึงอาจทำให้หัวใจเกิดปัญหา เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น ภาวะเหล่านี้ล้วนมีผลคุกคามถึงชีวิตทั้งสิ้น การประเมินสภาพร่างกายและหัวใจเพื่อวางแผนการดำดนินชีวิตจึงมีความสำคัญ ซึ่งในบทความนี้จะได้กล่าวถึงการทดสอบสมรรถภาพหัวใจ โดยใช้เครื่องออกกำลังกาย (exercise stress test)
วัตถุประสงค์ของการทดสอบสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย
• ประเมินว่ากล้ามเนื้อหัวใจมีเลือดมาเลี้ยงเพียงพอหรือไม่ ขณะที่ออกกำลังกาย ซึ่งในภาวะดังกล่าวกล้ามเนื้อหัวใจต้องการเลือดมากขึ้น การทดสอบสมรรถภาพด้วยวัตถุประสงค์นี้จะใช้ในการค้นหา ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดอันเป็นผลจากหลอดเลือดแดงโคโรนารีอุดตัน โดยแพทย์อาจจะทำการทดสอบก่อนท่จะส่งผู้ป่วยไปฉีดเส้นเลือดหัวใจ
• ประเมินว่าหัวใจเต้นผิดจังหวะระหว่างการออกกำลังกายหรือไม่
• หัวใจและสุขภาพร่างกายโดยรวมแข็งแรงหรือไม่
• สามารถออกกำลังกายได้มากน้อยเพียงใด
จากวัตถุประสงค์ดังกล่าว การทดสอบนี้จึงมีข้อบ่งชี้คือ
• วินิจฉัยว่าผู้ป่วยมีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือไม่
• คัดกรองผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
• ประเมินสมรรถภาพของร่างกายและหัวใจ ว่าควรจะออกกำลังกายแบบไหนดี ซึ่งจะทำในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดความผิดปกติของหัวใจระหว่างการออกกำลังกาย เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันเลือดสูง โรคระบบหลอดเลือดหัวใจผู้สูงอายุ เป็นต้น
การเตรียมตัวก่อนการทดสอบ
ก่อนทสี่จะเข้ารับการประเมินสมรรถภาพหัวใจ ผู้รับการประเมินควรเตรียมตัวดังนี้
• งดการรับประทานอาหารมื้อหนักๆ หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ โกโก้ ก่อนการทดสอบประมาณ 2 ชั่วโมง เนื่องจากสิ่งดังกล่าวจะไปรบกวนการแปลผล โดยอาหารมื้อหนักจะทำให้เลือดไปเลี้ยงที่ระบบทางเดินอาหารมากขึ้น ส่วนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีนจะไปกระตุ้นหัวใจ อย่างไรก็ตามในกรณีที่ผู้รับการประเมินหิวหรือป่วยด้วยบางโรค หรือภาวะบางอย่าง เช่น แผลในกระเพาะอาหาร อนุญาตให้ผู้รับการประเมินรับประทานอาหารอ่อน เช่น ข้าวต้มโจ๊ก หรือน้ำผลไม้ได้
• ผู้รับการประเมินควรสอบถามแพทย์ว่า ต้องหยุดยาที่ได้รับ เช่น ยารักษาโรคหัวใจ ยาลดความดันเลือดสูง เป็นต้น ก่อนทำการทดสอบหรือไม่
• สวมเสื้อผ้าที่เหมาะสมกับการทดสอบ เสื้อควรเป็นเสื้อที่มีกระดุมเปิดด้านหน้า เพื่อให้สะดวกในการติดอุปกรณ์และควรสวมรองเท้าผ้าใบ เพื่อความสะดวกในการเดิน
• ผู้รับการประเมินต้องลงนามในใบยินยอมเพื่อรับการทดสอบทุกครั้ง
ขั้นตอนการทดสอบ
หลังจากผ่านขั้นตอนการเตรียมตัว แพทย์จะตรวจประเมินว่าผู้รับการประเมินมีข้อห้ามในการทดสอบหรือไม่ เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ลิ้นหัวใจอักเสบติดเชื้อไทรอยด์เป็นพิษ เป็นต้น จากนั้นเจ้าหน้าที่จะติดเครื่องวัดความดันเลือด ชีพจร และคลื่นไฟฟ้าหัวใจบริเวณหน้าอก แล้วให้ผู้รับการประเมินออกกำลังกายตามวิธีที่กำหนด โดยชนิดของเครื่องมือที่ใช้ทดสอบสมรรถภาพหัวใจมี 2 ชนิด ได้แก่
• สายพานไฟฟ้า สามารถปรับตั้งโปรแกรมการทดสอบได้ โดยปรับระดับความเร็วและความชันของสายพานที่วิ่ง
• จักรยานไฟฟ้า ซึ่งปรับระดับความฝืดระหว่างถีบได้ การใช้จักรยานจะเหมาะกับผู้รับการประเมินที่มีปัญหาในการเดินและการทรงตัว เช่น อ้วนมาก ปวดเข่า เป็นต้น ทั้งยังมีต้นทุนถูกกว่าและประหยัดเนื้อที่มากกว่าสายพานไฟฟ้า
ระหว่างที่ผู้รับการประเมินออกกำลังกายตามวิธีที่กำหนด แพทย์จะบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (เริ่มตั้งแต่ก่อนทดสอบ) ตลอดจนมีการวัดความดันเลือดและชีพจรเป็นระยะๆ และจะหยุดการทดสอบหากเกิดกรณีใดกรณีหนึ่งต่อไปนี้
• ผู้รับการประเมินมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
• หัวใจเต้นถึงร้อยละ 85 ของอัตราการเต้นสูงสุดของหัวใจตามอายุ อย่างไรก็ตามในกรณีที่ทำการทดสอบเพื่อพิจารณาเลือกระดับการออกกำลังกายที่เหมาะสม อาจใช้เกณฑ์ที่ร้อยละ 70 ของอัตราการเต้นสูงสุดของหัวใจตามอายุ
• ผู้รับการประเมินไม่สามารถออกกำลังต่อได้
• มีภาวะที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้รับการประเมิน เช่น ความดันเลือดตก หัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดร้ายแรง เป็นต้น
ความปลอดภัยของการทดสอบ
การทดสอบสมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลังกาย เป็นวิธีที่ค่อนข้างปลอดภัย อย่างไรก็ตามอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ในสัดส่วนที่น้อยมาก ดังนี้
• เสียชีวิต (0.5 รายต่อ 10,000 ราย)
• กล้ามเนื้อหัวใจตาย (3.5 รายต่อ 10,000 ราย)
• หัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดรุนแรง (4.8 รายต่อ 10,000 ราย)
สิ่งที่ควรทราบ
ปัจจัยที่อาจรบกวนการแปลผลการทดสอบสมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลังกาย ได้แก่ การมีคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติตั้งแต่ก่อนออกกำลังกาย การรับประทานยา digoxin เป็นต้น
การทดสอบสมรรถภาพของหัวใจด้วยการออกกำลังกาย มีความไวต่อการตรวจจับความผิดปกติของหัวใจที่ร้อยละ 67 มีความจำเพาะต่อความผิดปกติหัวใจที่ร้อยละ 72 ทั้งนี้ระดับความผิดปกติที่เกิดขึ้นระหว่างการทดสอบ ไม่ได้บอกถึงความรุนแรงของการตีบหรือจำนวนหลอดเลือดหัวใจที่ตีบ
อ.พญ.วิลาวัณ ถิรภัทรพงศ์
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูหัวใจ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)