© 2017 Copyright - Haijai.com
ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
หายจากเลือดไหลไม่ทันไร แผลยังไม่แห้งดี จอมซ่าที่บ้านก็เล่นซนจนได้แผลใหม่ไฟไหม้น้ำร้อนลวกอีกแล้ว คราวนี้โชคร้ายหน่อยนอกจากจะโดนไฟไหม้แล้วซ้ำร้ายยังมีน้ำร้อนลวกอีกต่างหาก ทำไงดีล่ะ ที่นี้ เฮ้อ
เมื่อไฟไหม้น้ำร้อนลวก
แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกจัดเป็นแผลชนิดเดียวกับที่เรียกว่าบาดแผลลวก เป็นแผลที่เกิดจากความร้อนจากเปลวไฟหรือไฟไหม้ ความร้อนจากไอน้ำเดือดหรือของเหลวร้อน ความร้อนจากสารเคมี ความร้อนจากกระแสไฟฟ้าดูด หรือฟ้าผ่า ความร้อนจากรังสี มีอาการปวดแสบปวดร้อน ผิวหนังแดงพอง หรืออาจเป็นรอยไหม้เกรียม สำหรับรอยไหม้ที่เกิดจากไฟฟ้าดูดต้องระวังว่าอาจทำให้เด็กๆ เกิดสภาวะหยุดหายใจได้
เมื่อลูกเกิดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกให้ทำตามนี้
ถอดหรือตัดเสื้อผ้าบริเวณที่ถูกไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวก แต่ถ้าบางส่วนติดแน่นกับผิวหนังไม่ควรดึงออก ควรใช้น้ำเย็นราดบริเวณผิวหนังที่ถูกความร้อน เพื่อลดความร้อนที่จะไปทำลายผิวหนัง ถ้าปวดแสบปวดร้อนให้ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งวางประคบตรงบริเวณแผล หรือปิดด้วยผ้าพันแผลเพื่อป้องกันมิให้ถูกอากาศภายนอก โดยใช้น้ำมันมะพร้าว น้ำมันมะกอก หรือ ขี้ผึ้ง วาสลิน ทาบนผ้าพันแผลปิดบริเวณแผล ถ้าถูกสารเคมีต้องรีบล้างสารเคมีนั้นออกจากผิวหนังด้วยน้ำสะอาดโดยเร็วที่สุด ถ้ากระหายน้ำให้ดื่มน้ำเล็กน้อย และไม่ควรให้น้ำเย็นจัด ถ้ามีอาการมากต้องรีบนำส่งแพทย์โดยเร็ว
ระวังอาการแทรกซ้อน
ภาวะแทรกซ้อนของแผลชนิดนี้ ในระยะ 2-3 วันแรก คือ ภาวะขาดน้ำและช็อก วันต่อมาอาจต้องให้น้ำเกลือ และพลาสมา ส่วนการติดเชื้ออาจเกิดขึ้นหลังจากมีบาดแผล 2-3 วันไปแล้ว ถ้าบาดแผลมีขนาดกว้างก็มีโอกาสติดเชื้อรุนแรง เพราะฉะนั้นคุณแม่จะต้องระวัง และถ้าเห็นว่าลูกมีอาการไม่สู้ดีนักให้นำส่งแพทย์โดยด่วน
การเกิดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกในเด็ก ถือว่ามีความเสี่ยงค่ะ เพราะฉะนั้นทางที่ดี ควรป้องกันบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก โดยอย่าให้เด็กเล็กเล่นในห้องครัว อย่าวางกาน้ำร้อน หม้อน้ำแกง กระติกน้ำร้อน นม เครื่องดื่มหรืออาหารร้อนๆ ไว้ใกล้มือเด็กเป็นอันขาด
(Some images used under license from Shutterstock.com.)