Haijai.com


ความดันต่ำขณะตั้งครรภ์


 
เปิดอ่าน 8526

ความดันต่ำขณะตั้งครรภ์

 

 

การเปลี่ยนแปลงของร่างกายในหญิงตั้งครรภ์นั้น ไม่เพียงแต่มีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายภายนอกเท่านั้น แต่ยังมีการเปลี่ยนแปลงของระบบการทำงานต่างๆ ของร่างกาย ยกตัวอย่างเช่น ระบบต่อมไร้ท่อส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ระบบหายใจส่งผลต่อการใช้ออกซิเจนและการเผาผลาญพลังงาน เป็นต้น นอกจากนี้ระบบหัวใจและหลอดเลือดก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก มีปริมาตรเลือดเพิ่มมากขึ้น มวลเม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีการไหลเวียนของเลือดมากขึ้น ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของความดันโลหิต และการเต้นของหัวใจ 

 

 

ความดันโลหิตปกติของคนทั่วไปคือ 120/80 mmHg แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงที่ระดับความดันโลหิตลดลงกว่า 20 mmHg หรือต่ำกว่า 100/60 จะถือว่าความดันต่ำ การเปลี่ยนแปลงของความดันที่ต่ำลงกว่าปกติมากจะส่งผลให้เกิดภาวะช็อค อย่างไรก็ตามในบางคนที่ระดับความดันปกติของเขาต่ำกว่าระดับความดันปกติของคนทั่วไป ภาวะนี้จึงไม่ได้ส่งผลต่อร่างกาย และไม่ได้ทำให้เกิดอันตรายต่อบุคคลคนนั้น ภาวะความดันโลหิตต่ำจึงใช้นิยามในคนที่มีความดันต่ำลงกว่าค่าปกติของคนนั้น และส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อร่างกาย

 

 

ในหญิงตั้งครรภ์จะมีการเปลี่ยนแปลงของระดับความดันโลหิตอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของปริมาตรเลือด อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงนี้ส่วนมากจะถือเป็นปกติและไม่ส่งผลเสียต่อร่างกาย ยกเว้นในรายที่มีอาการผิดปกติดังต่อไปนี้ ซึ่งต้องปรึกษาแพทย์

 

 

 เวียนศีรษะ

 

 

 เป็นลม

 

 

 หัวใจเต้นผิดปกติ

 

 

 การมองเห็นผิดปกติ

 

 

 คลื่นไส้

 

 

 ผิวซีดเย็น

 

 

 หายใจหอบตื้น

 

 

 อ่อนเพลีย ซึมลง

 

 

ในคุณแม่ที่มีอาการผิดปกติ หรือมีภาวะความดันโลหิตต่ำเรื้อรัง อาจส่งผลให้คลอดก่อนกำหนด และทารกแรกเกิดมีน้ำหนักตัวน้อย ดังนั้นการดูแลครรภ์อย่างใกล้ชิดจากสูติแพทย์จึงเป็นสิ่งสำคัญ คุณแม่อาจต้องมารับการตรวจครรภ์ถี่ขึ้นกว่าหญิงตั้งครรภ์ปกติทั่วไป และอาจได้รับยาหรือการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริงของภาวะความดันต่ำ สาเหตุที่พบได้ ได้แก่ โรคหัวใจ และโรคของต่อมไร้ท่อ เป็นต้น

 

 

มรว.นพ.ทองทิศ ทองใหญ่

(Some images used under license from Shutterstock.com.)