
© 2017 Copyright - Haijai.com
เลือดกำเดาไหลจากโพรงจมูก
เลือดกำเดาไหล (Epistaxis) หมายถึง การที่มีเลือดออกจากโพรงจมูก ทางด้านหน้าหรือด้านหลังโพรงจมูก อาจออกข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ เป็นภาวะที่สามารถพบได้ทุกเพศ ทุกวัย มักพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง และมักพบในช่วงฤดูที่มีอากาศหนาวมากกว่าฤดูอื่นๆ เนื่องจากในฤดูหนาวมีความชื้นในอากาศที่ลดลง และมีอุบัติการณ์ของหวัดหรือการอักเสบติดเชื้อ ของทางเดินหายใจส่วนต้นเพิ่มขึ้น เป็นการยากที่จะประมาณอุบัติการณ์ของเลือดกำเดาไหล ในประชากรทั่วไป เนื่องจากภาวะนี้อาจหายได้เอง หรือดีขึ้นได้เอง โดยการดูแลรักษาตามอาการโดยไม่ต้องมาพบแพทย์
ภาวะเลือดกำเดาไหล อาจมีสาเหตุโดยตรงจากโรคของจมูก ไซนัสหรือผลจากโรคอื่น ผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ด้วยปัญหานี้ สามารถแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ 2 กลุ่มคือ
1.กลุ่มที่มีเลือดออกจำนวนน้อยๆ และหยุดได้เอง แต่เป็นมาแล้วหลายครั้ง มักจะเป็นเด็ก วันรุ่น หรือผู้ใหญ่อายุน้อย ที่มีเลือดออกมาจากจมูกทางส่วนหน้า
2.กลุ่มที่มีเลือดออกจากจมูกเพียงครั้งเดียว แต่มีจำนวนเลือดมากและไม่สามารถหยุดได้เอง มักจะเป็นผู้ป่วยสูงอายุที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว เช่น ความดันโลหิตสูง และเลือดที่ออกมักจะมาจากโพรงจมูกทางส่วนหลัง
ตำแหน่งที่พบเลือดกำเดาไหล แบ่งได้เป็น
• เลือดออกจากด้านหน้าของโพรงจมูก ซึ่งพบได้ร้อยละ 90 ของเลือดกำเดาไหลทั้งหมด มักพบในเด็กและวัยรุ่นที่มีประวัติแคะจมูก หรือมีเยื่อบุจมูกอักเสบ ส่วนมากเลือดมักออกจากบริเวณผนังกั้นช่องจมูกด้านหน้า ซึ่งเป็นบริเวณที่มีหลอดเลือดหลายแขนงรวมกัน ตำแหน่งนี้สามารถมองเห็นได้ง่าย จากการตรวจโพรงจมูกทางด้านหน้า
• เลือดออกจากด้านหลังของโพรงจมูก คือ มีเลือดไหลลงคอ มักจะมีอาการรุนแรงกว่า และพบได้ในผู้ป่วยสูงอายุที่มีความดันโลหิตสูง ซึ่งมีภาวะหลอดเลือดแข็งร่วมด้วย หรือพบในผู้ป่วยที่มีเนื้องอกบริเวณโพรงหลังจมูกที่มีเลือดมาเลี้ยงมาก เป็นต้น โดยเลือดมักออกจากแขนงหลอดเลือดใหญ่ทางด้านหลังโพรงจมูก ตำแหน่งนี้สามารถมองเห็นได้จากการส่องกล้องตรวจในโพรงจมูก
• เลือดออกจากด้านบนของโพรงจมูก เลือดออกจากตำแหน่งนี้ มักพบได้น้อยกว่า 2 ชนิดแรก โดยอาจเกิดจากการผ่าตัดไซนัส อุบัติเหตุบริเวณศีรษะ หรือเนื้องอกบางชนิด เป็นต้น
สาเหตุของเลือดกำเดาไหล
• สาเหตุเฉพาะที่ ได้แก่
- การระคายเคือง หรือบาดเจ็บบริเวณจมูก เช่น การแคะจมูกที่ทำบ่อยจนติดเป็นนิสัย ผู้ที่มีนิสัยชอบแคะจมูกมักจะมีน้ำมูกแห้งกรัง เมื่อแคะออกจะเกิดแผลถลอก และอาจเป็นแผลเรื้อรัง โดยเฉพาะส่วนด้านหน้าของผนังกั้นช่องจมูก การได้รับแรงกระแทกที่จมูก (ซึ่งอาจมีกระดูกของจมูกแตกหักร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้) การผ่าตัดในโพรงจมูก เช่น การผ่าตัดเยื่อบุจมูก การผ่าตัดโพรงไซนัส การสั่งน้ำมูกแรงๆ หรือมีการเปลี่ยนแปลงความกดอากาศอย่างรวดเร็ว เช่น ระหว่างขึ้นเครื่องบินหรือดำน้ำ เป็นต้น
สาเหตุดังกล่าวนี้ จะทำให้เลือดออกจากจมูก เนื่องจากมีการฉีกขาดของเยื่อบุโพรงจมูก เลือดที่ออกมักมีปริมาณไม่มาก และออกเป็นระยะเวลาสั้นๆ อาจมีเลือดออกซ้ำในช่วงระยะที่กำลังหายได้ การบาดเจ็บบริเวณศีรษะและใบหน้าอย่างรุนแรง (ซึ่งอาจโดนที่จมูกโดยตรงหรือโพรงไซนัส) จะทำให้เลือดออกจากจมูกเป็นปริมาณมากในระยะแรกได้ แต่ถ้ามีเลือดออกจากจมูกหลังจากการบาดเจ็บในระยะเวลาเป็นสัปดาห์ ควรนึกถึงเส้นเลือดโป่งพองที่เกิดจากอุบัติเหตุด้วย ส่วนภาวะอากาศหนาว ความชื้นต่ำจะทำให้เยื่อบุจมูกแห้ง และมีแนวโน้มที่จะทำให้มีการระคายเคืองและเลือดออกได้ง่าย
- การอักเสบในโพรงจมูก เช่น การติดเชื้อไวรัสโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ สิ่งแปลกปลอมในจมูก การสัมผัสกับสารระคายเคืองต่างๆ ฯลฯ ซึ่งสาเหตุดังกล่าวเหล่านี้ จะทำให้มีเลือดคั่งที่เยื่อบุจมูก และ/หรือ เยื่อบุไซนัสมากกว่าปกติ และเส้นเลือดแตกได้ง่าย เลือดที่ออกจากสาเหตุนี้ มักจะปนมากับน้ำมูก แต่ถ้าความรุนแรงของการอักเสบเพิ่มขึ้น หรือผู้ป่วยสั่งน้ำมูกแรงๆ ก็อาจจะมีเลือดออกมาได้
- ความผิดปกติทางกายวิภาค เช่น ผนังกั้นช่องจมูกคด หรือมีกระดูกงอก หรือมีรูทะลุ ทำให้เกิดความไม่สมดุลของอากาศที่ผ่านเข้าออก ผู้ป่วยมักมีเลือดกำเดาไหลข้างที่มีผนังกั้นช่องจมูกคดหรือข้างที่แคบ เนื่องจากข้างที่แคบมีลมหายใจหรืออากาศผ่านเข้า-ออกมากและเร็วกว่า ทำให้เยื่อบุจมูกบริเวณดังกล่าวแห้ง มีสะเก็ด และเปราะบาง ทำให้มีเลือดออกได้ง่าย จุดที่มักจะเกิดเลือดออกมักเป็นที่ตำแหน่งทางด้านหน้าของบริเวณที่มีการคดงอ หรือมีกระดูกงอก
- เนื้องอก เช่น มะเร็งในจมูก ไซนัส หรือโพรงหลังจมูก หรือเนื้องอกชนิดไม่ร้ายที่มีเส้นเลือดมาเลี้ยงมาก อาจทำให้ผู้ป่วยมีเลือดออกจากจมูกได้ ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีอาการเลือดออกจากจมูกเป็นๆ หายๆ หรือเลือดออกจมูกเป็นปริมาณมาก ควรได้รับการส่องกล้องตรวจในโพรงจมูก หรือได้รับการตรวจเอกซเรย์ว่า มีเนื้องอกเป็นสาเหตุหรือไม่
- ความผิดปกติของหลอดเลือดที่มาเลี้ยงจมูก เช่น เส้นเลือดโป่งพองที่เกิดจากอุบัติเหตุ หรือความผิดปกติของเส้นเลือดแดงและดำ ที่มาเชื่อมต่อกันจากอุบัติเหตุ เป็นต้น
• สาเหตุจากโรคระบบอื่นๆ ได้แก่
- โรคเลือดชนิดต่างๆ เช่น ความผิดปกติในการแข็งตัวของเลือด เช่น ฮีโมฟีเลีย โรคตับแข็ง การได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือด การขาดวิตามินเค ภาวะเกร็ดเลือดต่ำ หรือทำงานบกพร่อง เช่น ได้รับยาแอสไพริน หรือ NSAIDs เป็นต้น
- โรคของหลอดเลือด เช่น โรคทางพันธุกรรมบางชนิด ที่มีความผิดปกติของหลอดเลือดทั่วร่างกาย หรือผู้ป่วยที่มีภาวะเส้นเลือดแข็งตัว ซึ่งพบบ่อยในโรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น
• ชนิดที่ยังไม่ทราบสาเหตุ พบได้ราวร้อยละ 10
การห้ามเลือด
การกดบีบ เป็นการปฐมพยาบาลเบื้องต้น สำหรับผู้ป่วยเลือดกำเดาไหล โดยให้ผู้ป่วยเงยหน้าหรือก้มหน้าลง และให้ผู้ป่วยใช้นิ้วชี้ และหัวแม่มือ บีบปีกจมูกทั้งสองข้างให้แน่นเป็นเวลา 5-10 นาที โดยให้หายใจทางปากแทน เพื่อกดบริเวณด้านหน้าของผนังกั้นช่องจมูก ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีเลือดออกบ่อยที่สุด อาจใช้น้ำแข็งหรือผ้าเย็นประคบบริเวณจมูกด้านนอก ถ้ามีเลือดไหลลงคอ ให้บ้วนใส่ภาชนะ เพื่อประเมินจำนวนเลือด และป้องกันการอาเจียนจากการกลื่นเลือดเข้าไปมาก
หลังเลือดกำเดาไหล ภายใน 24-48 ชั่วโมงแรก ถ้าเลือดหยุดแล้ว ควรนอนพัก ยกศีรษะสูง นำน้ำแข็งหรือ cold pack มาประคบบริเวณหน้าผากหรือคอ หลีกเลี่ยงการสั่งน้ำมูกแรงๆ การแคะจมูก การกระทบกระเทือนบริเวณจมูก การออกแรงมาก การเล่นกีฬาที่หักโหม หรือยกของหนัก เพราะอาจทำให้มีเลือดออกได้ ถ้าเลือดออกไม่หยุดหรือออกมากผิดปกติ ผู้ป่วยควรรีบไปโรงพยาบาล เพื่อปรึกษาแพทย์ทันที
การตรวจรักษา
สิ่งที่แพทย์จะคำนึงถึงเป็นอันดับแรก คือ การประเมินทางเดินหายใจ และระบบไหลเวียนโลหิตเบื้องต้น และแก้ไขอย่างทันท่วงที เช่น การเปิดทางเดินหายใจให้โล่ง การให้สารน้ำทางหลอดเลือด การจองเลือด ไปพร้อมๆ กับการห้ามเลือด แล้วจึงค้นหาสาเหตุของเลือดกำเดาไหล
การกดบีบเป็นการปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับผู้ป่วยเลือดกำเดาไหล โดยให้ผู้ป่วยเงยหน้าหรือก้มหน้าลงและให้ผู้ป่วยใช้นิ้วชี้ และหัวแม่มือบีบปีกจมูกทั้งสองข้าง ให้แน่นเป็นเวลา 5-10 นาที โดยให้หายใจทางปากแทน
โดยทั่วไปแล้วเราอาจบ่างระดับความรุนแรงของเลือดกำเดาไหลออกเป็น
ระดับน้อย หมายถึง มีเลือดออกปริมาณน้อย ไม่สามารถวัดปริมาณได้จัดเจน เช่น เปื้อนผ้าเช็ดหน้า หรือกระดาษชำระ และมักหยุดได้เอง
ระดับปานกลาง หมายถึง เลือดออกมากขึ้น และระบุปริมาณได้ เช่น มากกว่า 100 มล. หรือเปรียบเทียบเป็นครึ่งแก้วน้ำดื่ม เป็นต้น ส่วนสัญญาณแสดงชีพยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ
ระดับรุนแรง หมายถึง เลือดออกมาก จนมีอาการแสดงของระดับสารน้ำในหลอดเลือดต่ำ หรือมีหน้ามืด เป็นลมเวลาเปลี่ยนท่า และรวมถึงกลุ่มที่เลือดไหลไม่หยุด แม้ว่าได้รับการห้ามเลือดโดยใช้ผ้ากอซใส่ในโพรงจมูกทั้งทางด้านหน้าและหลังแล้ว
ในส่วนของการห้ามเลือด ผู้ป่วยที่ตำแหน่งเลือดออกอยู่ด้านหน้า แพทย์จะจัดให้อยู่ในท่านั่งและมีแสงสว่าง ที่จะส่องให้ถึงบริเวณที่ตรวจเพียงพอ และจะเตรียมยาชา เครื่องดูดเลือดและเสมหะ วัสดุที่จะใช้หยุดเลือดหรือใช้จี้บริเวณที่เลือดออก แล้วจึงเริ่มตรวจจมูก ดูดลิ่มเลือดที่ค้างอยู่ภายในโพรงจมูกออกมา หลังจากนั้นจะใช้สำลีชุบยาหดหลอดเลือดใส่เข้าไปในโพรงจมูก เพื่อห้ามเลือด
ผู้ป่วยที่ตำแหน่งเลือดออกอยู่ด้านหลัง แพทย์จะเริ่มตั้งแต่การห้ามเลือดทางด้านหน้า และหลังโพรงจมูก โดยใช้ผ้ากอซอัดเข้าไปในโพรงจมูก ถ้าไม่สามารถหยุดเลือดได้ อาจผูกเส้นเลือดแดง หรือพิจารณาอุดหลอดเลือด โดยใช้สารอุดหลอดเลือด ส่วนการใช้กล้องส่องโพรงจมูกนั้นเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากสามารถเห็นตำแหน่งที่มีเลือดออกได้ชัดเจน โดยเฉพาะบริเวณโพรงจมูกด้านหลัง และอาจใช้ร่วมกับการจี้จุดเลือดออก
ประวัติที่ได้จากผู้ป่วยหรือผู้ใกล้ชิด จะมีความสำคัญสำหรับแพทย์ในการวินิจฉัยสาเหตุ แต่ถ้าผู้ป่วยกำลังมีอาการเลือดออกอยู่ แพทย์จะทำการรักษาไปพร้อมกับการซักประวัติ เช่น ปริมาณ ความรุนแรง ระยะเวลา ความถี่บ่อยของเลือดที่ออก และด้านของจมูกที่มีเลือดออก อาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ประวัติการบาดเจ็บบริเวณจมูก ประวัติสุขภาพโดยรวม ประวัติการเจ็บป่วยในครอบครัว การสูบบุหรี่ ดื่มสุราหรือการใช้ยา
จากนั้นแพทย์จะตรวจร่างกายทั่วไป ตรวจศีรษะและลำคอ ตรวจในโพรงจมูกโดยใช้กล้องส่อง โดยตรวจทั้งก่อนและหลังใช้ยาหดหลอดเลือด เฉพาะที่พ่อหรือป้ายในโพรงจมูก การส่งตรวจพิเศษอื่นๆ เช่น การตรวจหาระดับการแข็งตัวของเลือด ปริมาณและการทำงานของเกร็ดเลือด ส่วนในกรณีที่ต้องการประเมินลักษณะทางกายวิภาคในโพรงจมูก หรือสงสัยว่าผู้ป่วย อาจเป็นเนื้องอกหรือมะเร็ง อาจส่งตรวจทางรังสีวิทยา เช่น CT scan หรือ MRI
ภาวะเลือดกำเดาไหล เป็นภาวะที่พบได้บ่อยและเป็นภาวะฉุกเฉินทางหู คอ จมูก ที่ผู้ป่วยควรรักษาเบื้องต้นได้ สาเหตุส่วนใหญ่ เกิดจากการแคะจมูกหรือการอักเสบในโพรงจมูก โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่อายุน้อย การดูแลรักษาที่ต้องปฏิบัติอย่างทันท่วงที คือ การห้ามเลือด และประเมินปริมาณเลือดที่เสียไป เพื่อที่จะให้ทดแทนอย่างเหมาะสม และพบแพทย์เพื่อรักษาตามสาเหตุ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)