Haijai.com


จัดการกับความกลัวของลูก


 
เปิดอ่าน 2695

จัดการกับความกลัวของลูก Handling with Child Fears

 

 

ถ้ามองจากสายตาของผู้ใหญ่แล้ว อาการหวาดกลัวต่างๆ ของเด็กๆ  อาจจะเป็นเพียงเรื่องไร้สาระ หรือเป็นไปตามจินตนาการที่เด็กสร้างขึ้นมา ผู้ใหญ่อย่างคนเป็นพ่อเป็นแม่นั้นอาจจะลืมเลือนไปแล้วว่า เมื่อครั้งที่ยังเป็นเด็กนั้น ความกลัวมันรบกวนจิตใจมากแค่ไหน และการมีผู้ใหญ่คนใกล้ชิดและพ่อแม่คอยเข้าใจและปลอบโยนนั้น มันช่วยให้รู้สึกดีขึ้นมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ

 

 

เด็กๆ กับความกลัว

 

ด้วยบุคลิกที่แตกต่างกันออกไปของเด็กๆ จึงทำให้ในบางครั้งพ่อแม่คนใกล้ชิดไม่สามารถสังเกตเห็นว่าลูกกำลังมีอาการกลัว มีบ้างที่เด็กบางคนแสดงออกมาด้วยอาการร้องไห้วิ่งเข้าหาพ่อแม่ แต่ก็มีอีกมากเหมือนกันที่ไม่ได้แสดงอาการแบบนั้นออกมา ซึ่งทำให้เราไม่สามารถรู้ได้ว่าเด็กๆ กำลังตกอยู่ในภาวะที่กลัวอะไรอยู่ หรือไม่

 

 

5 สัญญาณบอกอาการกลัวของเด็กๆ

 

1.พูดตะกุกตะกักจากที่เคยพูดคล่อง

 

 

2.พฤติกรรมเปลี่ยน ความกระตือรือร้นที่จะทำนั่นทำนี่หายไป

 

 

3.ซึมพูดน้อยลงและไม่เล่นกับเพื่อนเหมือนเคย

 

 

4.กลายเป็นเด็กมีปัญหา พูดจาไม่รู้เรื่อง

 

 

5.มีเหงื่อออกมากผิดปกติ

 

 

เด็กๆ กลัวอะไรบ้าง

 

 เด็กกลัวความมืด เมื่อยามค่ำคืนมาเยือนเด็กๆ มักจะจินตนาการไปมากมาย เพราะฉะนั้นเมื่อคุณปิดไฟ จึงทำให้ลูกเกิดอาการกลัว

 

 

 เด็กกลัวสกปรก เด็กที่รักความสะอาดมักจะแสดงอาการอยากเช็ดหรือล้างมือที่เขาเห็นว่าเปรอะเปื้อนอยู่ และส่วนหนึ่งหลีกเลี่ยงที่จะสัมผัสกับสิ่งสกปรกอย่างเด็ดขาด

 

 

 เด็กกลัวความล้มเหลว เด็กบางคนมักไม่ชอบทำอะไรใหม่ๆ เพราะกลัวว่าสิ่งที่ทำนั้นจะไม่ประสบความสำเร็จ

 

 

 เด็กกลัวการพลัดพราก อาการมักเกิดขึ้นกับเด็กๆ วัยตั้งแต่ 3 ขวบขึ้นไป เด็กๆ จะเรียนรู้ได้แล้วว่าเวลาไหนที่จะได้อยู่กับพ่อแม่และเวลาไหนที่พ่อแม่จะไม่อยู่ด้วย

 

 

 เด็กกลัวคนแปลกหน้า เด็กที่ยังไม่คุ้นเคยกับการพบปะสมาคมกับคนแปลกหน้ามักจะเกิดอาการนี้ขึ้นมาบ่อยๆ แสดงออกด้วยอาการประหม่าและเขินอายเมื่ออยู่ท่ามกลางคนแปลกหน้าหรือคนที่ไม่คุ้นเคย

 

 

 เด็กกลัวสูญเสียความรัก การลงโทษลูกบางครั้งก็อาจทำให้พวกเขาคิดว่าพ่อแม่ไม่รัก เพราะสภาพอารมณ์ของพ่อแม่ขณะที่ทำท่านั้นจะแตกต่างออกไปจากที่เด็กๆ เคยเห็นและเป็นที่มาของการกลัวว่าพ่อแม่จะไม่รัก

 

 

 เด็กกลัวเจ็บ เด็กบางคนไม่กล้าที่จะเล่นอะไรเสี่ยงภัยหรือเล่นอันตราย เพราะกลัวว่าจะได้รับบาดเจ็บ และเกิดอาการเจ็บปวดขึ้นจากการเล่นนั้น

 

 

 เด็กกลัวหมากลัวแมวและสัตว์อื่นๆ ความทรงจำบางอย่างที่เลวร้ายเกี่ยวกับสัตว์ประเภทต่างๆ หรืออาจเกิดจากการมีประสบการณ์ที่เคยโดนสัตว์ประเภทนั้นๆ ทำร้ายมา

 

 

 เด็กกลัวการอาบน้ำ อาการกลัวการอาบน้ำของเด็กๆ นั้นมักเกิดขึ้นจากเวลาที่อาบน้ำนั้น มีสบู่หรือแชมพูเข้าตาและเกิดการระคายเคือง บางครั้งก็เกิดจากอุณหภูมิของน้ำที่ร้อนหรือเย็นจนเกินไป หรืออ่างน้ำขนาดใหญ่ที่มีรูปทรงแปลกประหลาด

 

 

เด็กๆ วัยไหนกลัวอะไรกันบ้าง

 

อายุ

อาการกลัว

1 ปี

กลัวคนแปลกหน้า  เวลาเจอคนไม่คุ้นเคยมักจะหลบ

2 ปี

กลัวพลัดพรากจากพ่อแม่ เพราะเด็กวัยนี้เริ่มห่างจากพ่อแม่แล้ว

3  ปี

กลัวความมืด เนื่องจากเด็กวัยนี้เริ่มมีจินตนาการแล้ว

4 ปี

กลัวด้อยกว่าคนอื่น เมื่อเริ่มออกสู่สังคมและไปโรงเรียนเด็กวัยนี้จะเริ่มเปรียบเทียบตัวเองกับเพื่อนๆ

5 ปี

กลัวหมอ กลัวหมอฟัน เนื่องจากเริ่มที่จะเรียนรู้ชีวิตความเป็นจริงมากขึ้น

6 ปี

กลัวการล้มเหลว กลัวสอบตก เด็กวัยเรียนจะเริ่มกลัวสิ่งที่เริ่มทำใหม่ๆ หรือสิ่งที่เป็นความท้าทายอย่างการสอบ

7 ปี

กลัวเพื่อนไม่ยอมรับ เนื่องจากเป็นวัยที่มีเพื่อนและมีการรวมกลุ่มแล้ว ฉะนั้นการยอมรับจากเพื่อนๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญของเด็กวัยนี้

8 ปี

ความกลัวเริ่มหายไปเพราะเริ่มจะเข้าใจชีวิตจริงและมีประสบการณ์การกลัวที่ผ่านมาทั้งหมดแล้ว

 

 

จัดการกับความกลัวของเด็กๆ

 

 เข้าใจความกลัวของลูก

 

พ่อแม่บางคนมักจะมองว่าความกลัวของเด็กๆ เป็นเรื่องตลก แต่สำหรับเด็กๆ ความกลัวคือเรื่องจริงจังมากเพราะฉะนั้นพ่อแม่ควรเข้าใจตรงนี้ก่อน แสดงให้เห็นว่าคุณเข้าใจและพร้อมจะอยู่ข้างๆ เมื่อลูกเกิดความกลัว และคอยให้กำลังใจ ความกลัวนั้นจะค่อยๆ หายไปในที่สุด

 

 

 ช่วยลูกให้รู้จักผ่อนคลาย

 

การทำให้จิตใจของลูกสงบนิ่งจะช่วยบรรเทาความกลัวได้ เด็กที่กลัวมากๆ มักจะเกิดความเครียดตามมาด้วย ฉะนั้นคุณควรพยายามช่วยลูกผ่อนคลายกล้ามเนื้อต่างๆ รวมทั้งฝึกการหายใจให้ลูกด้วย

 

 

 ฝึกขจัดความกลัว

 

การเผชิญหน้ากับความกลัวคือการจัดการกับความกลัวได้ดีที่สุด ลูกจะได้เรียนรู้วิธีเอาชนะความกลัวที่มีอยู่ พ่อแม่มีส่วนสำคัญมากในเรื่องนี้ในการช่วยฝึกและร่วมกันเผชิญหน้ากับความกลัวนั้นพร้อมๆ กับลูก  แสดงให้ลูกเห็นว่าเราสามารถจัดการกับความกลัวได้ โดยมีพ่อแม่คอยอยู่ข้างๆ ให้กำลังใจ

 

 

 ชมเชยลูก

 

เมื่อคุณได้ช่วยเหลือและเริ่มเห็นแล้วว่าลูกสามารถจัดการกับความกลัวได้ ให้เตือนลูกทุกครั้งเพื่อให้เขาพยายามกำจัดความกลัวเรื่อยๆ ที่สำคัญอย่าลืมหมั่นชมเชยและให้กำลังใจลูกทุกครั้ง

 

 

แค่ Fear หรือ Phobia

 

ความกลัวมีสองประเภทคือ กลัวแบบทั่วไป (Fear) และความหวาดวิตก (Phobia) การกลัวแบบทั่วไป สามารถเกิดขึ้นได้เสมอในเด็กในบางสถานการณ์ เป็นความกลัวที่ไม่รุนแรง ไม่ยืดเยื้อหายไปด้วยความเข้าใจและการปลอบโยนจากพ่อแม่ ส่วนอาการหวาดวิตกนั้นจะเกิดได้น้อยในเด็ก เป็นความกลัวที่รุนแรง มีอาการตัวสั่นเมื่อเห็นสิ่งที่กลัว และเป็นยืดเยื้อนานเป็นปีๆ รวมทั้งมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของเด็กๆ ด้วย ลองสังเกตดูว่าลูกกลัวแบบไหน แล้วหาทางจัดการ

 

 

วณิชยา ถิ่นนาเวียง

(Some images used under license from Shutterstock.com.)