© 2017 Copyright - Haijai.com
เจ้าตัวเล็กจอมละเมอ Sleepwalking
เรื่องในยามค่ำคืน นอกจากการนอน การฝัน และการนอนไม่หลับแล้ว อีกอย่างหนึ่งที่จะไม่พูดไม่ได้คือการนอนละเมอ อาการนอนละเมอนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่อาการนอนละเมอที่ว่าเกิดขึ้นกับคุณหนูๆ บ้านไหน อย่างไรแล้วเสียคุณพ่อคุณแม่คงจะอดกังวลใจไม่ได้ว่าในยามค่ำคืนที่ทุกคนหลับใหลนั้น เจ้าตัวเล็กจะละเมอเผลอไหลไปถึงที่ไหนกันแล้ว
เจ้าตัวดีจอมละเมอ
คุณพ่อคุณแม่มักจะคิดกันว่าเด็กๆ ที่นอนละเมอนั้นเกิดจากอาการฝันแล้วลุกเดิน แท้ที่จริงแล้ว การนอนละเมอมักจะเกิดขึ้นในชั่วโมงแรกของการนอนหลับหรือในช่วงที่เรียกว่าการนอนหลับลึก และไม่ใช่ว่าคนที่นอนละเมอทุกคนนั้นจำเป็นจะต้องลุกเดิน บางคนที่นอนละเมอนั้นจะแสดงอาการทั้งการลุกนั่งกระดิกขา หรือพูดจาอะไรบางอย่างในขณะที่หลับอยู่ ซึ่งอาการรวมๆ เหล่านั้น ทั้งเดิน นั่ง หรือพูดจาจะเป็นอยู่อย่างนั้นในช่วงไม่กี่วินาทีหรือนานกว่านั้นตั้งแต่ครึ่งชั่วโมงถึง 1 ชั่วโมง
ทำไมน้า นอนละเมอ
เด็กๆ หรือผู้ใหญ่ที่นอนละเมอส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในขณะที่พวกเขาเหมือนตื่นอยู่ คือลืมตาแต่ไม่ได้มองเห็นเหมือนเช่นเวลาที่ตื่น ในบางรายที่ละเมอถึงขั้นออกเดินจะเดินไปยังที่ที่คุ้นเคยและกลับที่เดิมได้โดยไม่รู้ตัวว่าเกิดอะไรขึ้นหลังตื่นนอน การนอนละเมอเกิดขึ้นในครอบครัวจากอาการป่วยหรือในภาวะที่มีความเครียด หรือแม้แต่การนอนที่ไม่เพียงพอก็ทำให้ละเมอได้
ละเมอแล้วจะเป็นอย่างไร
ถ้าเด็กๆ ที่บ้านนอนละเมอแทบทุกๆ คืนนั้น เพื่อความสบายใจการพาลูกไปพบแพทย์ก็เป็นทางออกที่ดี เพราะสำหรับเด็กๆ แล้วการพบแพทย์อาจจะได้คำแนะนำและตารางการนอนที่เหมาะสมกับวัยของเด็กๆ ซึ่งการนอนที่เพียงพอตามกำหนดเวลาที่ดีนั้น จะช่วยลดการนอนละเมอในเด็กๆ ลงได้
ดูแลเจ้าหนูนอนละเมอ
หนึ่งอย่างที่คุณทำได้เพื่อช่วยเด็กๆ ที่นอนละเมอคือ จัดห้องนอนให้ปลอดภัย เช่น การวางเฟอร์นิเจอร์ที่คอยกีดขวางหรือจะเป็นอันตรายต่อการละเมอเดินในยามค่ำคืน ถ้ามีบันไดหรือบริเวณที่จะเป็นอันตรายต่อเด็กๆ อย่างประตูหรือหน้าต่างให้ปิดให้สนิท และเมื่อพบว่าลูกคุณกำลังละเมอในตอนกลางคืนให้ค่อยๆ ปลอบและพากลับไปยังที่นอนอย่างสงบ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)