© 2017 Copyright - Haijai.com
เมาน้ำ
อ่านหนังสือพิมพ์มาไม่นานนี้ บอกว่าไม่ควรปล่อยให้ลูกซึ่งอายุยังไม่ถึง 6 เดือน กินน้ำมากนัก เพราะอาจทำให้ไม่สบาย มีอาการที่เรียกว่า “เมาน้ำ” ซึ่งอันตรายต่อชีวิตได้ ไม่ทราบว่าเรื่องนี้คุณหมอมีความคิดเห็นว่าอย่างไรคะ
ตอบ เรื่องการให้ทารกดื่มน้ำนี่น่าสนใจ ที่ว่าทารกอายุไม่ถึง 6 เดือนไม่ควรกินน้ำมากเพราะอาจทำให้ไม่สบาย มีอาการที่เรียกว่า “เมาน้ำ” ยิ่งน่าสนใจไปกว่าคือ เราคงทราบว่าทารกที่กินนมแม่อย่างเดียว “exclusive breast feeding” นั้นไม่ให้ป้อนอะไรเลยแม้แต่น้ำไม่ใช่เพราะกลัวจะได้น้ำเกิน แต่เพราะทารกได้น้ำจากนมแม่พอแล้ว และทารกจะได้กินนมแม่บ่อยๆ เมื่อรู้สึกกระหายน้ำ อันเป็นผลดีคือดูดบ่อยๆ น้ำนมไม่แห้ง ทารกมีน้ำนมมากพอที่จะเติบโตด้วยการกินนมแม่จนถึง 6 เดือน ธรรมชาติได้ผลิตน้ำนมให้มีน้ำ 1.5 มิลลิต่อกิโลแคลอรี และมีโปรตีนต่ำคือ 1.1 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร มีเกลือโซเดียมต่ำ 8 มิลลิโมล จึงมีของเสียได้แก่ยูเรียจากโปรตีนและเกลือซึ่งขับถ่ายทางไตน้อย ไม่ต้องใช้น้ำมากในการขับถ่ายในแต่ละวัน เมื่อเทียบกับนมวัว ปกติมีโปรตีนและเกลือสูงกว่าประมาณ 3 เท่า ดังนั้น บริษัทผลิตนมผสมได้ปรับปรุงนมวัวเป็นนมผสมสำหรับทารกให้มาใกล้เคียงนมแม่ คือนมผสมสูตรทารกส่วนใหญ่มีโปรตีน 1.2-1.5 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร ลดเกลือมาใกล้เคียงนมแม่ ดังนั้นกินนมผสมสำหรับทารกแล้วก็ไม่จำเป็นต้องกินน้ำเพิ่มเหมือนกินนมแม่ นอกจากใช้ช้อนหยอดน้ำเพื่อล้างคราบนมหลังกินนม การเลี้ยงลูกด้วยนมผสมในบ้านเรามักให้ลูกดูดน้ำเป็นขวด 4-6 ออนซ์วันละ 2-4 ขวด บางรายกินแต่น้ำไม่กินนม น้ำที่กินเข้าไปจำนวนมากนี้ ปกติแล้วไตสามารถระบายน้ำที่มากเกินออกได้ ทารกบางคนที่กินนมมาก น้ำมาก จะพบว่าถ่ายปัสสาวะบ่อย มีเหงื่อออกที่หน้าผากและศีรษะมาก ในกรณีที่เด็กไม่สบาย เจ็บป่วย มีการติดเชื้อ บวกกับได้ยาแก้หวัดบางชนิด ทำให้ฮอร์โมน เอ ดี เอช ออกมา มีผลให้น้ำออกทางไตได้น้อยกว่าเดิมแต่เด็กยังกินน้ำมากกว่าปกติ คราวนี้ละ เกิดภาวะน้ำคั่งในร่างกาย เกิดภาวะเกลือในร่างกายเจือจาง น้ำจะเข้าเซลล์ เมื่อเซลล์สมองบวมน้ำ ถ้าภาวะนี้ไม่เกิดรวดเร็ว ทารกอาจมีอาการซึมๆ ไม่เล่นตามปกติ ถ้าจะเรียกว่า “เมาน้ำ” คงได้ ถ้าเกิดรวดเร็วทารกอาจมีอาการทางประสาทอื่นๆ ได้ ที่รุนแรงสุดคืออาการชัก อาการเหล่านี้เป็นชั่วคราว เมื่อหายเจ็บป่วยร่างกายระบายน้ำออกทางไตได้ ทารกก็คืนสู่ปกติ จึงควรให้น้ำลูกด้วยการป้อนด้วยช้อน หรือจิบนิดหน่อยเพื่อล้างปากก็พอ
พญ.วันดี วราวิทย์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)