© 2017 Copyright - Haijai.com
โรคริดสีดวงทวาร ยารักษาริดสีดวงทวาร
ยาเหน็บทวาร เป็นยาที่มีการใช้พิเศษและมีรูปร่างพิเศษ ส่วนใหญ่ใช้ในผู้มีปัญหาเป็นริดสีดวงทวาร ซึ่งสาเหตุสำคัญคือ ผู้ป่วยจะได้รับความเจ็บปวดเวลานั่งหรือเบ่งอุจจาระ
อาการของริดสีดวงทวาร
ผู้ที่เป็นริดสีดวงทวารหนัก โดยมากมักถ่ายเป็นเลือด เลือดที่ออกมักจะเป็นเลือดสดๆ ระยะแรกอาจสังเกตว่ามีเลือดติดกระดาษชำระหลังอุจจาระ หรือเคลือบอุจจาระออกมา ต่อมาอาจออกมากจนมีเลือดหยดลงในโถส้วมขณะถ่ายอุจจาระ ถ้าเป็นมากขึ้นจะรู้สึกได้ว่ามีก้อนโผล่ออกมาทางทวารหนัก โดยเฉพาะหลังถ่ายอุจจาระ และสามารถดันก้อนกลับเข้าไปในรูทวารหนักได้
ในทางการแพทย์ จะแบ่งริดสีดวงทวารหนักออกเป็น 4 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 ริดสีดวงไม่ยื่นออกมานอกขอบทวาร มีแต่อาการเลือดออก
ระยะที่ 2 ถ่ายอุจจาระแล้วมีก้อนริดสีดวงทวารหนักโผล่ออกมาเวลาเบ่ง แต่หดกลับเข้าไปได้เอง
ระยะที่ 3 ถ่ายอุจจาระแล้ว ริดสีดวงโผล่ออกมา และไม่หดกลับเข้าเอง ต้องใช้นิ้วมือดันกลับจึงเข้า
ระยะที่ 4 ริดสีดวงทวารโผล่ออกมาภายนอก และไม่สามารถดันกลับเข้าไปได้
ปัจจัยที่ทำให้เกิดริดสีดวงทวาร
มีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลให้เกิดก้อนริดสีดวงทวารอาทิ ลักษณะนิสัยการถ่ายผิดปกติ (ท้องผูกหรือท้องเสีย) รับประทานอาหารที่มีเส้นใยน้อย มีการเพิ่มของความดันภายในช่องท้องเป็นเวลานาน ตั้งครรภ์ กรรมพันธุ์ ไม่มีลิ้นในเส้นเลือดบริเวณทวารหนัก อายุ นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุอื่นๆ ที่สามารถเพิ่มความดันเลือดบริเวณทวารหนัก ทำให้เป็นโรคริดสีดวงทวารได้ ได้แก่ ความอ้วน และการนั่งเป็นเวลานานๆ
ควรเก็บยาเหน็บทวารไว้ในตู้เย็น หรือแช่น้ำแข็งหรือน้ำเย็น เพื่อให้ยาแข็งตัวก่อนนำออกมาใช้ เพราะที่อุณหภูมิห้องยาเหน็บจะอ่อนตัว และไม่สามารถสอดเข้าในรูทวารหนัก
การรักษาริดสีดวงทวาร
การรักษาริดสีดวงทวารนั้นมีหลายวิธี เช่น การผ่าตัด การฉีดยาเข้าไปในหลอดเลือดบริเวณทวารหนักโดยตรง หรือการใช้ยางรัด เป็นต้น แต่ในระยะแรกที่เป็น สามารถใช้ยารักษาได้ โดยยาที่ใช้ในการรักษาริดสีดวงทวารมีอยู่ 2 แบบคือ ยารับประทานและยาเหน็บทางทวารหนัก
ยารับประทาน เป็นสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ มีกลไกในการออกฤทธิ์ คือ ควบคุมการทำงานของระบบไหลเวียนของเส้นเลือดฝอย โดยทำให้เกิดการหดตัวของหลอดเลือดดำ ลดการอักเสบของหลอดเลือดดำ ลดการปล่อยสารอนุมูลอิสระจากเซลล์เม็ดเลือดขาว ซึ่งจะมีผลลดปริมาตรเลือดในหลอดเลือดดำ รวมทั้งเพิ่มความยืดหยุ่นของหลอดเลือด ทำให้ลดการเกิดเลือดออกเวลาเบ่งถ่ายอุจจาระ
ผลิตภัณฑ์ยาที่มีจำหน่ายในท้องตลาดมีหลายชื่อการค้า แต่ละเม็ดประกอบด้วยตัวยา 2 ชนิด ได้แก่ ไดออสมินและเฮสเพอริดิน ขนาดยาที่ใช้ในระยะเฉียบพลันคือ รับประทานครั้งละ 2 เม็ด วันละ 3 ครั้ง เป็นระยะเวลา 4 วัน หลังจากนั้นลดขนาดยาเป็น 2 เม็ด วันละ 2 ครั้ง เป็นระยะเวลา 3 วัน หากจำเป็นก็ให้ใช้แบบต่อเนื่อง คือ รับประทานยาครั้งละ 1 เม็ด วันละ 2 ครั้ง เป็นระยะเวลา 2 เดือน
ริดสีดวงทวารจะเป็นมากขึ้น เมื่อมีอายุมากขึ้น ดังนั้น จึงจำเป็นต้องป้องกันก่อน เช่น ควรรับประทานอาหารที่มีกากใย ได้แก่ ผัก ผลไม้ เช่น คะน้า บรอกโคลี ผักบุ้ง กล้วย ส้ม สับปะรด เป็นต้น จะทำให้อุจจาระเป็นก้อนแต่นิ่ม ช่วยในการขยายตัวและนวดทวารหนักได้เป็นอย่างดี และไม่ทำให้เกิดการครูดทวารหนักจนเกิดบาดแผล
ยาเหน็บทวารหนัก นิยมใช้ในริดสีดวงทวารที่มีเลือดออก และ/หรือเจ็บปวด อาจใช้ร่วมกับยารับประทานยาเหน็บทวารไม่ใช่ยารับประทาน จัดเป็นยาใช้ภายนอกมีรูปร่างคล้ายหัวจรวด ทำด้วยขี้ผึ้งที่มีตัวยา 2-3 ชนิด เป็นส่วนประกอบ ได้แก่ ยาชา (เพื่อบรรเทาอาการปวด) ยาลดการอักเสบ ยาหดตัวของหลอดเลือด และยาปฏิชีวนะในบางสูตรตำรับ
ควรเก็บยาเหน็บทวารไว้ในตู้เย็น หากไม่มีตู้เย็นก็ควรแช่น้ำแข็งหรือน้ำเย็น เพื่อให้ยาแข็งตัวก่อนนำออกมาใช้ เพราะที่อุณหภูมิห้องยาเหน็บจะอ่อนตัว และไม่สามารถสอดเข้าในรูทวารหนัก แต่ถ้าแช่เย็น ยานี้จะแข็ง เมื่อเหน็บเข้าไปในร่างกายแล้ว อุณหภูมิของร่างกายที่ร้อนกว่าจะช่วยละลายยาออกมาและออกฤทธิ์บรรเทาอาการอักเสบและอาการปวดที่ริดสีดวงทวาร
วิธีการใช้ยาเหน็บทวารหนักอย่างถูกวิธี
1.ล้างมือให้สะอาด
2.แกยาออกจากกระดาษห่อ
3.นอนตะแคง โดยให้ขาล่างเหยียดตรง ยกก้นบนขึ้นและงอขาบนขึ้น
4.สอดยาเหน็บเข้าไปในรูทวารหนัก โดยเอาด้านที่มีปลายแหลมเข้าไปก่อน ใช้นิ้วดันยาเข้าไปอย่างช้าๆ และเบาๆ พยายามสอดให้ลึกที่สุด เพื่อมิให้ยาเหน็บไหลออกมา (ในผู้ใหญ่สอดยาให้ลึกเข้าไปอย่างน้อย 2.5 ซม. และในทารกอย่างน้อย 1.25 ซม.)
5.นอนในท่าเดิมสักครู่ประมาณ 15 นาที เพื่อมิให้ยาเหน็บไหลออกมา
6.ล้างมือให้สะอาด
การป้องกันการกลับเข้าซ้ำ
หลังจากการรักษาไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ ริดสีดวงทวารสามารถกลับเป็นใหม่ได้ ขึ้นอยู่กับอายุและการรักษาสุขภาพของร่างกาย โดยเฉพาะการขับถ่าย ริดสีดวงทวารจะเป็นมากขึ้นเมื่อมีอายุมากขึ้น ดังนั้น จึงจำเป็นต้องป้องกันก่อนที่จะมีอาการออกมา โดยยึดหลักการดูแลสุขภาพทั่วไปดั้งนี้
• รับประทานอาหารที่มีกากใย ได้แก่ ผัก ผลไม้ เช่น คะน้า บรอกโคลี ผักบุ้ง กล้วย ส้ม สับปะรด เป็นต้น จะทำให้อุจจาระเป็นก้อนแต่นิ่ม ช่วยในการขยายตัวและนวดทวารหนักได้เป็นอย่างดี ไม่ทำให้เกิดการครูดทวารหนักจนเกิดบาดแผล
• ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว
• ฝึกการขับถ่ายให้เป็นเวลา ไม่เบ่งมากขณะขับถ่าย เนื่องจากการเบ่งมากจะทำให้เลือดคั่งบริเวณทวารหนัก เนื้อเยื่อปากทวารหนักบวมและยื่นออกมาได้
• ออกกำลังกายอยู่เสมอ
• นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
• หลีกเลี่ยงอาหารที่ระคายเคืองทางเดินอาหาร เช่น อาหารรสจัด ชา กาแฟ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
สุดท้ายนี้ จึงขอย้ำกันอีกครั้งว่า การรักษาที่ดีที่สุด ก็คือ การป้องกัน ดังคำกล่าวที่ว่า “กันไว้ดีกว่าแก้” นั้น จริงแท้แน่นอน
(Some images used under license from Shutterstock.com.)