Haijai.com


โรคเบาหวาน คืออะไร


 
เปิดอ่าน 4792

โรคเบาหวาน คืออะไร

 

 

โรคเบาหวาน เป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ นั่นก็คือ ประมาณ 2.5-6% ของประชากร โรคเบาหวานนี้ นี่เองที่เป็นสาเหตุสำคัญอันดับแรกที่จะทำให้เกิดโรคไตวายเรื้อรัง นอกจากนั้น ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดตีบต้นได้ในทุกๆ ส่วนของร่างกาย เช่น โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต จากเส้นโลหิตสมองตีบ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจากเส้นเลือดหัวใจตีบ โรคเส้นเลือดไปเลี้ยงปลายเท้าอุดตัน และยังเป็นสาเหตุของตาบอด เนื่องจากเบาหวานขึ้นตาได้อีกด้วย

 

 

ทราบกันหรือไม่ว่าอาหารที่เราๆ ท่านๆ รับประทานกันเข้าไปนั้น ส่วนใหญ่แล้ว มักจะเปลี่ยนเป็นน้ำตาลกลูโคส ในกระแสเลือด เพื่อใช้เป็นพลังงาน เซลล์ในตับอ่อนชื่อเบต้าเซลล์ (Beta Cell) จะเป็นตัวสร้างอินซูลิน อินซูลินเป็นฮอร์โมนสำคัญตัวหนึ่งของร่างกาย ทำหน้าที่เป็นตัวพาน้ำตาลกลูโคสเข้าสู่เนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกาย เพื่อเผาผลาญเป็นพลังงานในการดำเนินชีวิต โรคเบาหวานเป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ เนื่องจากการขาดฮอร์โมนอินซูลิน หรือประสิทธิภาพของอินซูลินลดลง จนทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอยู่เป็นเวลานาน จนเกิดโรคแทรกซ้อนต่ออวัยวะต่างๆ ในร่างกาย

 

 

ลดน้ำหนักลงให้ได้ 8% จากน้ำหนัก ออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน วันละประมาณ 45 นาที ลด ละ เลิก การสูบบุหรี่และการดื่มสุรา

 

 

อาการที่ส่อเค้าว่าจะเป็นโรคเบาหวานได้แก่

 

 คนปกติ ก่อนรับประทานอาหารเช้า จะมีระดับน้ำตาลในเลือด 70-110 มก.% แต่ผู้ป่วยเบาหวาน จะมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากกว่านี้

 

 

 มักจะต้องลุกขึ้นมาปัสสาวะในเวลากลางคืน มากกว่า 1 ครั้ง และอาจจะพบว่าปัสสาวะมีมดตอม

 

 

 กระหายน้ำบ่อย เนื่องจากต้องทดแทนน้ำที่ถูกขับออกทางปัสสาวะ

 

 

 อ่อนเปลี้ยเพลียแรง น้ำหนักลด เนื่องจากร่างกายไม่สามารถใช้น้ำตาล จึงย่อยสลายส่วนที่เป็นโปรตีนและไขมันออกมา

 

 

 กินเก่งและหิวบ่อย แต่ไม่ว่าจะทานอย่างไร น้ำหนักจะลดลง เนื่องจากร่างกายนำน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงานไม่ได้

 

 

 แผลหายช้า และมีอาการคันตามผิวหนัง หรือมีการติดเชื้อรา

 

 

 ตาพร่ามัว เห็นไม่ชัด

 

 

 ไม่ค่อยจะมีความรู้สึก เหน็บชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง ประสารทอัตโนมัติเสื่อม หย่อนสมรรถภาพทางเพศ

 

 

ปัจจัยเสี่ยงและสาเหตุของโรคเบาหวาน

 

 

สาเหตุของการเกิดโรคเบาหวานนั้น ยังไม่ทราบแน่นอน แต่องค์ประกอบสำคัญที่อาจเป็นต้นเหตุของการเกิด ได้แก่

 

 มีประวัติครอบครัว พ่อแม่ พี่หรือน้อง เป็นเบาหวาน ควรจะตรวจเลือดแม้ว่าคุณจะไม่มีอาการ

 

 

 เป็นโรคอ้วน ดัชนีมวลกายมากกว่า 27% หรือน้ำหนักเกิน 20% ของน้ำหนักที่ควรจะเป็น

 

 

 มีอายุมากกว่า 50 ปี

 

 

 ความดันโลหิตสูงมากกว่า 140/90 mmHg

 

 

 ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย

 

 

ดังนั้น หากเราเข้าข่ายกลุ่มเสี่ยง หรือมีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวแล้ว เราก็ควรที่จะได้รับการตรวจหาระดับน้ำตาลในเลือดทุกๆ 3 ปี เนื่องจากป้องกัน และการรู้ว่าเป็นโรคนี้ตั้งแต่ระยะต้นๆ น่าจะเป็นวิธีดีที่สุดในการรักษาเยียวยา

 

 

การป้องกันการเกิดโรคเบาหวาน

 

โรคเบาหวานเป็นโรคที่พบได้ทั่วโลก และมีอัตราการเพิ่มของผู้ป่วยทุกๆ ปี เมื่อผู้ป่วยเป็นเบาหวานได้ระยะหนึ่งแล้ว ผู้ป่วยก็จะเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ระบบประสาท โรคหัวใจ และโรคไต เป็นต้น โรคเบาหวานจะทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง ดังนั้น การป้องกันโรคเบาหวาน จึงเป็นหนทางที่จะลดการเกิดโรคเบาหวาน

 

 

แม้ว่าในปัจจุบันนี้ จะมีการพัฒนายาสำหรับรักษาโรคเบาหวานมานานหลายปีแล้ว แต่ยาเหล่านั้น ก็ไม่สามารถที่จะลดโรคแทรกซ้อนได้เท่าที่ควรนั่น จึงทำให้วงการแพทย์ยังคงกังวลว่า การรักษาโรคเบาหวานทุกๆ วันนี้ มักจะมารับการรักษาเมื่อสายเกินไป ดังนั้น การป้องกันโรคน่าจะเป็นหนทางที่ดีกว่าการรักษาเป็นอย่างมาก

 

 

จากการวิจัยพบว่าผู้ที่มีน้ำตาลอยู่ระหว่าง 100-125 มก.% นั้น จะมีโอกาสเป็นเบาหวานสูงมาก

 

 

วิธีการป้องกันโรคเบาหวานนั้น สามารถทำได้ 2 วิธี นั่นก็ คือ

 

 ลดน้ำหนักลงให้ได้ 8% จากน้ำหนักเบื้องต้น โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคอ้วน

 

 ออกกำลังกาย อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน วันละ ประมาณ 45 นาที

 

 ลด ละ เลิก การสูบบุหรี่และการดื่มสุรา

 

 มีการใช้ยา 3 ชนิดในการป้องกันโรคเบาหวาน โดยใช้ชนิดใดชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถใช้ได้ผลดีกับผู้ที่อายุน้อย 20-44 ปี และที่สำคัญ คือ เป็นโรคอ้วน

 

 

การรักษาโรคเบาหวาน

 

โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรัง และก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพ เกือบจะทุกส่วนของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นฟัน เหงือก ตา ไต หลอด เลือดแดง และหัวใจ เป็นต้น อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยต้องร่วมมือกับแพทย์ ที่ทำการรักษา เพื่อกำหนดเป้าหมายการรักษา และจะช่วยให้ควบคุมเบาหวานได้ดียิ่งขึ้น

 

 

การควบคุมโรคเบาหวานที่ดี ไม่เพียงแค่ควบคุมระดับน้ำตาลเท่านั้น แต่ยังประกอบไปด้วยการควบคุมอาหารการกิน ผู้ป่วยจะต้องสร้างตารางอาหารของตนเองขึ้น และกำหนดว่าในวันหนึ่งๆ จะต้องรับประทานอาหารอะไรบ้าง ปริมาณอาหารที่ต้องการในแต่ละวันคืออะไร และต้องรับประทานได้มากน้อยเพียงใด การออกกำลังกาย สำหรับผู้ป่วยเบาหวานก็มีความจำเป็น ผู้ป่วยต้องออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญต้องออกแรงอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ต้องใส่ใจเรื่องค่าความดันโลหิต ค่าไขมัน และค่าน้ำตาลเฉลี่ยในกระแสเลือดให้มากเป็นพิเศษ

 

 

ในปัจจุบันยาที่รักษาโรคเบาหวาน มีอยู่ด้วยกันมากมาย หลากหลายชนิด และการออกฤทธิ์ ก็ไม่เหมือนกัน การใช้ยาอย่างถูกต้องจะทำให้ผลการรักษาดี และลดโรคแทรกซ้อน รวมทั้งผลข้างเคียงจากการใช้ยาอีกด้วย อย่างไรก็ดี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะเป็นผู้ที่ควบคุมการดูแลรักษาทั้งหมด

(Some images used under license from Shutterstock.com.)