Haijai.com


เป็นสิวที่หลัง (Back Acne)


 
เปิดอ่าน 5826
 

เป็นสิวที่หลัง (Back Acne)

 

 

สิวที่หลัง (Back Acne) เป็นภาวะที่มีสิวขึ้นบริเวณลำตัว อาจปรากฏในรูปของตุ่มสิว สิวหัวดำ (สิวหัวเปิด) สิวหัวขาว (สิวหัวปิด) สิวหัวแดง สิวหัวหนอง สิวชนิดถุงซิสต์ (ลักษณะเป็นสิวที่มีถุงหนองอยู่ภายใน กดเจ็บ) สิวเกิดจากรูขุมขนอุดตัน เนื่องจากไขมันและเซลล์ที่ตายแล้วสะสมมากขึ้น และผิวหนังติดเชื้อแบคทีเรีย Propionibacterium acnes ทำให้มีอาการอักเสบร่วมด้วย สิวที่หลังพบได้บ่อยในช่วงวัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยที่ต่อมไขมันเริ่มทำหน้าที่ผลิตไขมัน และอาจถูกกระตุ้นจากระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ เช่น ตั้งครรภ์ ช่วงมีประจำเดือน หรือรับประทานยาคุมกำเนิด และเนื่องจากบริเวณหลัง เป็นบริเวณที่มีต่อมไขมันจำนวนมาก และมีบริเวณกว้าง จึงเกิดสิวได้มาก ความเครียดและระดับฮอร์โมน อาจเป็นสาเหตุของการเกิดสิวที่หลังได้เช่นกับการเกิดสิวบนใบหน้า อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยอื่นที่ทำให้เกิดสิงที่หลังได้ เช่น พันธุกรรม เหงื่อออกมากหรือผิวหนังระคายเคือง ซึ่งภาวะทั้งสองอาจเกิดจากการใส่เสื้อผ้ารัดรูป เมื่อเหงื่อสัมผัสกับผิวหนังมันจะไปอุดตันรูขุมขน จนทำให้หัวสิวเปลี่ยนจากสิวหัวขาว เป็นสิวหัวแดง หรือสิวหัวหนองได้ การสะพายกระเป๋าหลังอาจเป็นสาเหตุให้หลังหรือไหล่ระคายเคืองจนเกิดสิวได้ นอกจากนี้ผิวหนังอักเสบคล้ายสิว อาจเกิดจากการรับประทานยาบางชนิดได้เช่นกัน

 

 

ผู้ป่วยมีอาการต่อไปนี้ เกิดขึ้นบริเวณหลังหรือไม่

 

 ระคายเคืองหรือคันที่หลัง

 

 

 ตุ่มอักเสบ

 

 

 มีตุ่มแดงที่ผิวหนัง

 

 

 ตุ่มหนอง

 

 

คำแนะนำผู้ป่วย (สิว)

 

 หลังการรักษาสิว มักมีอาการดีขึ้นเองทีละน้อยภายในประมาณ 6-8 สัปดาห์ ไม่ต้องกังวลหากอาการของสิวจะแย่ลงใน 2-3 สัปดาห์แรกของการรักษา

 

 

 ทำความสะอาดบริเวณผิวที่เป็นสิวด้วยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดอ่อนๆ ที่ไม่ทำให้รู้สึกระคายเคือง และไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ และควรเช็ดตัวให้แห้งก่อนสวมใส่เสื้อผ้า

 

 

 ซักทำความสะอาดเสื้อผ้า ด้วยผงซักฟอกที่มีฤทธิ์อ่อน เพื่อป้องกันผิวหนังระคายเคืองจากน้ำยาตกค้าง

 

 

 ซักทำความสะอาดเครื่องนอนเป็นประจำ เพื่อลดการเกิดสิวที่หลัง

 

 

 ยากลุ่ม benzoyl peroxide อาจทำให้ผมและเสื้อผ้าที่สัมผัสกับยามีสีซีดลง จึงควรสวมใส่เสื้อผ้าสีขาวในขณะที่ทายานี้

 

 

 สวมเสื้อผ้าที่ทอจากผ้าฝ้าย เส้นใยธรรมชาติ หรือเส้นใยสังเคราะห์ที่ไม่ดูดความชื้น ควรทาแป้งและทำให้หลังแห้งอยู่เสมอ

 

 

 สวมใส่เสื้อผ้าและชุดชั้นในที่สะอาดเสมอ และควรเปลี่ยนเสื้อผ้าวันละ 2 ครั้ง เพื่อป้องกันเชื้อแบคทีเรียสะสม

 

 

 สัมผัสกับแสงแดดอ่อนช่วงเช้าและเย็น หลีกเลี่ยงแสงแดดจ้า และใช้ครีมกันแดดทุกครั้ง เมื่อออกสู่ที่แจ้ง

 

 

 หลีกเลี่ยงกระเป๋าสะพายที่เสียดสีแผ่นหลัง หรือใช้กระเป๋าถือแทนกระเป๋าสะพาย

 

 

 ผิวที่แห้งเกินไปจะทำให้สิวแตกออก จึงควรทาสารเพิ่มความชุ่มชื้นที่ไม่ก่อให้เกิดสิว

 

 

ทางเลือกในการรักษาสิว

 

ยาสำหรับรักษาสิว (Acne Treatment Preparations)

 

 ยาที่ทำให้ผิวลอก (keratolytics) ได้แก่ azelaic acid, benzoyl peroxide, salicylic acid และ sulfur ออกฤทธิ์ โดยกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของสิว benzoyl peroxide อาจทำให้ผิวหนังมีรอยแดง salicylic acid ในรูปแบบโลชันหรือครีม ช่วยลดรูขุมขนอุดตัน และมีฤทธิ์ฆ่าเชื้ออย่างอ่อน ยากลุ่มนี้ ต้องใช้อย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันไม่ให้หัวสิวเกิดใหม่ ผู้ที่แพ้ยาซัลฟาห้ามใช้ยาที่มี sulfur เป็นองค์ประกอบ ยาที่มีส่วนผสมของ azelaic acid มีฤทธิ์ทั้งกำจัดแบคทีเรียและสลายหัวสิว

 

 

 ยารักษาสิวชนิดใช้ภายนอกบางชนิด มียาปฏิชีวนะผสมอยู่ด้วย เช่น erythromycin, clindamycin และ neomycin และอาจมีหรือไม่มี benzoyl peroxide ยาเหล่านี้ต้องเก็บในตู้เย็น รักษาสิวโดยออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย จึงนิยมใช้ร่วมกับยาที่ลดการอุดตันของรูขุมขน

 

 

 อนุพันธ์ของวิตามินเอหรือ retinoids ชนิดทาภายนอก ช่วยลดรูขุมขนอุดตัน ใช้สำหรับรักษาสิวขึ้นปานกลางถึงรุนแรง โดยทำให้เซลล์ผิวหนังเจริญและหลุดลอกอย่างปกติ อนุพันธ์ของ retinoids เช่น adapalene, isotretinoin, tazarotene หรือ tretinoin ได้ผลดี ในผู้มีผิวหน้ามันและผิวที่มีแนวโน้มเกิดสิวง่าย อาจใช้ร่วมกับยากลุ่มอื่น เช่น benzoyl peroxide และยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน ยาเหล่านี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง คือ ทำให้ผิวแดง อักเสบ ระคายเคือง และไวต่อแสงมากขึ้น จึงควรแนะนำให้ทายาตอนกลางคืนก่อนนอน และใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดทุกเช้าก่อนออกจากบ้าน สำหรับอนุพันธ์ของวิตามินเอ หรือ retinoids ชนิดรับประทาน เช่น isotretinoin นำมาใช้ในการรักษาสิวอักเสบที่เป็นรุนแรง ยานี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง คือ ทำให้ทารกในครรภ์พิการได้หากใช้ยาภายใน 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ เกิดผิวแห้ง และเพิ่มระดับไขมันในเลือด ดังนั้น ผู้ที่ใช้ยานี้ จึงอาจต้องใช้ผลิตภัณฑ์ให้ความชุ่มชื้นชนิดปราศจากน้ำมันและน้ำตาเทียม ยากลุ่มนี้ทั้งในรูปแบบทาและรับประทาน ห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์ สตรีที่วางแผนจะตั้งครรภ์ และสตรีให้นมบุตร

 

 

 ยา nicotinamide ชนิดทาภายนอกอาจใช้รักษาสิวอักเสบ

 

 

ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน (Oral Contraceptives)

 

 ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน ชนิดฮอร์โมนผสมช่วยต้านฤทธิ์ของแอนโดรเจนได้ ยากลุ่มนี้ประกอบด้วยฮอร์โมนกลุ่ม progesterones เช่น cyproterone, desogestrel, dreospirenone ในสูตรตำรับเดียวกับ ethinylestradiol ยาคุมกำเนิดเหล่านี้ บางสูตรมีประสิทธิภาพในการลดสิวได้ดีกว่าสูตรอื่น และในบางประเทศมีจำหน่าย เพื่อรักษาสิวโดยเฉพาะ

 

 

ยาปฏิชีวนะ

 

 ยากลุ่ม tetracyclines ได้แก่ doxycycline, minocycline, oxytetracycline และ tetracycline นิยมใช้รักษาสิว เพราะผ่านเข้าสู่ต่อมไขมันได้ดี มักใช้เมื่อใช้ยาปฏิชีวนะชนิดใช้ภายนอกร่วมกับยาอื่น เช่น benzoyl peroxide แล้วให้ผลการรักษาไม่เป็นที่น่าพอใจ ไม่ควรรับประทานยานี้ร่วมกับยาหรืออาหารที่มีโลหะประจุ 2+ เช่น แมกนีเซียม แคลเซียมและเหล็ก เนื่องจากรบกวนการดูดซึมของยา ห้ามใช้ยานี้สำหรับการรักษาสิวในสตรีที่มีครรภ์

 

 

 ยากลุ่ม macrolides เช่น azithromycin และ erythromycin มักใช้รับประทานเพื่อรักษาสิว เช่นเดียวกับ clindamycin ก็ใช้ได้เช่นกัน

 

 

ยาต้านการติดเชื้อชนิดใช้ภายนอก (Topical Anti-infrectives)

 

 ยาต้านการติดเชื้อชนิดใช้ภายนอก เช่น metronidazole และ sodium fusidate อาจใช้ได้ในการรักษาสิว

 

 

ผลิตภัณฑ์ปกป้องผิว (Skin Protectives)

 

 สบู่และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้าหลายชนิด อาจใช้เพื่อป้องกันการเกิดสิวได้ แต่เมื่อรักษาสิวหายแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้อีกต่อไป ส่วนผสมบางอย่างของสบู่และผลิตภัณฑ์ล้างหน้า อาจจะระคายเคืองต่อผิว

(Some images used under license from Shutterstock.com.)