
© 2017 Copyright - Haijai.com
แม่ก็ไปขอตู้ ATM สิคะ
“แม่ก็ไปขอตู้ ATM สิคะ” เป็นคำพูดของลูกสาววัย 4 ขวบในขณะนั้น เมื่อดิฉันบอกว่าตอนนี้ไม่มีเงินสดในกระเป๋าพอที่จะซื้อตุ๊กตาหมีน่ารักตัวนั้นได้ คำบอกเล่าง่ายๆ ไร้เดียงสาทำให้ดิฉันต้องทำความเข้าใจกระบวนการคิดและความเข้าใจโลกของเด็กเพื่อจะได้สอนให้เขาเข้าใจความหมายหลากมิติและคุณค่าเชิงเศรษฐกิจได้ แน่นอนค่ะ แม่ที่เป็นอาจารย์อย่างดิฉันที่ใช้ปาก (สมองด้วย) พร่ำสอนอธิบายหลักการ เหตุและผลเชิงเศรษฐกิจ วิชาการและตรรกะต่างๆ ให้ลูกของคนอื่นฟัง ก็อดไม่ได้ที่ต้องเริ่มเล่าที่มาของเงินในตู้ ATM เดินคุยไปกันยืดยาวจากตลาดนัดจนถึงบ้าน ดิฉันได้เข้าใจถึงความไม่เข้าใจในกรอบความคิดที่ไร้เดียงสาของลูกได้ ก่อนที่เราจะบอกว่า “ให้ประหยัดนะลูก” “อย่าฟุ่มเฟือยนัก” “เก็บออมนะลูก” เราควรจะต้องมาเข้าใจกันก่อนว่า คำว่า ประหยัด ฟุ่มเฟือย หรือ เก็บออม ไม่ได้ถูกบัญญัติไว้ในพจนานุกรมแรกเกิดของเขา การที่จะให้ลูกทำตามด้วยความเข้าใจ ไม่ใช่การจำหรือทำตามคำสั่งอย่างเดียวนี้ มีวิธีค่ะ
• สร้างมิติทางความคิด ทุกอย่างมีที่มา สอนให้รู้คุณค่าของเงิน
เมื่อลูกบอกว่า “แม่ก็ไปขอตู้ ATM สิคะ” ดิฉันจึงย้อนถามกลับไปว่าแล้วลูกคิดว่าตู้ ATM เอาเงินมาจากไหนล่ะ คำตอบที่แสนง่ายพอๆ กับคำถามคือ “ตู้ ATM ก็ผลิตเงินเองหรือไม่ก็มีคนเอามาใส่ไว้ให้..จบ ..” คำตอบมีทั้งผิดและถูก แต่ที่ถูกก็ถูกไม่หมด
ดิฉันเข้าใจแล้วว่าลูกไม่เข้าใจกระบวนการได้มาของเงิน ซึ่งทำให้เขาไม่เข้าใจคุณค่าของเงินที่ต้องแลกมาด้วยความพยายามอุตสาหะ จึงเริ่มอธิบายและให้ลูกสังเกตวิถีชีวิตของแม่ที่แม่ต้องออกไปทำงานทุกวัน นั่งทำงานหลังจากที่ลูกเข้านอน และที่สำคัญดิฉันได้มีโอกาสพาเขาไปที่ทำงานและนั่งทำงานไปด้วยกันในช่วงปิดเทอม พาเขาไปฝากเงินที่ธนาคารและอธิบายกลไกด้านการเงินต่างๆ ผ่านทาง Internet Banking การพาให้เขาได้ดูกับตาและได้สัมผัสทางตรงเป็นการสร้างความเข้าใจได้อย่างดีและเป็นการสร้างความคิดหลากมิติ
• สอนให้เปรียบเทียบมูลค่าสิ่งของ
เมื่ออธิบายที่มาของเงินว่าไปอยู่ในตู้ ATM ได้อย่างไร ก็ต้องคุยต่อว่าทำไมจึงไม่ซื้อตุ๊กตาหมีน่ารักราคา 300 บาทตัวนั้นให้ คำตอบในใจของพ่อแม่ทุกคนคงคิดไม่ต่างกันมากหรอกค่ะว่า ก็ลูกมีตุ๊กตาอยู่เต็มบ้านแล้วจะซื้อไปอีกทำไม ลูกคงไม่ยอมกับคำโต้แย้งของเรานี้แน่ ดิฉันจึงตั้งต้นใหม่ ถามตัวเองว่าเงิน 300 บาทนั้นมีมูลค่าเทียบกับอะไรได้บ้าง ในที่สุดก็ไปเปรียบเทียบกับอาหารมื้อโปรดของเขา
ดิฉันเริ่มตั้งเงื่อนไขในการอธิบาย ตุ๊กตาหมี 1 ตัวนี้ต้องใช้เงินเท่ากับแซนด์วิชยอดอร่อยของลูก 3 ชิ้น หรือเท่ากับนมสดหอมมันอร่อย 20 แก้ว ดิฉันพยายามวาดภาพเปรียบเทียบมูลค่าของ 3 สิ่งนี้ในสมองของลูกน้อย แล้วค่อยต่อด้วยประโยคในใจของเราว่า แต่ลูกมีตุ๊กตาหมีเต็มบ้านแล้วนะ ถ้าลูกจะต้องเลือกลูกจะเลือกอะไร
• มูลค่าที่ไม่ได้วัดด้วยขนาดและปริมาณ
ครั้งหนึ่งเมื่อดิฉันจ่ายค่าอาหารด้วยธนบัตร 1000 บาทแล้วได้รับเงินทอนมาเป็นธนบัตรย่อยหลายใบ ลูกสาวจึงทักว่า “โอ้โห แม่มีเงินเยอะกว่าเดิมอีก” จึงต้องอธิบายถึงมูลค่าของธนบัตรแบบต่างๆ และเหรียญขนาดต่างๆ ให้ฟังซึ่งเป็นการสอนคณิตศาสตร์เบื้องต้นได้ดีทีเดียว
ผู้ใหญ่บางคนอาจคิดว่าการสั่งให้ลูกประหยัดก็น่าจะเพียงพอ แต่ดิฉันเห็นว่าการใช้ชีวิตเป็นเรื่องของความเข้าใจ สร้างจิตสำนึกด้วยตัวเขาเอง ให้เขาสามารถคิดไตร่ตรองด้วยตัวเองได้เพื่อวันนี้และอนาคตของเขาเอง
ผศ.ดร. การดี เลียวไพโรจน์
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)