Haijai.com


ตรวจจอตาหรือจอประสาทตาของดวงตา


 
เปิดอ่าน 21989
 

ตรวจจอตาหรือจอประสาทตาของดวงตา

 

 

จอตา หรือจอประสาทตา (retina) เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของดวงตาก็ว่าได้ หากทุกส่วนของดวงตาเป็นปกติดี แต่จอตาผิดปกติ ก็มีโอกาสทำให้ตามองไม่เห็นได้ อีกทั้งถ้าจอตาเสียแล้วจะไม่สามารถเปลี่ยนจอตาใหม่ หรือหาสิ่งใดมาทดแทนได้ เราจึงต้องเพิ่มความระมัดระวังใส่ใจกับดวงตาของเราให้มากขึ้น

 

 

จอตาประกอบไปด้วย เซลล์รับรู้การมองเห็น ส่งกระแสไปยังเส้นใยประสาทตา (nerve fibre layer) รวมกันเป็นเส้นประสาทตา (optic nerve) ตัวจอตาจะเป็นแผ่นบางๆ บุอยู่ภายในลูกตาที่เป็นตาขาวทั้งหมด ส่วนด้านหน้า ซึ่งเป็นตาดำหรือกระจกตาจะมีลักษณะใส เพื่อให้แสงผ่านเข้ารูม่านตาและไปกระทบกับจอตา ทำให้เรารับรู้การมองเห็นได้

 

 

การตรวจจอตาอาศัยการส่องดูจากช่องของรูม่านตา ซึ่งเราสามารถขยายรูม่านตา เพื่อให้มองเห็นได้ชัดเจนมากขึ้น โดยการหยอดยาขยายม่านตา ยาขยายม่านตา ยาขยายม่านตาที่นิยมใช้ ได้แก่ ยาหยอด 1% โทรปิคามายด์, 2.5% ฟีนิลอีฟริน หรือ 1% ไซโคลเพนโทเลท ยาจะมีฤทธิ์ระยะสั้นประมาณ 3-4 ซม. เท่านั้น ข้อเสียของการขยายม่านตาคือ ทำให้เกิดตาพร่ามัว ตาสู้แสงไม่ได้ อ่านหนังสือหรือทำงานไม่ได้ และเพ่งสายตาระยะใกล้ไม่ได้ อีกทั้งผู้ที่มีช่องหน้าของตาแคบ การหยอดยาขยายม่านตา อาจกระตุ้นให้เกิดภาวะต้อหินเฉียบพลันได้ และในผู้ที่มีโรคความดันโลหิตสูง การใช้ยาฟีนิลอีฟริน อาจทำให้เกิดความดันสูงจนเป็นอันตรายได้  เมื่อม่านตาขยายแล้ว เราไม่สามารถใช้ไฟส่องมองไปโดยตรงได้ เนื่องจากตาดำและแก้วตาจะทำหน้าที่กระจาย และหักเหแสงออกไป จักษุแพทย์จึงต้องใช้อุปกรณ์ต่างๆ ช่วยในการมอง ได้แก่

 

 

1.การตรวจสายตาด้วยเครื่องออพธัลโมสโคปอย่างตรง (direct ophthalmoscope) เป็นเครื่องมือเหมือนไฟฉาย โดยถือส่องผ่านรูม่านตาเข้าไป โดยที่บริเวณแก้วตาและน้ำวุ้นตาต้องใส แสงจากเครื่องมือจึงจะผ่านเข้าไปได้ จอตาที่มองเห็นได้นั้น จะมีลักษณะเป็นหย่อมๆ โดยมีขนาดขยายใหญ่กว่าความเป็นจริง การมองแบบนี้จะเห็นภาพเป็นจุดๆ ไม่สามารถมองเห็นภาพแบบองค์รวมของจอตาทั้งหมดได้ อีกทั้งการส่องดูจะใช้ตาเพียงข้างเดียวในการส่อง ภาพจอตาที่มองเห็นจึงไม่เป็น 3 มิติ อีกทั้งยังไม่สามารถมองเห็นบริเวณขอบของจอตา (peripheral retina) ได้ เครื่องมือนี้เป็นเครื่องมือที่ใช้งานง่าย แพทย์ทุกแขนงนิยมใช้เครื่องมือนี้ ในการตรวจจอตาและขั้วประสาทตา

 

 

2.การตรวจสายตาด้วยเครื่องออพธัลโมสโคปอย่างอ้อม (binocular indirect ophthalmoscope) โดยใช้เครื่องที่สามารถมองด้วยสองตา ร่วมกับเลนส์ที่มีกำลังขยายขนาด 20, 28, 30 ไดออปเตอร์ในการปรับภาพ ทำให้เห็นภาพจอตาเป็นวงกว้างคล้ายๆ ภาพแบบมุมนกมอง (bird eye view) มองเห็นเป็นลานกว้าง อีกทั้งภาพจอตาที่เห็นจะเป็นภาพแบบ 3 มิติ ในกรณีที่จอตาบางส่วนบวมหรือนูนขึ้นมา เครื่องนี้จะสามารถมองเห็นได้ชัดเจน แต่ภาพที่เห็นจะเป็นภาพกลับหัว ซึ่งผู้ตรวจจะต้องแปลงกลับภาพอีกที ว่าบริเวณที่เกิดความผิดปกตินั้น มีขนาดเท่าใดและเกิดในบริเวณไหน

 

 

3.การใช้กล้องจักษุจุลทรรศน์ตรวจตา ชนิดลำแสงแคบ (slit lamp) ร่วมกับเลนส์ที่วางไว้หน้าดวงตาของผู้ป่วย (คล้าย indirect ophthalmoscope) ซึ่งจะเป็นเลนส์ที่มีกำลังขยายขนาด 60, 78 หรือ 90 ไอออปเตอร์วิธีนี้เป็นวิธีที่ใช้ง่ายไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด หรือระคายเคืองเพราะไม่ได้มีอะไรสัมผัสที่ตาดำ

 

 

อนึ่งวิธีในข้อ 3 และ 4 หากใช้เลนส์มือถือกำลังขยายสูงๆ อาจทำให้เห็นรายละเอียดได้เฉพาะจุด เช่น ดูความหนาของจอตาในแต่ละแห่ง ดูภาวการณ์บวมของจุดรับภาพ (macular edema) บอกได้ถึงพยาธิสภาพความผิดปกติในชั้นผิวจอตา (preretina) กลางจอตา และใต้จอตาได้อย่างละเอียด หากใช้แสงสีเขียว (red-free light) ที่มีในเครื่องด้วย ก็จะสามารถเห็นหลอดเลือดเล็กๆ ตลอดจนหลอดเลือดใหญ่ (neovasular) ที่เกิดขึ้นในจอตาได้ดียิ่งขึ้น

 

 

5.การตรวจจอประสาทตา โดยการฉีดสี fluorescein หรือที่เรียกกันว่า fundus fluorescin angiography (FFA) เป็นการตรวจการไหลเวียนของเลือดในขั้วจอตา และเนื้อเยื่อโครอยด์ โดยวิธีการฉีดสี fluorescein เข้าบริเวณหลอดเลือดดำที่แขน เลือดจะพาสีเข้าสู่ร่างกายและไปออกที่จอตา หลังจากนั้นจะทำการตรวจจอตาร่วมกับการถ่ายภาพไว้ หากต้องการเน้นถึงการไหลเวียนของเลือด ในขั้วโครอยด์ในตาแล้ว การเลือกใช้สี indocyanine green จะให้รายละเอียดที่ชัดเจนกว่า แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งการฉีดสี fluorescein และ indocyanine green อาจมีผลข้างเคียงจากสีได้

 

 

6.เครื่องตรวจวิเคราะห์ภาพตัดขวางขั้วประสาทตาด้วยเลเซอร์ (Optical coherence tomography; OCT) เป็นการใช้แสงส่องเข้าไปในตาให้ได้ภาพตัดขวาง ของจอตาออกมาเป็นภาพ 2 มิติ ที่มีความละเอียด 8-10 ไมครอน และกำลังมีการพัฒนาให้ได้ภาพที่ละเอียดยิ่งขึ้นกว่านี้ การตรวจจอตาด้วยเครื่อง OCT จะแสดงให้เห็นจอตาคล้ายภาพที่ได้จากการตรวจชิ้นเนื้อ ด้วยกล้องจุลทรรศน์ภายในชั้นต่างๆ ของจอตา เช่น ภายในชั้นเยื่อบุผิวที่มีเม็ดสี ภาพที่แสดงออกมาจะเป็นสีเข้ม (แดงถึงขาว) แต่ถ้าเป็นส่วนที่อยู่กันอย่างหลวมๆ เช่น น้ำวุ้นตาหรือน้ำในจอตา จะให้ภาพออกมาสีเข้ม (น้ำเงินหรือดำ) เครื่องมือชนิดนี้ สามารถแยกการขาดเป็นรูของบริเวณจุดกลางรับภาพจอประสาทตา (macula) ว่าเป็นแบบชนิดจริง (ขาดทุกชิ้น) กับรูขาดแบบเทียม นอกจากนี้ยังสามารถเห็นรายละเอียดบริเวณรอยต่อระหว่างน้ำวุ้นตากับจุดกลางรับภาพจอประสาทตาได้อีกด้วย โดยดูว่าเกิดภาวะดึงรั้งกันอยู่หรือไม่ สามารถตรวจดูระดับของน้ำในผู้ที่เป็นโรคศูนย์กลางจอประสาทตาบวมน้ำ ว่าในระหว่างการรักษานั้น จะสามารถลดระดับน้ำได้แค่ไหน สามารถตรวจได้ถึงชั้นความหนาของจุดกลางรับภาพจอประสาทตาได้อย่างชัดเจน บอกได้ว่ามีอาการบวมผิดปกติไปแค่ไหน เป็นวิธีการตรวจที่ละเอียดมาก

 

 

7.การตรวจดูการทำงานของจอตาด้วยคลื่นไฟฟ้า (electrophysiologic test) ซึ่งแตกต่างจากวิธีการ 6 ข้อที่กล่าวมาข้างต้น ที่เป็นการตรวจจอตาจากภายนอก เพื่อดูแค่รูปร่าง ขนาด และความผิดปกติ แต่วิธีการตรวจการทำงานของจอตาด้วยคลื่นไฟฟ้านี้ จะประกอบด้วย

 

 

 Electroretinogram (ERG) เป็นการตรวจการทำงานของจอตา โดยรวมว่าทำงานเป็นอย่างไร โดยการใช้แสงไฟกระตุ้น อาจตรวจในที่มืด (dark adapt) เป็นการตรวจการทำงานของเซลล์ประสาทรับแสงรูปแท่ง หรือในที่สว่าง (light adapted) เป็นการตรวจการทำงานเซลล์ประสาทรับแสงรูปกรวย ซึ่งภาพความผิดปกติที่ได้จากเซลล์ 2 แบบนี้ จะแตกต่างกัน แต่การใช้วิธีนี้จะไม่สามารถบ่งบอกถึงความผิดปกติของเส้นใยประสาทชั้นในของจอตาได้

 

 

 Electrooculogram (EOQ) เป็นการตรวจวัดคลื่นกล้ามเนื้อลูกตา ที่บ่งบอกถึงการทำงานของเซลล์ชั้นเยื่อบุผิวที่มีเม็ดสีภาพในจอตาได้

 

 

 Visually evoked potential (VEP) เป็นการวัดสัญญาณของคลื่นไฟฟ้า จากสมองในบริเวณการรับรู้การมองเห็น หลังจากได้รับการกระตุ้นที่จอตา มักใช้ในการตรวจสายตาของเด็กว่ามองเห็นหรือไม่ การตรวจโรคของจอประสาทตา การตรวจดูว่ามีความผิดปกติของประสาทตา หรือขั้วประสาทตาหรือไม่ หรือการตรวจการทำงานของจุดกลางรับภาพจอประสาทตา เป็นต้น

 

 

โดยสรุปการตรวจการทำงานของจอตาด้วย คลื่นไฟฟ้ามักจะใช้ในการตรวจ

 

 โรคจอตาเสื่อมที่เป็นมาแต่กำเนิด เช่น retinitis pigmentosa จะได้ภาพ ERG ออกมาชัดเจน

 

 

 ตรวจภาวะตาบอดกลางคืน (night blindness) ดูว่าเกิดจากโรคที่คงที่หรือโณคที่ลุกลามมากขึ้น

 

 

 ในเด็กเล็กที่ยังไม่สามารถวัดสายตาได้ แต่มีการตรวจจอตาและชั้วประสาทตาเป็นปกติดี จึงต้องตรวจ VEP เพื่อช่วยวินิจฉัยให้ชัดเจนได้มากขึ้น

 

 

 ผู้ป่วยโรค best disease ซึ่ง EOG จะแสดงผลออกมาได้ชัดเจน สามารถตรวจญาติผู้ป่วยที่คาดว่าจะเป็นพาหะของโรคนี้ได้ ซึ่งยังไม่แสดงอาการออกมา

 

 

 เพื่อตรวจดูการทำงานของจอตา โดยรวมในกรณีที่ไม่สามารถตรวจโดยตรงได้ เนื่องจากเป็นโรคต้อกระจกและมีน้ำวุ้นตาขุ่น ทำให้บดบังการตรวจ เป็นต้น

 

 

จอตา เป็นบริเวณชั้นในสุดของตา ที่ถือว่ามีความสำคัญมากที่สุด เป็นบริเวณที่ทำให้คนเราสามารถมองเห็นภาพ หรือสิ่งต่างๆ ได้ ถ้าจอตาของเราเสียหายไปจะไม่สามารถทดแทน หรือใส่จอตาเทียมได้ เพราะฉะนั้น เราควรดูแลรักษาสุขภาพร่างกายของเราให้ดี ไม่ให้มีผลกระทบไปถึงจอตาของเรา รวมถึงทะนุถนอมการใช้สายตาของเราไปด้วย

(Some images used under license from Shutterstock.com.)