© 2017 Copyright - Haijai.com
ปลูกฝังจริยธรรมให้ลูก
การเสริมสร้างพัฒนาการทางสมองให้ลูกน้อยเป็นอัจฉริยะนั้นคงเป็นสิ่งที่คุณแม่หลายท่านต้องการ แต่เชื่อไหมคะว่า สิ่งที่จะทำให้คุณแม่ภาคภูมิใจไม่น้อยไปกว่ากัน คือ การที่คุณได้เป็นผู้สร้างเยาวชนรุ่นใหม่ให้เป็นคนดีของสังคม ผู้ที่จะก้าวไปเป็นหนึ่งในอนาคตของชาติ ดังนั้นสิ่งที่คุณแม่ควรส่งเสริม และปลูกฝังให้ลูกน้อยตั้งแต่ยังเล็กเพื่อที่เขาจะได้เติบโตไปเป็นคนดีก็คือ จริยธรรม แม้ว่าการปลูกฝังจริยธรรมให้ลูกน้อยอาจไม่ใช่เรื่องยาก แต่คุณแม่หลายท่านอาจไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นจากตรงไหน ขอแนะนำให้เริ่มต้นจากครอบครัวค่ะ ทั้งตัวคุณพ่อ คุณแม่ และคนรอบข้างต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ลูกน้อย บวกกับความรักความอบอุ่นภายในครอบครัวจะเป็นตัวเสริมสร้างให้การสอนจริยธรรมบรรลุผลสำเร็จ
ปลูกฝัง “ความซื่อสัตย์” ให้เจ้าตัวเล็ก
แม้ความซื่อสัตย์จะฟังดูเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับเด็กๆ แต่ความซื่อสัตย์นี่แหละค่ะ จะช่วยให้เจ้าตัวเล็กเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ ไม่เอารัดเอาเปรียบใคร เมื่อถึงเวลานั้นคุณแม่จะได้ภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนสำคัญในการวางรากฐานให้ลูก มีความซื่อสัตย์ต่ออาชีพการงาน ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ และซื่อสัตย์ต่อคนรอบข้าง หรืออย่างน้อยที่สุด คุณก็ได้สอนเขาให้ซื่อสัตย์ต่อตนเอง สังคมในวันหน้าคงจะน่าอยู่ยิ่งขึ้น และเจ้าตัวน้อยของคุณก็จะอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นสุข
คุณแม่จะเริ่มอย่างไรดีนะ ?
• เป็นแบบอย่างให้ลูกเห็นว่าคุณยึดมั่นในความซื่อสัตย์ ไม่เอารัดเอาเปรียบใคร หากคุณรับปากหรือสัญญาอะไรไว้กับเจ้าตัวน้อย ก็อย่าลืมทำตามสัญญาด้วยนะคะ เพราะนี่ถือเป็นหัวใจของการปลูกฝังความซื่อสัตย์เลยล่ะค่ะ
• เล่านิทานที่ให้ข้อคิดเกี่ยวกับความซื่อสัตย์ เช่น นิทานเรื่อง “สอนลูกให้เป็นโจร”, “เด็กเลี้ยงแกะ” ฯลฯ หรือลองยกตัวอย่างเหตุการณ์ปัญหาในปัจจุบัน ซึ่งมีสาเหตุมาจากความไม่ซื่อสัตย์ เพื่อเป็นอุทาหรณ์ และลองให้เด็กใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจเลือกผลของการกระทำที่จะตามมา
• เมื่อเจ้าตัวน้อยปฏิบัติตัวเป็นเด็กดี ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต คุณแม่อย่าลืมชื่นชมน้องนะคะ เจ้าตัวน้อยจะได้รู้สึกว่าเขาทำถูกต้อง และจะได้มีกำลังใจในการปฏิบัติครั้งต่อๆ ไป
• แต่หากเจ้าตัวน้อยกระทำผิด คุณแม่ต้องกล่าวตักเตือนและสอนในสิ่งที่ถูกต้องนะคะ เป็นต้นว่า หากน้องหยิบยางลบของเพื่อนกลับบ้าน คุณแม่ควรพูดกับลูกว่า ถ้าหากยางลบหนูหาย หนูก็คงเสียใจเหมือนกันใช่ไหม ดังนั้นพรุ่งนี้หนูควรนำยางลบไปคืนเพื่อนนะคะ เพื่อนของหนูคงดีใจมากที่ได้ยางลบคืน และหนูก็จะได้มีเพื่อนเยอะๆ ไงคะ ซึ่งคุณแม่ไม่ควรละเลยหากเห็นลูกมีพฤติกรรมหยิบของของผู้อื่น ต้องรีบแก้ไขเสียแต่เนิ่นๆ ค่ะ
ปลูกฝัง “จิตสำนึกเพื่อส่วนรวม” ให้เจ้าตัวเล็ก
ไม่มีใครสามารถอยู่อย่างโดดเดี่ยวในสังคมได้ ดังนั้นการอยู่ร่วมกันในสังคมให้มีสุข ทุกคนจึงควรคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ การสอนให้ลูกมีจิตสำนึกเพื่อส่วนรวมจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคุณแม่ยุคปัจจุบัน เช่น สอนลูกน้อยให้เห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อม สอนลูกให้เสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เป็นต้น
คุณแม่จะเริ่มอย่างไรดีนะ ?
• แน่นอนค่ะว่า คุณแม่และครอบครัวจะต้องเป็นแบบอย่างในการปลูกฝังน้องๆ ให้เห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อม ง่ายที่สุดเพียงแค่ทิ้งขยะลงถัง เช่น เมื่อไปเที่ยวสวนสัตว์กับครอบครัว ให้ทิ้งขยะลงถัง หรือบริเวณที่จัดให้เท่านั้น หากไม่มีถังขยะในบริเวณใกล้ๆ ก็ถือขยะนั้นไว้ก่อนเมื่อเจอถังขยะแล้วจึงค่อยทิ้ง อย่างน้อยเขาจะได้จำตัวอย่างดีๆ และหากคุณแม่เห็นว่าบริเวณไหนสกปรกก็อาจพูดกับลูกว่า ที่บริเวณนี้สกปรก ไม่น่าดู เพราะเกิดจากการที่เราทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทางนั่นเอง
• เป็นแบบอย่างให้เจ้าตัวน้อยในการใช้ทรัพยากรต่างๆ อย่างประหยัด เช่น ปิดน้ำ ปิดไฟ ปรับแอร์ ลดปริมาณการใช้กระดาษชำระและถุงพลาสติก เป็นต้น ประโยชน์ของการลดปริมาณการใช้ทรัพยากรที่มากกว่าการได้ประหยัดเงินในกระเป๋า คือการที่เราได้เป็นส่วนหนึ่งในการลดการใช้ทรัพยากรโลก ยืดอายุสิ่งแวดล้อมไปอีกนาน คุณแม่อาจหาถุงผ้าน่ารักๆ ให้ลูกใส่ของเวลาไปเที่ยวนอกบ้าน อย่าลืมชื่นชมเจ้าตัวน้อยด้วยนะคะว่า เขาเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้โลกน่าอยู่ยิ่งขึ้น
• สมมติว่าใครคนหนึ่งสละที่นั่งให้คุณและลูก นอกจากการสอนให้น้องไหว้ และกล่าวขอบคุณซึ่งจะช่วยให้น้องมีความอ่อนน้อมถ่อมตน และรู้จักบุญคุณแล้ว การกล่าวชื่นชมพฤติกรรมการเสียสละของผู้ใจดีคนนั้นให้ลูกได้ยิน จะช่วยส่งเสริมให้ลูกอยากทำความดีขึ้นด้วยนะคะ
ปลูกฝัง “ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่” ให้เจ้าตัวเล็ก
ผู้เป็นแม่คงยิ้มแก้มปริ หากมีใครชมเจ้าตัวเล็กของคุณว่า ช่างเป็นเด็กน่ารัก และมีน้ำใจ ซึ่งความมีน้ำใจนี้สร้างได้ไม่ยากแต่จะติดเป็นเสน่ห์ประจำตัวเขาไปตลอด
คุณแม่จะเริ่มอย่างไรดีนะ ?
• หากครอบครัวไหนมีพี่น้อง ลองให้พี่น้องใช้ของเล่นร่วมกัน แบ่งหรือผลัดกันเล่น หรือสอนให้พี่น้องแบ่งปันขนมกันทาน คุณแม่อาจคอยสังเกตและคอยดูลูกอยู่ห่างๆ ค่ะ
• เปิดโอกาสให้เจ้าตัวน้อยได้แสดงความมีน้ำใจ โดยการช่วยเหลือผู้อื่นเล็กๆ น้อยๆ หรือแบ่งปันสิ่งของเครื่องใช้ให้เพื่อนๆ หรือเด็กที่ด้อยโอกาสทุกครั้งที่มีโอกาส และอย่าลืมกล่าวชมเชยการกระทำที่น่ารักของเขาด้วยนะคะ
ปัจจัยที่จะทำให้การสอนจริยธรรมบรรลุผลนั้น ต้องอาศัยความรัก ความอบอุ่นภายในครอบครัวเป็นพื้นฐานสำคัญ หากคุณปรารถนาให้ลูกเป็นคนดีในสังคม ต้องเริ่มที่ตัวคุณก่อนเป็นอันดับแรกค่ะ เป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ลูกเพราะจริยธรรมเกิดขึ้นจากประสบการณ์จริงที่ถ่ายทอดจากพ่อแม่มาสู่ลูก ดังนั้นการพัฒนาลูกย่อมหมายถึงการพัฒนาพ่อแม่ไปพร้อมๆ กัน
มีงานวิจัยชิ้นใหม่ที่ระบุถึงความสัมพันธ์ระหว่างดีเอ็นเอ กับความไม่เห็นแก่ตัวของมนุษย์ โดยพบสาเหตุที่ทำให้คนใจบุญ ชอบทำทาน อาจเป็นเพราะบุคคลเหล่านั้นมียีนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่อยู่ในพันธุกรรม เว็บไซต์บีบีซีนิวส์รายงานการวิจัยชิ้นใหม่ว่า บุคคลที่มีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เกิดขึ้นเพราะคนๆ นั้นถูกกำหนดมาตั้งแต่ระดับพันธุกรรมแล้วว่า จะต้องมีลักษณะนิสัยเช่นนั้น จากการทำการทดสอบแบบออนไลน์กับผู้เข้าร่วมจำนวน 203 คน โดยนักวิจัยในเยรูซาเลม ซึ่งกำหนดให้ผู้เข้าร่วมเลือกระหว่างการเก็บเงินไว้ หรือจ่ายเงินออกไป ผลที่ได้ปรากฏว่า บุคคลที่มียีนชื่อ “เอวีพีอาร์1เอ” (AVPR1a) เฉลี่ยถึง 50 เปอร์เซ็นต์ เลือกที่จะจ่ายเงินออกไปให้คนอื่น “การทดลองนี้เป็นหลักฐานชิ้นแรกที่ให้ความรู้กับเราถึงความสัมพันธ์ ระหว่างดีเอ็นเอ กับความไม่เห็นแก่ตัวของมนุษย์ที่มีจิตใจอยากช่วยเหลือคนอื่น” อาเรียล นาโฟ หัวหน้านักวิจัยมหาวิทยาลัยฮีบรูว์ แห่งเยรูซาเลมกล่าว
(Some images used under license from Shutterstock.com.)