© 2017 Copyright - Haijai.com
สูงวัย กับโรคซึมเศร้า แต่ไม่ซึมเศร้า
ในขณะนี้ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว จากสถิติในปี พ.ศ. 2556 เรามีจำนวนผู้สูงอายุ (อายุมากกว่า 60 ปี) กว่าเก้าล้านคน และประมาณการกันว่าตัวเลขจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี พ.ศ. 2563 เราน่าจะมีผู้สูงอายุมากถึงสิบล้านคน ซึ่งปัญหาสุขภาพจิตที่สำคัญและพบได้บ่อยในผู้สูงอายุอันหนึ่งก็คือ “โรคซึมเศร้า” (Major depressive disorder) จากการศึกษาทั่วโลก พบโรคนนี้ในผู้สูงอายุถึงร้อยละ 2-10 และอาจพบได้สูงถึงร้อยละ 20 ในบ้านพักคนชรา
อาการโดยทั่วไปของโรคซึมเศร้า ได้แก่ อารมณ์เศร้าร้องไห้บ่อย รู้สึกเบื่อหน่ายไม่อยากทำอะไร แม้จะเป็นสิ่งที่เคยชอบทำ รู้สึกท้อแท้ คิดว่าตนเองไร้ค่า มีความคิดฆ่าตัวตาย ร่วมกับอาการทางร่างกาย เช่น นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร หรืออ่อนเพลียไม่มีแรง โดยในโรคซึมเศร้าอาการเหล่านี้ จะเป็นต่อเนื่องติดต่อกันเป็นสัปดาห์ และเป็นเกือบทั้งวัน ต่างจากอารมณ์เศร้าทั่วไปที่ใครๆ ก็มีได้ ซึ่งจะเป็นเพียงชั่วครั้งชั่วคราว ไม่นานก็หาย
ข้อแตกต่างระหว่างโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ กับโรคซึมเศร้าทั่วไป
ในผู้สูงอายุพบว่าจะมีอาการบางอย่างที่อาจแตกต่าง จากโรคซึมเศร้าทั่วไป ที่พบในวัยผู้ใหญ่ดังต่อไปนี้
• ผู้สูงอายุมักจะบอกว่า ไม่มีอารมณ์เศร้า ไม่มีร้องไห้บ่อยๆ แต่มักจะมีเพียงอาการเบื่อหน่าย ไม่ทำกิจกรรมอะไร ทำให้คนรอบข้างหรือแพทย์ไม่รู้ว่าผู้ป่วย ซึมเศร้าอยู่ เพราะเห็นอารมณ์เศร้าไม่ชัด
• ผู้สูงอายุที่เป็นโรคซึมเศร้า มักจะมีอาการทางกายเป็นอาการเด่น และมักไปพบแพทย์บ่อยๆ ด้วยอาการทางกายหลายๆ อย่าง เช่น ปวดหัว นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ท้องอืด หรือปวดเมื่อย เป็นต้น แต่เมื่อตรวจแล้ว ก็ไม่พบความผิดปกติอะไรที่ชัดเจน แพทย์ก็จะให้ยารักษาตามอาการไป ซึ่งกินแล้วก็อาจดีขึ้นชั่วคราว แต่ผู้ป่วยก็ยังมีอาการเหล่านี้ซ้ำๆ ไม่หายเนื่องจากตัวโรคซึมเศร้ายังไม่ได้รับการรักษา
• ผู้สูงอายุที่เป็นโรคซึมเศร้า อาจมีอาการหลงลืมง่าย สมาธิไม่ดี ทำให้คนรอบข้างหรือแพทย์ อาจเข้าใจผิดว่าเป็นโรคสมองเสื่อม (Dementia) ทั้งที่ความจริงผู้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า
ปัจจัยเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า
ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ ได้แก่
• อยู่คนเดียว ไม่ว่าจะเพราะโสด อย่าร้าง หรือคู่ชีวิตเสียชีวิต
• ไม่ได้เข้าสังคม
• มีโรคประจำตัวหลายโรค
• มีผู้ป่วยเรื้อรังในบ้านที่ต้องดูแล
• มีปัญหานอนไม่หลับบ่อยๆ
• ใช้สารเสพติด เช่น เหล้า
การรักษาโรคซึมเศร้า
การรักษาโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุประกอบไปด้วย การรักษาด้วยยาต้านเศร้า (Antidepressant) และการให้คำปรึกษา/จิตบำบัด ซึ่งการรักษาได้ผลดีไม่แตกต่าง จากโรคซึมเศร้าในผู้ป่วยทั่วไป เพียงแต่การให้ยาต้านเศร้า อาจจะต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้น เนื่องจากผู้ป่วยมักมีโรคประจำตัวทำให้ต้องกินยาหลายอย่าง ทำให้มีโอกาสที่ยาอาจจะทำปฏิกิริยาต่อกัน และผู้สูงอายุมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากยาได้ง่ายกว่าวัยผู้ใหญ่
การป้องกันโรคซึมเศร้า
สิ่งที่สำคัญกว่าการรักษา คือ การป้องกันไม่ให้เกิดโรค ซึ่งจากประสบการณ์ของผู้เขียนพบว่า สิ่งที่เป็นปัญหาและพบได้บ่อยๆ คือ ผู้สูงอายุหลายคนเกษียณแล้วก็อยู่บ้านเฉยๆ ไม่มีอะไรทำ ส่วนใหญ่ก็อยู่บ้านดูทีวี หรือนอนกลางวันไปเรื่อยๆ ไม่มีกิจกรรมอะไรทำที่ชัดเจน ไม่ได้ออกนอกบ้านไปไหน บวกกับส่วนใหญ่ลูกๆ ก็แยกบ้านไปหมดแล้ว ทำให้เกิดอาการซึมเศร้าได้ง่าย ดังนั้น สิ่งที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคซึมเศร้าได้ก็คือ การวางแผนก่อนเกษียณให้ดี โดยต้องคิดไว้ล่วงหน้าเลยว่าถ้าหยุดทำงานแล้ว จะทำอะไร ผู้สูงอายุควรมีกิจกรรมทำเป็นประจำ ไม่ใช่แค่นอนกับดูทีวีอยู่บ้าน เช่น ควรออกกำลังกายอย่างน้อย 3-4 วันต่อสัปดาห์ มีงานอดิเรกทำชัดเจน หรืออาจทำงานเล็กๆ น้อยๆ (Part-time) เพื่อให้มีอะไรทำและรู้สึกว่าตัวเองยังสามารถทำอะไรได้ นอกจากนี้ ควรมีการเข้าสังคมบ้างอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ เช่น อาจไปร่วมชมรมผู้สูงอายุ หรือจับกลุ่มพบประสังสรรค์กับเพื่อนที่อายุใกล้ๆ กัน และควรตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อที่ว่าหากเจ็บป่วยอะไร จะได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มแรก
อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ การให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนทั่วไป เพราะอย่างที่กล่าวมาแล้วว่า การรักษาส่วนใหญ่ได้ผลดี แต่ที่เป็นปัญหามากกว่าคือการขาดความรู้ความเข้าใจ ทำให้ประชาชนจำนวนมาก อาจไม่ได้มีการเตรียมตัวที่ดีพอ เมื่อต้องเข้าสู่วัยสูงอายุ รวมถึงลูกหลานอาจดูไม่ออกว่าผู้สูงอายุกำลังเป็นโรคซึมเศร้า ทำให้ไม่ได้พามารับการรักษา
สิ่งที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคซึมเศร้าได้ ก็คือ การวางแผนก่อนเกษียณให้ดี ควรมีกิจกรรมทำเป็นประจำ ไม่ใช่แค่นอนกับดูทีวีอยู่บ้าน เช่น มีงานอดิเรกทำชัดเจน หรืออาจทำงานเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้มีอะไรทำและรู้สึกว่าตัวเองยังสามารถทำอะไรได้
(Some images used under license from Shutterstock.com.)