© 2017 Copyright - Haijai.com
มารู้จักกับ 2 เชื้อร้าย 3 โรคอันตราย
ในปัจจุบันนี้หลายครอบครัวคงจะเคยได้ยินชื่อของ “เชื้อนิวโมคอคคัส (Pneumococcus) และเชื้อเอ็นทีเอชไอ (NTHi) สองเชื้อแบคทีเรียตัวร้ายที่แผลงฤทธิ์ จนก่อให้เกิดโรคอันตรายอย่าง โรคไอพีดี โรคปอดบวม หรือโรคหูชั้นกลางอักเสบ”
เชื้อนิวโมคอคคัส และเชื้อเอ็นทีเอชไอเป็นเชื้อแบคทีเรียที่พบได้ในโพรงจมูก และลำคอของคนเรา ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะไม่ก่อโรค แต่เมื่อใดที่ร่างกายอ่อนแอ เชื้อโรค 2 ชนิดนี้จะก่อให้เกิดอันตรายได้ โดยเชื้อเอ็นทีเอชไอจะเป็นสาเหตุหลักในการก่อให้เกิดโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่น ไซนัสอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดบวม โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เชื้อเอ็นทีเอชไอไม่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีนป้องกันเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อฮิบ ในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปีมีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อโรค 2 ชนิดนี้ โดยเชื้อโรคจะติดต่อจากคนสู่คนผ่านทางเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย เช่น ในขณะไอ จาม มีอาการคล้ายไข้หวัด ซึ่งเชื้อโรคนิวโมคอคคัส และเชื้อเอ็นทีเอชไอ เป็นตัวการก่อให้เกิดโรค เช่น โรคหูชั้นกลางอักเสบ (โรคหูน้ำหนวก) ปอดบวม (ปอดอักเสบ) โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือการติดเชื้อในกระแสเลือด
รู้จักกับ 3 โรค และวิธีป้องกัน
1.โรคไอพีดี (IPD : Invasive Pneumococcal Disease) คือ โรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดรุ่นแรง ได้แก่ โรคติดเชื้อในกระแสเลือด โรคปอดบวมจากการติดเชื้อในกระแสเลือด และโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งเป็นภาวะที่รุนแรงที่สุด ซึ่งเด็กที่ติดเชื้ออาจเสียชีวิต หรือพิการทางสมอง โดยอาการและระดับความรุนแรงของโรคติดเชื้อไอพีดี จะขึ้นอยู่กับระบบอวัยวะที่ติดเชื้อ
2.โรคปอดบวม (โรคปอดอักเสบ) คือ ปอดมีการติดเชื้อ และอักเสบ รวมถึงหลอดลม และถุงลม ทำให้ความสามารถในการทำงานของอวัยวะต่างๆ เหล่านี้ลดลง โรคปอดบวมเป็นโรคติดเชื้อที่พบบ่อยในเด็ก เกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อไวรัส โดยเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส และเชื้อฮิบเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดปอดบวมในเด็ก
3.โรคหูชั้นกลางอักเสบ คือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อที่บริเวณหูชั้นกลาง พบบ่อยในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ส่วนใหญ่เกิดร่วมกับหรือหลังจากการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน แล้วเชื้อโรคจากโพรงหลังช่องจมูกที่ทำให้เกิดหวัด แพร่กระจายมายังหูชั้นกลาง สาเหตุที่สำคัญเกิดจากเชื้อนิวโมคอสคัส เชื้อฮีโมฟีลุส (เช่น เชื้อฮิบ หรือเชื้อเอ็นทีเอชไอ)
วิธีป้องกันลูกให้ห่างไกลจาก 2 เชื้ออันตราย
1.เลี้ยงลูกด้วยนมแม่
2.ปิดปาก และจมูกทุกครั้งที่ไอ หรือจาม ล้างมือบ่อยๆ
3.หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยที่มีอาการ ไอ จาม รวมถึงหลีกเลี่ยงการพาลูกไปโรงพยาบาล(หากไม่จำเป็น หรือไม่ได้พาไปฉีดวัคซีน) หรือชุมชน เพราะเป็นสถานที่ที่ลูกสามารถสัมผัสเชื้อโรคต่างๆ ได้มาก
4.ปรึกษากุมารแพทย์เรื่องการเสริมภูมิคุ้มกัน เพื่อป้องกันโรค
(Some images used under license from Shutterstock.com.)