
© 2017 Copyright - Haijai.com
ชายวัยย่าง 40 ระวัง ลงพุง ขี้โมโห เหตุฮอร์โมนพร่อง
จากการศึกษาอุบัติการณ์ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในคลินิกสุขภาพเพศชายของโรงพยาบาลรามาธิบดีย้อนหลัง ระหว่างปี 2548-2549 พบว่า แนวโน้มเพศชายที่อายุเกิน 40 ปีขึ้นมีภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชายเพิ่มมากขึ้น ซึ่งใน 100 คนจะพบผู้มีภาวะพร่องฮอร์โมน 24 คน โดยจะมีปริมาณฮอร์โมนเพศชาย หรือฮอร์โมนเทสทอสเทอโรน ต่ำกว่า 300 นาโนกรัมต่อเดซิลิตร มีกลุ่มอาการพร่องฮอร์โมนชัดเจนเช่น ซึมเศร้า รู้สึกร้อนวูบวาบ ปวดเมื่อย ลงพุง ทั้งนี้ มีการศึกษาในต่างประเทศระบุว่า ตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไปฮอร์โมนชนิดนี้จะลดลงประมาณ 1.2% ต่อปี และเมื่ออายุ 70 ปี ผู้ชายจะมีปริมาณฮอร์โมนเพศชายลดลงประมาณ 35%
อาการภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชายจะไม่ต่างจากอาการหญิงวัยทองที่หมดประจำเดือน แต่ผู้ชายจะมีระดับฮอร์โมนเพศค่อยๆ ลดลง ไม่ได้ลดลงอย่างชัดเจนเหมือนในเพศหญิง ซึ่งการลดลงของฮอร์โมนเกิดจากการที่อัณฑะไม่ผลิตฮอร์โมน หรือผลิตน้อยเกินไป ส่งผลให้เกิดภาวะสมรรถภาพทางเพศเสื่อม จิตใจ อารมณ์เปลี่ยนไป โกรธง่าย ซึมเศร้า หงุดหงิด และระบบเมทาบอลิซึม หรือการเผาผลาญอาหารของร่างกายไม่ปกติ ทำให้มีไขมันหน้าท้องมาก ปวดเมื่อย กระดูกบางและพรุน ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลง การรักษาภาวะพร่องฮอร์โมนจำเป็นต้องได้รับฮอร์โมน ซึ่งประเทศไทยมี 2 รูปแบบ คือ
1.แบบรับประทาน ซึ่งจะต้องรับประทานพร้อมและหลังอาหารทันที และอยู่ในภาวะที่มีไขมันน้อยจึงจะมีประสิทธิภาพที่ดี
2.แบบฉีด ซึ่งจะทำให้มีฮอร์โมนเพศชายอยู่ในระดับที่ปกติได้นาน 3 เดือน แต่มีข้อจำกัดคือไม่ควรฉีดในผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งเต้านมโรคตับ และโรคเลือดโดยต้องอยู่ในการควบคุมของแพทย์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)