
© 2017 Copyright - Haijai.com
กรดโฟลิก กรดโพเลต
กรดโฟลิก (โพเลต, โฟลาซิน, วิตรมินบี 9) จัดเป็นวิตามินบีชนิดหนึ่ง ซึ่งละบายในน้ำ โดยในธรรมชาติจะพบในรูปแบบโฟเลต แล้วถูกเปลี่ยนเป็นกรดโฟลิกในร่างกาย โฟเลตพบได้ในอาหารทั่วไป เช่น ผัก โดยเฉพาะผักกินใบสีเขียวเข้ม (เช่น ผักขม) ผลไม้หรือน้ำผลไม้ ถั่วเปลือกแข็ง ถั่ว ถั่วฝัก (เช่น ถั่วฝักยาว) ผลิตภัณฑ์จากนม เนื้อสัตว์ปีก ไข่ อาหารทะเล ธัญพืช อาหารที่มีโฟเลตในปริมาณสูง ได้แก่ ผักขม ตับ ยีสต์ หน่อไม้ฝรั่ง กะหล่ำดาว และข้าว
โฟเลตในอาหารประมาณครึ่งหนึ่ง จากปริมาณของโฟเลตทั้งหมดในอาหาร จะถูกดูดซึมและเปลี่ยนเป็นรูปกรดโฟลิกในทางเดินอาหาร จากนั้นกรดโฟลิกจะถูกเปลี่ยนเป็นเตตระไฮโดรโฟเลต (Tetrahydrofolate) ซึ่งเป็นรูปแบบที่พบได้มากในกระแสเลือด โฟเลตปริมาณครึ่งหนึ่งของทั้งร่างกายถูกเก็บสะสมไว้ในตับ
สำหรับโฟเลต ที่จำหน่ายในท้องตลาดทั้งในรูปแบบยา และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จะอยู่ในรูปกรดโฟลิก กรดโฟลิก เป็นวิตามินจำเป็นที่ร่างกายสังเคราะห์เองไม่ได้ ขนาดของวิตามินที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน (Recommended Dietary Allowances : RDAs) แตกต่างกันไปตามช่วงอายุและสภาวะของร่างกาย โดยในเด็กอายุ 14 ปี ขึ้นไป ทั้งเพศหญิงและชายต้องการโฟเลตวันละ 400 มิลลิกรัม และในสตรีมีครรภ์ จะต้องการโฟเลตในปริมาณ สูงขึ้น คือ 600 มิลลิกรัม
ผลต่อสุขภาพ
โฟเลตทำหน้าที่เป็นโคเอนไซม์หรือสารตั้งต้น ร่วมในกระบวนการถ่ายทอดคาร์บอนจำนวนหนึ่งอะตอม ไปยังสารเคมีหลายชนิด ได้แก่ กรดนิวคลีอิก (ดีเอ็นเอและอาร์เอ็นเอ) ซึ่งทำหน้าที่เป็นสารพันธุกรรม และมีส่วนสำคัญในกระบวนการสังเคราะห์โปรตีนและสารเอส-อะดีโนซิล-เมไทโอนีน (S-adenosyl-methionine) ซึ่งถูกเปลี่ยนแปลงมาจากโฮโมซิสเตอีน (หลากครั้งจึงพบการศึกษาปริมาณกรดโฟลิกในร่างกาย ร่วมกับปริมาณโฮโมซิสเตอีน) สารเอส-อะดีโนซิล-เมไทโอนีน ทำหน้าที่เป็นสารให้หมู่เมทิลในร่างกาย นอกจากนี้โฟเลตยังจำเป็นต่อกระบวนการสังเคราะห์ไทมิดีน ซึ่งเป็นเบสที่สำคัญที่พบในดีเอนเอ โฟเลต จึงมีความสำคัญอย่างมาก ในการสังเคราะห์ ดีเอ็นเอ ในการแบ่งเซลล์
ภาวะขาดกรดโฟลิกเพียงอย่างเดียว เป็นภาวะที่พบได้ยากมาก โดยมากมักพบร่วมกับภาวะขาดสารอาหารอื่นๆ เนื่องจากผู้ที่ขาดโฟเลตมักเป็นผู้ที่มีปัญหา ด้านพฤติกรรมการบริโภค เช่น มีภาวะขาดอาหาร ติดแอลกอฮอล์เรื้อรัง หรือการดูดซึมสารอาหารบกพร่อง ดังที่กล่าวข้างต้นว่า โฟเลตจำเป็นต่อการแบ่งเซลล์ การขาดโฟเลต จึงทำให้เกิดภาวะโลหิตจางชนิด Megaloblastic anemia เป็นอันดับแรก โลหิตจางดังกล่าวทำให้เม็ดเลือดแดง มีขนาดใหญ่ และมีนิวเคียสผิดปกติ ผู้ที่มีภาวะโลหิตจางดังกล่าว จะไม่มีแรง ล้า ขาดสมาธิ หงุดหงิด ปวดศีรษะ ใจสั่น หายใจเป็นช่วงสั้น นอกจากนี้ การขาดโฟเลตยังทำให้เป็นแผลในปากและลิ้น เกิดภาวะผม ผิว และเล็บมือเปลี่ยนสี สตรีวัยเจริญพันธุ์ เป็นวัยที่มีความเสี่ยงสูง เมื่อเกิดภาวะขาดโฟเลต เนื่องจากหากได้รับโฟเลตปริมาณไม่เพียงพอระหว่างตั้งครรภ์ จะทำให้ทารกพิการแต่กำเนิด เนื่องจากภาวะไขสันหลังไม่ปิด (Neural tube defects) นอกจากนี้ การได้รับโฟเลตไม่เพียงพอระหว่างตั้งครรภ์ ยังสัมพันธ์กับภาวะทารกน้ำหนักน้อยหลังคลอด คลอดก่อนกำหนด หรือเด็กโตช้ากว่าปกติ
จากการศึกษาพบว่า เด็กและผู้สูงอายุที่รับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่มีโฟเลตเป็นส่วนผสม มักเสี่ยงต่อภาวะได้รับโฟเลตเกิน อย่างไรก็ตาม ผลของการได้รับโฟเลตเกินขนาดที่กำหนดยังไม่เป็นที่แน่ชัด มีงานวิจัยเสนอว่า การรับประทานโฟเลตจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในปริมาณสูงเกินไป ทำให้เกิดภาวะขาดวิตามินบี 12 และอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งได้ ทั้งนี้ยังไม่มีผลงานวิจัยอย่างเป็นทางการรองรับแต่อย่างใด
ปฏิกิริยาระหว่างยา
กรดโฟลิกมีปฏิกิริยาต่อยาหลายชนิด โดยเฉพาะยาที่มีผลยับยั้งการสังเคราะห์กรดโฟลิก ซึ่งใช้สำหรับฆ่าเซลล์มะเร็ง (เช่น Methotrexate) และยังมีผลต่อยาต้านชัก (เช่น Phenytoin, Carbamazepine, Valproate) และยาต้านการอักเสบ (Sulfasalazine) ในบางกรณีแพทย์อาจสั่งกรดโฟลิกรับประทานควบคู่กับการรักษา เพื่อลดพิษจากยา แต่ไม่ควรเริ่มรับประทานกรดโฟลิกเอง หรือปรับขนาดยาโดยพลการ เนื่องจากอาจทำให้การรักษาด้วยยาข้างต้นล้มเหลวได้
ผู้ต้องการรับประทานโฟเลต เพื่อเสริมสารอาหาร ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีโฟเลตสูง เนื่องจากไม่พบว่าการได้รับโฟเลตจากอาหารทำให้เกิดอันตรายแต่อย่างใด หากต้องการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ควรดูฉลากของผลิตภัณฑ์ทุกชนิด เพื่อหลีกเลี่ยงการรับประทานสารอาหารชนิดเดียวกัน ซ้ำซ้อนจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหลายชนิด ผู้ที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้ง ก่อนรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใดๆ สตรีมีครรภ์ควรรับประทานโฟเลตตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันภาวะทารกพิการจากการขาดโฟเลต
(Some images used under license from Shutterstock.com.)