
© 2017 Copyright - Haijai.com
อาหาร Fast Food VS อาหาร Junk Food
อาหาร ตามความหมายที่เขียนไว้ในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 หมายถึง “วัตถุทุกชนิดที่คน กิน ดื่ม อม หรือนำเข้าสู่ร่างกายไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ หรือในรูปลักษณะใดๆ แต่ไม่รวมถึงยา วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท หรือยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นแล้วแต่กรณี หรือวัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้หรือใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตอาหาร รวมถึงวัตถุเจือปนอาหาร สี และเครื่องปรุงแต่งกลิ่นรส”
ในปัจจุบันคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับอาหารถูกกำหนดขึ้นมามากมาย ตามการเปลี่ยนแปลงของบริบททางสังคม บางคำก็แปลตรงตามคำ บางคำก็มีความหมายเป็นนัยยะ บางคนจึงสับสนในการใช้ ทั้งที่ได้ยินคำเหล่านี้บ่อยๆ ยกตัวอย่างความแตกต่างของคำว่า ฟาสต์ฟู้ด (Fast Food) กับ จังก์ฟู้ด (Junk Food)
ฟาสต์ฟู้ด (Fast Food)
หมายถึง อาหารที่ปรุงไว้แล้ว สามารถเสิร์ฟให้กับลูกค้าได้ในทันที หรือใช้เวลาอันสั้นมากในการเตรียมก่อนเสิร์ฟ เพราะอาหารเหล่านี้ มักถูกเตรียมและปรุงไว้จนสำเร็จรูป หรือเกือบสำเร็จรูปแล้ว เมื่อลูกค้าสั่งก็จะเหลือแค่ขั้นตอนสุดท้าย หรือการอุ่นเท่านั้น ซึ่งก็มักจะใช้เวลาไม่กี่นาที จึงมักเรียกว่า “อาหารจานด่วน” ซึ่งบางชนิดอาจมีสารอาหารครบถ้วน เพราะอาหารประเภทนี้ จำแนกได้ด้วยความเร็วของการเสิร์ฟ จึงไม่เกี่ยวกับคุณค่าทางโภชนาการ เช่น ในข้าวราดแกง ที่ประกอบด้วย ข้าว (1/4 ของจาน) เนื้อสัตว์ (1/4 ของจาน) และผัก (1/2 ของจาน) ก็เป็นฟาสต์ฟู้ด (Fast Food) ที่มีคุณค่าทางโภชนาการได้ อย่างไรก็ตาม หากข้าวราดแกงมีแต่ข้าวกับอาหารทอดก็นับเป็นฟาสต์ฟู้ด (Fast Food) ได้ แต่อาจไม่มีประโยชน์ทางโภชนาการ
ฟาสต์ฟู้ด (Fast Food) เกิดขึ้นตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่การเดินทาง ทำได้สะดวกรวดเร็วมาก รถยนต์ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย และเป็นครั้งแรกที่มีการบริการอาหารแบบ drive-in เมื่อบริษัทอาหารในประเทศสหรัฐอเมริกาเริ่มให้บริการแฮมเบอเกอร์ ชนิดเสิร์ฟเร็วและมีราคาถูกมาก จึงทำให้อาหารฟาสต์ฟู้ด (Fast Food) เป็นที่นิยมอย่างรวดเร็ว นอกจากนั้นสิ่งแปลกใหม่ในการบริการอาหารในสมัยนั้น เป็นส่วนเสริมอีกอย่างหนึ่ง ที่ทำให้อาหารฟาสต์ฟู้ด (Fast Food) แพร่หลายอย่างรวดเร็ว
ดังที่กล่าวไว้ว่า ลักษณะเด่นของฟาสต์ฟู้ด (Fast Food) คือ เป็นอาหารที่ปรุงได้รวดเร็ว หรืออาจปรุงสำเร็จแล้วนำมาอุ่นก่อนเสิร์ฟเท่านั้น หรือที่เรียกว่า “on the go” จึงมักสามารถรับประทานได้ โดยไม่ต้องมีช้อน ส้อม มีด หรืออุปกรณ์ใดๆ ฟาสต์ฟู้ด (Fast Food) จึงเป็นที่นิยมในกลุ่มวัยรุ่น วัยทำงานที่มีเวลาไม่แพงมาก เพราะต้องการให้บริการกับผู้บริโภคที่อยู่ในช่วงวัยเรียนและวัยทำงานเป็นหลัก ตัวอย่างฟาสต์ฟู้ด (Fast Food) เช่น แซนด์วิช แฮมเบอเกอร์ ไก่ทอด เฟรนช์ฟราย หอมทอด พิซซ่า ฮอทดอก และสลัด เป็นต้น
จังก์ฟู้ด (Junk Food)
หรือที่แปลเป็นภาษาไทยตรงตัวว่า “อาหารขยะ” หมายถึง อาหารที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการใดๆ (Non-Nutritional Value) มักมีสารอาหารไม่ครบถ้วน มีไขมัน น้ำตาล แป้งเป็นส่วนใหญ่ จึงให้พลังงานสูงแต่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ หรือไม่ให้สารอาหารที่มีประโยชน์กับร่างกาย จังก์ฟู้ด (Junk Food) บางชนิดยังมีเกลือ สารกันบูด ซึ่งมีโซเดียมในปริมาณมาก อาจก่อให้เกิดโทษกับร่างกาย การกินอาหารประเภทนี้บ่อยๆ จะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคไต
ลักษณะเด่นของจังก์ฟู้ด (Junk Food) ส่วนใหญ่มักมีรูปลักษณ์ที่น่ารับประทาน สีสันและบรรจุภัณฑ์สวยงาม มีราคาถูก พกพาและกินได้สะดวกในทุกที่ เก็บได้นานโดยไม่ต้องแช่เย็น
ตามประวัติแล้ว คำว่าจังก์ฟู้ด (Junk Food) ใช้เรียกอาหารที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการตั้งแต่ปี 1972 เพื่อเรียกร้องความสนใจจากสังคมว่า อาหารเหล่านี้นอกจากจะไม่มีประโยชน์ทางโภชนาการแล้ว บางชนิดยังทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เกิดโทษทางสุขภาพได้อีกด้วย
ลักษณะเด่นของจังก์ฟู้ด (Junk Food) ส่วนใหญ่มักมีรูปลักษณ์ที่น่ารับประทาน สีสันและบรรจุภัณฑ์สวยงาม มีราคาถูก พกพาและกินได้สะดวกในทุกที่ เก็บได้นาน โดยไม่ต้องแช่เย็น ทำให้สะดวกต่อการเก็บและการจัดจำหน่าย ส่วนใหญ่ราคาไม่แพงมาก เป็นที่นิยมในผู้บริโภคทุกช่วงวัย และทุกเศรษฐานะ ตัวอย่างจังก์ฟู้ด (Junk Food) เช่น น้ำหวาน ชา กาแฟ ขนมหวาน ลูกอม มันฝรั่งทอด และน้ำอัดลมสีต่างๆ เป็นต้น
อ่านมาถึงตรงนี้ เราคงเข้าใจความหมายและความแตกต่างของฟาสต์ฟู้ด (Fast Food) กับจังก์ฟู้ด (Junk Food) กันมากขึ้น แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุด คือ การใช้วิจารณญาณในการเลือกรับประทานอาหาร โดยเลือกอาหารที่ดีมีประโยชน์ในปริมาณที่เหมาะสม มีความหลากหลายครบ 5 หมู่ ให้สมดุลกับความต้องการของร่างกายอย่างแท้จริง ทั้งนี้เพื่อสุขภาพที่ดีของตัวเราเอง
(Some images used under license from Shutterstock.com.)