Haijai.com


พัฒนาการเคลื่อนไหวของร่างกายสำหรับเด็กวัย 4 ปี


 
เปิดอ่าน 2400

Physical  Development หนูน้อยวัย 4 ขวบกับพัฒนาการที่ก้าวกระโดด

 

 

การพัฒนาการเคลื่อนไหวของร่างกายสำหรับเด็กวัย 4  ปี มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการพัฒนาด้านอื่นๆ เด็กวัยนี้ต้องการการส่งเสริมในเรื่องกิจกรรมการเคลื่อนไหว  ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้พัฒนาการด้านการเรียนรู้ ด้านอารมณ์ และจิตใจให้มีพัฒนาการที่ดีตามไปด้วย  

 

 

เด็กวัยนี้จะมีความสุขกับการได้มีโอกาสสัมผัสกับธรรมชาติ  การได้ไปสถานที่ใหม่ๆ ที่ไม่เคยไป การได้เรียนรู้ พบเจอเพื่อนใหม่ การได้ไปทัศนาจรท่องเที่ยวยังสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ พร้อมกับการได้สัมผัส ลองลิ้มชิมรสชาติอาหารที่ไม่เคยทาน การได้เดินทางโดยพาหนะใหม่ เช่น รถไฟ รถไฟลอยฟ้า รถสามล้อ (เด็กๆ ชอบนั่งรถสามล้อ ให้ผมปลิวกระเจิง) เป็นต้น

 

 

ถึงแม้การทำกิจกรรมเดินทาง และกิจกรรมบางกิจกรรมทั้งในบ้านและนอกบ้าน อาจไม่ใช่การใช้ทักษะการเคลื่อนไหวของร่างกายอย่างชัดเจน แต่สองสิ่งนี้เกี่ยวเนื่องกัน และส่งผลในการเรียนรู้ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ เช่น

 

 

 เด็กๆ จะกระตือรืนร้น มีความสุข รอคอย ควรเปิดโอกาสให้เด็กมีส่วนในการร่วมวางแผน การเสนอไอเดีย การแก้ปัญหา เช่น เราจะเอาอะไรไปทานบนรถไฟดีนะ  เตรียมเสื้อผ้ากี่ชุดดีละ จะเอาเจ้าตูบไปฝากไว้กับเพื่อนบ้านดีไหมคะเป็นต้น

 

 

 เด็กๆ เรียนรู้ผ่านกิจกรรม ประสบการณ์ใหม่ที่พบเจอโดยการสนับสนุนของผู้ใหญ่ เด็กเรียนรู้การเจรจาต่อรอง การแจกจ่ายความรับผิดชอบ เช่น มีส่วนลดสำหรับเด็กเล็กในการเข้าชมพิพิธภัณฑ์ เด็กสูงต่ำกว่า 110 เซนติเมตร เข้าใช้บริการรถไฟฟ้าฟรี แม่อุ้มน้อง พ่อช่วยปิดประตู หนูวัยซนช่วยแม่หิ้วกระเป่าน้อง เป็นต้น

 

 

 ในบางครั้งเด็กอาจสนุกกับการวิ่งเล่น ปีนป่าย เพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ แต่หลายครั้งที่เด็กอาจสนุกกับการได้ร่วมสนทนากับเพื่อนคุณแม่ หรือมิตรคนใหม่ โดยไม่สนใจที่จะวิ่งเล่นก็ได้

 

 

การจัดกิจกรรมที่ใช้การเคลื่อนไหวของร่างกายมีความสำคัญสำหรัญเด็กในวัยเจริญเติบโตเป็นอย่างมาก ซึ่งในวัยนี้การวางพื้นฐานทักษะการใช้ร่างกายในการเคลื่อนไหว ทำกิจกรรมต่างๆ เหมาะสมกับวัยเป็นแนวทางที่จะทำให้เด็กสามารถทำกิจกรรมที่มีความซับซ้อน ต้องใช้ทักษะมากยิ่งขึ้นเมื่อเด็กเติบโตเป็นลำดับ เด็กในวัยนี้ไม่สามารถนั่งอยู่กับที่เป็นเวลานาน ฉะนั้นผู้ใหญ่ไม่ควรคาดหวังว่าเด็กจะทำได้ ในบางกรณีที่เด็กจำเป็นต้องนั่งอยู่กับที่เป็นเวลาระยะหนึ่ง เช่น ต้องเข้าร่วมกิจกรรมสาธารณะ ในโรงละคร ผู้ใหญ่ควรอยู่อย่างใกล้ชิด คอยพูดคุย เพื่อให้การนั่งนิ่งๆ  มีความเป็นไปได้

 

 

พ่อแม่ควรจัดกิจวัตรประจำวัน กิจกรรมพิเศษ ทั้งในร่มและในที่กลางแจ้ง โดยการวางแผนที่ดีจากผู้ใหญ่ เปิดโอกาสให้เด็กมีส่วนร่วมในการเลือก ออกความคิดเห็น เพือให้เด็กๆ ได้สัมผัสบรรยากาศธรรมชาติ ได้วิ่งเล่น ได้อย่างอิสระ ในวันหยุดสุดสัปดาห์ หรือวันหยุดภาคเรียน หากเด็กได้มีโอกาส วิ่งเล่น ในที่กว้าง ได้ออกกำลังกายในที่โล่ง จะทำให้เด็กได้พัฒนากล้ามเนื้อทุกส่วน และมีผลในด้านอารมณ์และจิตใจ ส่งผลให้เด็กรับประทานอาหารได้ดียิ่งขึ้น นอนหลับพักผ่อนได้ลึก นานขึ้น ซึ่งจะช่วยให้รางกายได้พักผ่อนอย่างเต็มขึ้นทำให้เด็กเติบโตอย่างแข็งแรง มีสุขภาพดี

 

 

ตัวอย่างการวางแผนกิจกรรมโดยมีผู้ใหญ่เป็นผู้คอยดูแล แต่เด็กเป็นผู้กำหนดกิจกรรมด้วยตนเอง  การเริ่มต้นทำกิจกรรมโดยเด็กเป็นผู้ดำเนินการตั้งแต่การวางแผนและจบสิ้นกิจกรรม เช่น การทำงานศิลปะ

 

 

 ให้เด็กเป็นผู้กำหนดถึงกิจกรรมงานศิลปะที่ต้องการทำ

 

 

 อุปกรณ์ที่ต้องการใช้

 

 

 ระยะเวลาที่ใช้ในการทำ

 

 

 การจัดเก็บอุปกรณ์ที่ใช้เมื่อเสร็จสิ้น และ การกำหนดกิจกรรมต่อไป

 

 

การที่พ่อแม่ได้ให้เด็กเป็นผู้กำหนดเองว่า ต้องการทำงานศิลปะ ชิ้นงานอะไร การเลือกหาอุปกรณ์ที่ต้องใช้เอง การกำหนดเวลาที่ต้องการใช้ เป็นการให้เด็กได้ใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรร การวางแผน การมีเป้าหมายเวลา เรียนรู้ถึงเวลา การรับผิดชอบสิ่งที่ตนเองทำโดยการจัดเก็บของใช้หลังกิจกรรมเสร็จสิ้น และการมีเป้าหมายการใช้เวลาต่อไป เช่น หลังจากทำเสร็จ คุณแม่จะปอกแอปเปิ้ลให้หนูทานดีไหมค่ะ

 

 

การมีส่วนร่วมการใช้เวลาในแต่ละวันของเด็กๆ ทำให้ทุกคนสามารถล่วงรู้ถึงกิจกรรมที่จะทำขึ้นในแต่ละวัน เพื่อป้องกันความสับสน หากความต้องการที่ไม่ตรงกัน เป็นการสร้างบรรยาการการสื่อสารที่ดีระหว่างสมาชิกของครอบครัว และเป็นการปลูกฝังการสื่อสารที่ดีจากตนเองและต่อผู้อื่นในอนาคต

 

 

หากลูกมีเพื่อนมาร่วมทำกิจกรรมที่บ้าน หรือการทำกิจกรรมนอกบ้าน การทำการตกลงร่วมกันก่อนเริ่มกิจกรรมใดๆ ก็เป็นการป้องกันการสับสน อีกทั้งทำให้ทุกฝ่ายทั้งพ่อแม่ ผู้ช่วยดูแลเด็ก และตัวเด็กเองได้รู้ถึงกิจกรรมต่างๆ ได้ดี ตัวอย่าง

 

 

“เอาหล่ะ หนูๆ จ๋า วันนี้เราจะทำงานศิลปะ ด้วยกัน และเราจะร่วมเก็บอุปกรณ์ ให้เรียบร้อย ก่อนที่เราจะทานอาหารว่างด้วยกันน่ะจ๊ะ”

 

 

“เรามาร่วมร้องเพลง พร้อมทั้งเก็บอุปกรณ์ร่วมกันน่ะ จ๊ะ แล้วเราจะทานขนมพร้อมกัน” เด็กๆ จะรู้สึกสนุกสนาน กับการได้ร่วมรับประทานขนมพร้อมกันกับเพื่อนๆ หลายๆ คน

 

 

การให้เด็กได้ทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยตนเอง โดยมีผู้ใหญ่เป็นเพียงผู้แนะนำ เป็นการฝึกฝนให้เด็กทำงานเป็นระบบ ขั้นตอน เพื่อการปลูกฝังวินัยที่ดี

(Some images used under license from Shutterstock.com.)