Haijai.com


พัฒนาการด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว 0-12 เดือน


 
เปิดอ่าน 4630

Physical  Development พัฒนาการด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว

 

 

หนูน้อยวัยเบบี้ ต้องการการช่วยเหลือในการเคลื่อนไหวจากผู้ใหญ่ เนื่องจากเด็กจะยังไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวศีรษะของตนเองได้  เพราะมีขนาดที่ใหญ่และหนักกว่าเมื่อเทียบกับร่างกาย ในช่วงสัปดาห์และเดือนแรกๆ ของชีวิตหนูน้อย การควบคุมกล้ามเนื้อจะเริ่มจากส่วนบนลงมายังส่วนล่าง และจากส่วนกลางของร่างกายไปสู่ทั้งร่างกายในที่สุด

 

 

สำหรับเด็กทารกที่กระฉับกระเฉง เด็กจะพยายามผงกศีรษะได้ก่อนที่กล้ามเนื้อบริเวณคอจะแข็งแรงเสียด้วยซ้ำ ซึ่งบ่อยครั้งที่หนูน้อยจอมพลังคนนี้จะโยกศีรษะมาชนกับจมูกของผู้ใหญ่ ในขณะที่ผู้ใหญ่อุ้มหนูน้อยมาใกล้ๆ หน้า หรือกำลังอยากจะหอมเจ้าตัวเล็ก หนูน้อยก็ผงกศีรษะมาชนเข้าอย่างจัง เจ็บทั้งผู้ใหญ่และเด็ก หนูน้อยจะพยายามทำซ้ำจนกว่ากล้ามเนื้อบริเวณคอจะแข็งแรง และสามารถควบคุมการเคลื่อนไหว หันไปมารอบๆ เพื่อเรียนรู้สิ่งแวดล้อมรอบตัว

 

 

 เด็กเล็กทุกคนมีสัญชาตญาณแห่งการกระตือรืนร้นต่อสิ่งใหม่ๆ สนใจที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่รอบๆ ตัว เด็กจะคว้าสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเพื่อสัมผัส หรือมองอย่างสนใจใคร่รู้ ผู้ใหญ่ต้องให้แน่ใจว่า เด็กถูกจัดให้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย และเอื้อต่อการเรียนรู้

 

 

 เด็กเล็กจะลองผิด ลองถูกในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เด็กใช้การสัมผัส จับ ถีบขาไปมา แกว่งแขนขึ้นลง ผลักไปข้างหน้า ผิดบ้างถูกบ้าง ซึ่งจะออกมาในรูปแบบทำซ้ำๆ อย่างตั้งใจ และพยายาม โดยผู้ใหญ่สามารถที่จะสังเกตได้ถึงความพยายามนี้

 

 

 เด็กที่สามารถเคลื่อนไหวไปมาได้ในสิ่งแวดล้อมที่จัดไว้อย่างเหมาะสม จะสามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของตนเองได้ การเคลื่อนไหวนี้จะส่งข้อมูลไปยังสมองเด็ก การกระทำซ้ำๆ จะบันทึกเป็นเส้นทางในสมอง และการกระทำซ้ำๆ นั้นจะช่วยพัฒนาสมองของเด็กให้มีการเรียนรู้ที่ดี

 

 

 หากลองสังเกตถึงความพยายามของเด็กทารก ที่จะพยายามกระทำพฤติกรรมซ้ำๆ เช่น เอื้อมหยิบสิ่งของ หยิบของและปล่อยให้หลุดจากมือซ้ำๆ  ผู้ใหญ่จะสังเกตได้อย่างชัดเจนว่า เด็กเริ่มมีความมั่นใจในการกระทำ และทำได้คล่องตัวมากยิ่งขึ้น ด้วยความมั่นใจ ที่สำคัญการทำงานร่วมกันระหว่าง มือ แขน ขา และสายตาก็สามารถที่จะทำงานได้เป็นอย่างดี

 

 

 ในช่วงประมาณเดือนที่ 3 ของเด็กทารก การเตะขา การออกแรงถีบ จะมีพลังมากยิ่งขึ้น เด็กบางคนอาจสามารถออกแรงขยับขา เตะ ถีบ จนกางเกงหลุดออกมาได้  ตอนนี้เด็กมีร่างกายที่แข็งแรงขึ้นจากการอยู่ในท่านอนตะแคงมาเป็นการนอนหงายได้เอง

 

 

 ในเดือนที่ 4-5 เด็กเริ่มส่งเสียงหัวเราะออกมาดังๆ เมื่อถูกกระตุ้นด้วยการจั๊กกะจี้ หรืออุ้มขึ้นมาสูงๆ ด้วยอ้อมแขนของพ่อผู้แข็งแรง

 

 

 ในเดือนที่ 5 เด็กเริ่มใช้แขนและมือ ในการหยิบจับ ตุ๊กตา ผ้าห่ม เด็กชอบที่จะนอนและหยิบจับของเล่นด้วยตนเอง และชอบสัมผัสหน้าของผู้ใหญ่

 

 

 ในเดือนที่ 5-6 เด็กจะตื้นเต้นเมื่อค้นพบว่าตนเองสามารถกลิ้งไปมาและสามารถคว่ำได้ในที่สุด และจะพยายามหลายๆ ครั้งจนสามารถทำได้คล่องตัวขึ้น ผู้ใหญ่ควรให้การดูแลอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเด็กจะพยามยามค้นพบการพัฒนาของกล้ามเนื้อ และอาจตกจากเบาะที่นอนได้

 

 

 ในเดือนที่ 6 เป็นต้นไป เด็กจะเริ่มสามารถนั่งหากถูกจับให้อยู่ในท่านั่ง และจะสามารถนั่งได้ด้วยการควบคุมกล้ามเนื้อทุกส่วนด้วยตนเอง  แต่ในบางครั้งก็ไม่อาจจะควบคุมตนเองได้จนทำให้หน้าคว่ำ ผู้ใหญ่ควรดูแลอย่างใกล้ชิด หรือหาผ้าห่ม เบาะมาลองรอบๆ บริเวณเพื่อป้องกันการตกขมำได้ เด็กจะเริ่มคว่ำ และเริ่มควบคุมกล้ามเนื้อคอ จนสามารถยกศีรษะได้ ยกไหล่ และแขนได้จนสามารถเรียกได้ว่า ท่าบินของหนูน้อย

(Some images used under license from Shutterstock.com.)