© 2017 Copyright - Haijai.com
โรคหลอดเลือดในสมอง (อัมพฤกษ์ อัมพาต)
โรคหลอดเลือดสมอง คืออะไร
โรคหลอดเลือดสมองตีบ หรือ โรคสมองขาดเลือด หรือที่คนธรรมดาอย่างเราๆ ท่านๆ เรียก “โรคอัมพาต” นั้น ก็เป็นอีกโรคหนึ่งที่คนไทยควรระมัดระวัง อย่างไรก็ดี ถ้าผู้ป่วยรายใดมีอาการไม่รุนแรง ยังพอขยับได้บ้าง เราก็อาจจะเรียกโรคนี้ว่า “โรคอัมพฤกษ์” โรคอัมพาตเป็นเรื่องใกล้ตัว ที่ทุกคนจะต้องทราบเกี่ยวกับโรคนี้ หลายท่านคงไม่ทราบว่าโรคนี้ สามารถป้องกันได้ หลายท่านคงไม่ทราบว่าตัวเอง คุณพ่อ คุณแม่ ตลอดจนคนรู้จักหรือญาติมิตร มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ หากท่านทราบและปฏิบัติตัวได้อย่างเหมาะสม ก็สามารถป้องกันโรคนี้ได้ ดังนั้น จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยง และยังไม่พยายามที่จะลดความเสี่ยงเหล่านั้น ได้ทราบถึงอันตราย และผลที่จะเกิด หากท่านเป็นโรคอัมพาต
เชื่อว่าหลายต่อหลายท่านยังมีความเข้าใจผิดว่า โรคอัมพาตรักษาไม่ได้ อัมพาตป้องกันไม่ได้ อัมพาตเป็นเฉพาะผู้สูงอายุเท่านั้น อย่างไรก็ดี ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องนัก นั่นก็เป็นเพราะว่าเราสามารถป้องกันอัมพาตได้ อัมพาตสามารถรักษาให้หายได้ และอัมพาตสามารถเป็นได้กับผู้ป่วยในทุกช่วงอายุ
ปัจจัยเสี่ยงและสาเหตุของโรคหลอดเลือดในสมอง
สมองของคนเราแบ่งออกเป็น 4 ส่วนใหญ่ๆ ด้วยกัน อันได้แก่
• สมองซีกขวา (Right cerebral hemisphere)
• สมองซีกซ้าย (Left cerebral hemisphere)
• สมองน้อย (Cerebellum)
• และก้านสมอง (Brain stem)
โดยสมองแต่ละส่วนทำหน้าที่ต่างกัน สมองของเราประกอบด้วยเซลล์สมองเป็นจำนวนมาก ที่สำคัญสมองไม่สามารถสะสมอาหารและออกซิเจน (oxygen) เหมือนกล้ามเนื้อ แต่สมองจะได้รับสารอาหารและออกซิเจน (oxygen) จากเลือดที่ไปเลี้ยงสมองนั่นเอง หากสมองขาดเลือดเพียง 4 นาที ก็เพียงพอแล้ว ที่จะทำให้เซลล์สมองขาดสารอาหารและออกซิเจน (oxygen) จนทำให้เสียชีวิตในที่สุด
ผู้ป่วยอัมพาตกว่า 40 % เกิดความดันโลหิตสูง ดังนั้น การคุมอาหาร การออกกำลังกาย และการลดน้ำหนัก จึงเป็นสิ่งจำเป็นมาก
สาเหตุส่วนใหญ่ เกิดจากหลอดเลือดแดงแข็งตัว และมีคราบไขมันเกาะตามผนังหลอดเลือด จนทำให้เกิดลิ่มเลือดไปอุดเส้นเลือดที่หลอดเลือดแดงใหญ่ หากเป็นดังนี้ อาการก็จะเป็นมาก และมักพบว่ามีหลอดเลือดหัวใจตีบร่วมด้วย แต่ถ้าเกิดที่หลอดเลือดแดงเล็กอาการจะไม่หนักมากเท่าไรนัก ลิ่มเลือดนั้น โดยมากแล้วมักจะเกิดในหัวใจที่วาย หรือหัวใจที่เต้นผิดปกติ ลิ่มเลือดจะลอยไปติดที่เส้นเลือดในสมองผู้ป่วย จะเกิดอาการอ่อนแรง 5-6 นาที แล้วหายไป ในบางครั้งเส้นเลือดในสมองแตก จนทำให้เซลล์สมองตาย สาเหตุประการสำคัญของเส้นเลือดในสมองแตกก็คือ ความดันโลหิตสูงนั่นเอง
การป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดในสมอง
• การมีไขมันในเลือดสูง มักจะเกิดจากผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน เมื่อมีไขมันในเลือดสูง ก็จะทำให้เพิ่มโอกาสเกิดโรคอัมพาตมากยิ่งขึ้น และมีอัตราเสี่ยงมากเป็น 4 เท่า ของคนปกติ
• ผู้ป่วยอัมพาตกว่า 40% เกิดจากความดันโลหิตสูง ดังนั้น การควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย และการลดน้ำหนัก จึงเป็นสิ่งจำเป็นมาก อย่างไรก็ตามควรตรวจวัดความดันทุก 2 ปี ถ้าความดันโลหิตมากกว่า 180/100 มม.ปรอท ก็ขอให้ระวังให้มากขึ้น
• การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยง เนื่องจากทำให้หลอดเลือดแดงแข็งเร็วขึ้น สารนิโคตินทำให้หลอดเลือดแดงเกร็ง ลดความยืดหยุ่นของเส้นเลือด หัวใจทำงานมากขึ้น และความดันโลหิตก็เพิ่มขึ้นด้วย
• ผู้ป่วยที่มีโรคหลอดเลือดแดงแข็ง โดยเฉพาะหลอดเลือดที่เรียกว่า Carotid artery disease นั้น เป็นเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง ดังนั้น หากมีลิ่มเลือดไปอุดตันตรงจุดนี้ ก็จะทำให้เกิดโรคอัมพาตได้ จากการวิจัยทางการแพทย์ พบว่า ผู้ชายจะมีโอกาสเป็นราว 10% ส่วนผู้หญิงจะมีโอกาสเป็นเพียง 7%
การรักษาโรคหลอดเลือดในสมอง
เป้าหมายสำคัญของการรักษา โรคหลอดเลือดสมองนั่น ก็คือ การฟื้นฟูสภาพ เพื่อให้ผู้ป่วยมีความสามารถที่จะช่วยเหลือตัวเอง สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนดังเดิม และมีคุณภาพชีวิตใกล้เคียงปกติมากที่สุด ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่สามารถให้การฟื้นฟูได้ดี เป็นผู้ป่วยที่สามารถที่จะรับรู้ เข้าใจในสิ่งที่เราสื่อสาร มีอารมณ์ดี และไม่มีอาการซึมเศร้า
วิธีการที่สำคัญของการรักษาอัมพาตนั้น ก็คือ ต้องรีบรักษาตั้งแต่ระยะแรก เพื่อให้เซลล์สมองถูกทำลายไปได้น้อยที่สุด หากมิฉะนั้นแล้ว การฟื้นตัว จะกลับมาได้ยากมาก ผู้ป่วยอัมพาตระยะแรกต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ และให้การรักษาโดยยา บางรายอาจจะจำเป็นต้องให้การรักษา โดยการผ่าตัดและให้ยาร่วมกันไป ภายหลังสัปดาห์แรก ผู้ป่วยจะฟื้นตัวมาตามลำดับ แต่ต้องอาศัยการรักษาทางกายภาพบำบัด
อย่างไรก็ตาม ขณะรักษานั้น จะต้องป้องกันมิให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ภาวะปอดอักเสบ การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ การติดเชื้อที่แผลกดทับ และการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เป็นต้น เราอาจจะกล่าวได้ว่า การฟื้นฟูสภาพ เป็นหัวใจหลักของโรคหลอดเลือดในสมองก็ว่าได้ การดูแลผู้ป่วยอัมพาตในระยะยาว ต้องการกำลังสำคัญนั่นก็คือ ญาติพี่น้องของผู้ป่วยนั่นเอง
(Some images used under license from Shutterstock.com.)