
© 2017 Copyright - Haijai.com
ใช้สมองคิดคำนวณเวลาช็อปปิ้ง ลดเสี่ยงอัลไซเมอร์
Q : ตอนนี้มีความรู้สึกว่า โรคอัลไซเมอร์คุกคามชีวิตคนเรามากขึ้นทุกที แม้จะไม่ได้ทำให้ร่างกายอ่อนแอเหมือนโรคเรื้อรังอื่นๆ แต่ก็มีความรู้สึกว่าน่ากลัว เพราะหลายคนที่เคยเจอจะไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ หลงลืมนู่นนี่ เราสามารถป้องกันโรคนี้ได้อย่างไรบ้างคะ ตอนนี้ดิฉันอายุ 45 ปีค่ะ
A : จาก 100 คน พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และพบว่ามีจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นทุกปี และเพิ่มความเสี่ยงขึ้นเรื่อยๆ ตามตัวเลขอายุที่เพิ่มมากขึ้น
อาการของโรคอัลไซเมอร์ แบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ
• ช่วงเริ่มต้น จะเกิดคราบและการพันกันในสมองคือของเสีย ขยะ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ความจำระยะสั้น ความคิด และการวางแผน
• ช่วงกลางของโรค โดยจะมีคราบติดเกาะและเกิดการพันกันยุ่งเหยิงมากขึ้นตรงสมอง บริเวณที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับความจำ การคิด และการวางแผนช่วงนี้ จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินชีวิตจนส่งผลต่อการเข้าสังคม การทำงาน ผู้ป่วยอาจสับสนเวลาจัดการเรื่องเงิน แสดงความต้องการของตนเอง และเรียบเรียงความคิด และยังส่งผลกระทบต่อการพูด และการทำความเข้าใจกับบทสนทนากับผู้อื่น คนรอบข้างจะพบว่า ผู้ป่วยมีนิสัย และพฤติกรรมเปลี่ยนไป และอาจจำเพื่อนๆ หรือแม้แต่คนในครอบครัวบางคนไม่ได้
• อาการของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ขั้นสุดท้าย เปลือกสมองได้ถูกทำลายไปเป็นส่วนใหญ่ สมองหดตัวลงจากการตายของเซลล์สมองจำนวนมาก ผู้ป่วยจะไม่สามารถสื่อสารได้ และจำคนที่รัก และคนในครอบครัวไม่ได้ และยังไม่สามารถดูแลตัวเองได้
การฝึกสมองเป็นวิธีการดีวิธีหนึ่ง มีส่วนช่วยให้สมองเสื่อมช้าลง และเกิดโรคอัลไซเมอร์ช้าลงด้วย จากการทดลองในสัตว์พบว่า ลดของเสียที่คั่งในสมอง ช่วยในการเติบโตของเซลล์ประสาท ในวัยสูงอายุไม่มีการงอกของเซลล์ใหม่ แต่เซลล์เดิมที่เหลืออาจจะทำหน้าที่ทดแทนได้มากขึ้น ทำให้เกิดการสื่อสารระหว่างเซลล์ประสาทอย่างรวดเร็ว ซึ่งสามารถทำได้หลากหลายวิธีควรเลือกวิธีที่เหมาะสมกับตัวเอง เช่น การคิดคำนวณเวลาไปช็อปปิ้ง จ่ายตลาด ไปรับประทานอาหาร ฯลฯ ล้วนมีส่วนช่วยให้เซลล์สมอง และเซลล์ประสาทส่วนเชื่อมต่อแข็งแรง รวมถึงสร้างเซลล์สมองใหม่ได้อีกด้วย
นายแพทย์สุวินัย บุษราคัมวงษ์
แพทย์สาขาอายุรกรรมสมอง
ศูนย์วัยวิวัฒน์ โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท 1
(Some images used under license from Shutterstock.com.)