© 2017 Copyright - Haijai.com
Feeling Guilty ความรู้สึกผิด
Exploring emotions จะช่วยให้เข้าใจถึงอารมณ์ในด้านต่างๆ ของลูกได้เป็นอย่างดี คุณพ่อคุณแม่มาร่วมกันสำรวจอารมณ์ความรู้สึกของลูกไปพร้อมๆ กัน เพื่อช่วยให้เด็กรู้จักและพูดคุยเกี่ยวกับความรู้สึกของพวกเขาได้อย่างเข้าใจ
ความรู้สึกผิดเป็นอารมณ์ที่ซับซ้อน และยากที่จะเข้าใจสำหรับเด็ก เพราะเขายังไม่รู้ว่าสิ่งที่ได้ทำพลาดไปนั้นได้ส่งผลกระทบต่อคนรอบข้างอย่างไรบ้าง เด็กยังไม่รู้ว่าคำพูดของตัวเองที่บางครั้งได้ทำร้ายความรู้สึกของคุณยาย เด็กไม่รู้ว่าถ้าเดินชนน้องเล็กๆ ล้มแล้วต้องขอโทษด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้น้องร้องแล้วเดินจากไป หรือในเด็กบางคนถ้าเขาทำผิด และเขาก็รู้ตัวว่าเขาได้ทำผิดไป พ่อแม่ และผู้ใหญ่รอบข้างก็ควรที่จะให้อภัยเด็ก พร้อมกับแนะนำอบรมสั่งสอนให้เด็กได้คิด และทำในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ใช่ลงโทษด้วยการซ้ำเติมเด็ก เพราะนั่นไม่ใช่วิธีแก้ที่ถูกทางสำหรับเด็ก
“โครม!!! เสียงดังมาจากหน้าบ้าน พอคุณแม่วิ่งไปดูที่เกิดเหตุทำให้รู้ว่ากระถางต้นกุหลาบที่วางอยู่ตรงรั้วประตูหน้าบ้าน หลุ่นลงมาแตก หลังจากสอบถามจากลูกๆ และเพื่อนของลูกที่มาเล่นด้วยกันนั้น ทำให้รู้ว่ามีใครคนใดคนหนึ่งวิ่งไปชนโดนกระถางต้นกุหลาบ ทำให้กระถางหล่นลงมา คุณแม่ถามเด็กๆ ว่าใครเป็นคนทำ ทุกคนก็ชี้ไปที่น้องออม เด็กผู้หญิงถักผมเปีย ซึ่งโตที่สุดในกลุ่ม และก็เป็นลูกสาวของคุณแม่ด้วย น้องออมทำหน้าเศร้าเหมือนกับจะร้องไห้ เพราะกลัวว่าจะถูกคุณแม่ทำโทษ คุณแม่ก็ถามน้องออมว่าหนูเป็นคนทำกระถางต้นกุหลาบแตกใช่หรือเปล่าคะ ซึ่งน้องออมก็พยักหน้า ว่าตัวเองเป็นคนทำ และก็พูดขอโทษคุณแม่ด้วยความรู้สึกผิดที่ทำกระถางกุหลาบแตก เพราะน้องออมรู้ว่าเป็นต้นกุหลาบที่คุณแม่รักมาก ในช่วงเย็นน้องออมยังเศร้าอยู่นิดๆ จนคุณแม่ต้องคุยกับน้องออมว่า สิ่งที่หนูทำลงไปเมื่อบ่ายนี้ แม่ไม่ว่าอะไร เพราะแม่รู้ว่าหนูไม่ได้ตั้งใจ และหนูก็ยอมรับผิดว่าเป็นคนทำ แม่ไม่โกรธหนู แต่แม่อยากให้หนูรู้จักระมัดระวังเวลาที่เล่น หรือว่าต้องทำอะไร เพราะถ้าหนูเกิดไปทำข้าวของๆ คนอื่นเสียหาย เขาก็จะเสียงใจมากนะคะลูก แต่ถ้าลูกทำผิดก็ขอให้พูดคำว่าขอโทษ เหมือนกับที่หนูพูดกับแม่นะคะ ห้ามวิ่งหนีความผิดเด็ดขาดนะคะลูก”
เด็กจะเรียนรู้โดยการฟัง การดู และซึมซับพฤติกรรมต่างๆ เพื่อทำตามแบบอย่างที่เขาได้เห็น ถ้าเด็กอาศัยอยู่ในวัฒนธรรมที่มีผู้ใหญ่รับผิดชอบต่อสิ่งที่ทำผิด และสำนึกผิด พร้อมกล่าวขอโทษ เมื่อเด็กเห็นแบบอย่างที่ดี เขาก็จะนำไปปฏิบัติตาม ในเวลาที่เด็กเกิดทำผิดขึ้นมา ก็จะรู้จักขอโทษและรับผิดในสิ่งที่ตัวเองทำ แต่ในทางกลับกันหากเด็กเห็นแบบอย่างจากผู้ใหญ่ที่ทำผิด และก็ยังยื่นยันว่าตัวเองไม่ผิด ไม่รับผิดชอบ ไม่ขอโทษ พอเด็กทำผิดเขาก็จะรู้จักหลบหลีกเลี่ยงในสิ่งที่ตัวเองทำผิด ไม่ขอโทษ เถียงคอเป็นเอ็น ว่าตัวเองไม่ผิด ซึ่งนี่ถือเป็นพฤติกรรมที่ไม่ดี ที่เด็กได้รับการซึมซับมาจากตัวอย่างที่ไม่ดี
Sharing Experiences แบ่งปันประสบการณ์
ในฐานะที่คุณเป็นผู้ใหญ่ คุณลองมาแชร์ประสบการณ์เกี่ยวกับความรู้สึกผิด ต่อสิ่งที่เคยทำผิดพลาดไปกับเด็กๆ ดูบ้างซิคะ เผื่ออาจจะเป็นประโยชน์กับเด็กๆ ในการเรียนรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมกับวิธีการแก้ปัญหา “ครั้งหนึ่งตอนที่คุณแม่อายุ 7 ขวบ เคยเอารองเท้าเพื่อนไปซ้อน จนเพื่อนต้องกลับบ้านด้วยเท้าเปล่า เพราะหารองเท้าไม่เจอ”, “เมื่อตอนที่คุณพ่ออยู่ประถม 6 พ่อเคยเตะลูกบอลไปโดนกระจกห้องเรียนแตก” หลังจากที่คุณเล่าประสบการณ์ที่เคยทำผิดไป คุณต้องบอกลูกให้ได้รู้ด้วยว่าคุณก็รู้สึกผิดไม่น้อยกับการกระทำของตัวเอง และคุณต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่ได้ทำลงไปอย่างไรบ้าง หลังจากนั้นคุณลองถามเด็กกลับไปบ้างว่าเขาเคยทำผิดอะไรบ้างหรือเปล่า ไม่ว่าจะกับเพื่อนที่โรงเรียน หรือว่ากับคุณพ่อคุณแม่ การถามลูกต้องถามแบบเปิดใจ ไม่ใช่ถามแบบขู่บังคับ เพราะหากเด็กรู้สึกว่าคุณกำลังขู่บังคับเขาอยู่เขาก็จะไม่พูดความจริงออกมา และหากเด็กพูดความในใจที่เขารู้สึกผิดอยู่ คุณก็ควรที่จะให้กำลังใจเด็ก ให้คำแนะนำว่าเขาควรต้องทำอย่างไรกับความรู้สึกผิดนี้ เช่น ถ้าลูกพูดไม่ดีกับเพื่อน ก็ควรให้ลูกไปขอโทษเพื่อน คุณควรที่จะสนับสนุนให้เด็กๆ ได้รู้ว่าหากเมื่อใดก็ตามที่เขาได้ทำผิดพลาดไป และรู้สึกผิดกับการกระทำนั้น อย่างแรกที่ควรทำก็คือการพูดขอโทษต่อคนที่เราทำให้เขารู้สึกเสียใจ และให้สัญญากับตัวเองว่าเราจะไม่ทำผิดแบบนี้เอง เพื่อที่ตัวเอง และคนรอบข้างจะได้ไม่ต้องมานั่งเสียใจรู้สึกผิดกับสิ่งที่เกิดขึ้น
“I am sorry that I did you break glass. ขอโทษครับ ที่ผมทำแก้วคุณแตก”
“I feel really sad. I made a shirt that you lack. ฉันรู้สึกเสียใจจริงๆ ที่ทำเสื้อคุณขาด”
“I was wrong to do different bowl. หนูรู้สึกผิดที่ทำชามแตก”
“I am sorry every time you feel guilty.ฉันจะขอโทษทุกครั้งที่รู้สึกผิด”
(Some images used under license from Shutterstock.com.)