
© 2017 Copyright - Haijai.com
ดูดวง ตอนที่ 1
การดูดวงเป็นสิ่งที่นิยมกันมากในบ้านเรา ทุกวันนี้เราสามารถพบเห็นการดูดวงได้ในแทบทุกที่ทุกรูปแบบ ตั้งแต่ไปพบหมอดูโดยตรง การฟังผ่านรายการโทรทัศน์ ไปจนถึงอ่านจากหนังสือ หรือทำนายผ่านโทรศัพท์ก็ยังได้ แต่คำถามที่น่าสนใจก็คือ ทำไมหมอดู (บางคน) จึงสามารถบอกลักษณะนิสัยหรือเหตุการณ์ในอดีตที่ผ่านมาของเราได้ถูกต้อง และรวมไปถึงสามารถทำนายอนาคตได้อีกด้วย
การดูดวงเป็นความเชื่อส่วนบุคคล บทความเรื่องนี้ไม่ได้จะโจมตีใครหรือจะดูหมิ่นศาสตร์การทำนายใดๆ นะครับ แต่มีจุดประสงค์เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าว ด้วยมุมมองทางด้านจิตวิทยา โดยบทความแบ่งออกเป็น 4 หัวข้อดังต่อไปนี้
1.บรรยายนิสัยอย่างมีศิลป์ (Barnum effect)
2.ทำนายข้อมูลส่วนตัวอย่างมีหลัก (Cold reading)
3.การทำนายแบบตีกว้างและคลุมเครือ (Projective test)
4.เชื่ออะไรก็ได้อย่างนั้น (Pygmalion effect)
โดยเราจะมาดูรายละเอียดของสองข้อแรกกันก่อน ซึ่งจะเป็นการอธิบายวิธีการทำนายลักษณะนิสัยหรือประวัติชีวิตส่วนตัวของเรา ส่วนสองข้อหลังจะได้นำเสนอในต่อไป
บรรยายสัยอย่างมีศิลป์ (Barnum effect)
Barnum effect (หรือเรียกอีกอย่างว่า Forer effect) เป็นปรากฏการณ์ที่ตั้งตามชื่อของ Phineas Taylor Barnum ซึ่งเป็นนักแสดงและเจ้าของละครสัตว์ โดย Barnum ได้เคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่า จะมีประโยคบางประโยคหรือคำพูดบางอย่างที่สามารถเข้าได้กับทุกคน หรือพูดแบบภาษาทั่วไปคือมัน “คลิก” กับทุกคน คนที่ฟังจะรู้สึกว่า โอ้ว... มันช่างตรงกันเราเหลือเกิน โดย Barnum effect มักจะถูกนำมาอธิบายในกรณีที่ทำไมบางครั้งหมอดูสามารถทำนายอะไร ที่เหมือนจะเป็นนิสัย หรือความรู้สึกนึกคิดของเราได้ถูกต้องทั้งๆ ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน
การทดลองของ Forer
ในปี ค.ศ. 1948 Bertram R. Forer นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ได้ทำการทดลองกับนักศึกษา 39 คน (ทำให้บางคนก็เรียกว่า Forer effect แทน Barnum effect) โดย Forer พานักศึกษาเข้ามานั่งในห้อง หลังจากนั้นก็บอกกับนักศึกษาว่า เขาจะใช้ความรู้สึกความสามารถของเขาในการวิเคราะห์ลักษณะอุปนิสัยของแต่ละคนออกมา โดยจะเขียนใส่กระดาษแล้วยื่นให้แต่ละคนอ่าน หลังจากนักศึกษาอ่านคำวิเคราะห์ (ทำนาย) นิสัยของตัวเองแล้ว จะต้องให้คะแนนความแม่นยำของการทำนาย โดยสามารถให้คะแนได้ระหว่าง 0-5 ซึ่ง 0 คะแนนหมายถึง แย่มาก มั่นสนิท ไม่ตรงเลย ส่วน 5 คะแนนคือ แม่นมาก บรรยายได้ถูกเกือบหมด
ผลการทดลองพบว่า Forer ได้คะแนนรวมเฉลี่ยสูงถึง 4.26 คะแนน โดยนักศึกษากว่าร้อยละ 40 ให้คะแนนเต็ม 5 คะแนน ถ้าเป็นสมัยนี้นักศึกษาคงบอกว่า “โอ้ อาจารย์ โคตรแม่นเลย ตรงเผง รู้ได้ไงเนี่ย” เพียงแต่เมื่อทุกคนแลกใบวิเคราะห์กันอ่านก็ต้องอึ้งกันเป็นแถบ .... เพราะทุกใบมันเขียนเหมือนกันหมด !!
ถ้าเอาคำทำนายของ Forer มาดู ก็จะได้ประมาณนี้ครับ (ผมย่อๆ มานะครับ ของจริงจะยาวกว่านี้มาก)
“คุณอยากให้คนอื่นชื่นชมคุณ แต่หลายครั้งคุณก็มักจะโทษตัวเอง ในบางสิ่งบางอย่างที่ได้ทำไป คุณเป็นผู้ที่มีศักยภาพที่ดี เพียงแต่ยังไม่ได้ถูกนำออกมาใช้อย่างเต็มที่ ภายนอกคุณอาจจะดูเข้มแข็งและควบคุมตัวเองได้ แต่คุณก็ยังมีความกังวลและไม่มั่นใจอยู่ภายในใจ มีหลายครั้งที่คุณรู้สึกสับสน ว่าสิ่งที่คุณได้ทำไปแล้วมันถูกต้องหรือไม่”
“คุณพบว่าเป็นการยากที่จะเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงของคุณออกไป ให้คนอื่นๆ ได้เห็น ทำให้คุณต้องเก็บซ่อนอะไรบางอย่างไว้ ความปรารถนาบางอย่างในชีวิตของคุณเป็นสิ่งที่ดูแล้วไม่น่าจะเป็นไปได้”
“เป้าหมายสำคัญอย่างหนึ่งในชีวิตของคุณคือความรู้สึกมั่นคงในชีวิต”
*ซึ่งคำทำนายของ Forer ที่จริงก็ไม่ได้เอามาจากไหนหรอกครับ ตัดแปะมาจากคำทำนายตามหนังสือดูดวงหลายๆ เล่ม แล้วเอามายำรวมกันเท่านั้นเอง
หลังจากที่ Forer ได้ทำการทดลอง ก็มีคนมาทำการทดลองซ้ำอีกลหายครั้งด้วยรูแบบที่แตกต่างกันไป แต่เมื่อรวบรวมผลจากหลายๆ การศึกษาก็พบว่าปัจจัยที่มีผลทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่าคำทำนายถูกต้องมีดังนี้
• ผู้ฟังต้องเชื่อว่าการทำนายนั้นเป็นคำทำนาย ที่ทำมาเฉพาะเจาะจงเพื่อตัวเราเท่านั้น คำบรรยายที่มาจากหมอดูที่นั่งดูให้เราคนเดียวจะเป็นที่น่าเชื่อถือมากกว่า การทำนายที่เหมารวมเป็นหมู่คณะ เช่น คำทำนายแบบ “คนที่เกิดเดือนมกราคมจะมีลักษณะดังนี้...” จะทำให้ความน่าเชื่อถือลดลงกว่าการดูแบบหนึ่งต่อหนึ่ง
• ผู้ฟังต้องเชื่อมั่นในตัวผู้ทำนาย โดยการศึกษาพบว่ายิ่งผู้ฟังเชื่อมั่นศรัทธาในผู้ทำนายมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งรู้สึกยอมรับในคำทำนายมากขึ้นเท่านั้น เรียกว่าหากเป็นอาจารย์ชื่อดังน่าเชื่อถือแล้ว บรรยายอะไรก็รู้สึกตรงไปหมด
• ทำนายในสิ่งที่เป็นความต้องการพื้นฐานของจิตใจของคน จะเห็นว่าประโญคการทำนายของ Forer จะไม่ฟันธงนิสัยใจคอลงไปตรงๆ แบบชัดๆ แต่จะเป็นประโยคที่พูดกว้างๆ ไม่ลงลึกในรายละเอียด เช่น “คุณไม่แน่ใจว่า บางสิ่งที่คุณทำลงไปมันถูกหรือว่าผิด” ซึ่งแน่นอนว่าเกือบทุกคนก็เคยรู้สึกแบบนี้ เพราะคำทำนายก็ไม่ได้ชี้ชัดลงไปว่า ไอ้ “บางสิ่ง” ที่ว่านี่คืออะไร? ซึ่งคนฟังก็จะนำไปคิดต่อให้ตรงกับประสบการณ์ชีวิตตัวเอง
ประโยคที่ทำนายลักษณะแบบนี้ มักจะทำนายในสิ่งที่เรียกว่าเป็น ความต้องการพื้นฐานของจิตใจคน ซึ่งในทฤษฏีจิตวิทยากลุ่มมนุษยนิยม เชื่อว่าคนเราทุกคนมีความปรารถนาบางอย่างที่เป็นพื้บฐาน เป็นสิ่งที่ทุกคนอยากได้และเป็นสากล คือ เหมือนกันในทุกเชื้อชาติ ทุกเพศ ทุกวัฒนธรรม ความปรารถนาเหล่านี้ ได้แก่ ความอยากเป็นที่รัก (อยากให้คนอื่นรัก) ความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย ความสงบสุข ความเป็นอิสระ และความรู้สึกว่าตัวเองมีค่า เป็นต้น ทำให้เมื่อทำนายในสิ่งเหล่านี้ คนส่วนใหญ่ก็จะรู้สึกว่ามันตรง
• ทำนายในด้านบวก หรืออย่างน้อยก็ไม่เป็นด้านลบมาก จนฟังแล้วเหมือนโดนด่า ดังนั้น เราจะไม่เคยได้ยินคำทำนายแบบ “คุณเป็นคนเรียกร้องความสนใจ อยากให้คนอื่นสนใจ แต่คุณก็มักคบคนแบบผิวเผิน ทำให้เพื่อนคุณหลายคนรู้สึกว่าคุณเป็นคนไม่จริงใจ” อะไรแบบนี้ เพราะถึงแม้ว่าอาจจะถูกต้องทุกประโยค ก็คงไม่มีใครอยากรยอมรับว่ามันจริง ทำให้คำทำนายที่คนจะบอกว่า “ถูก” หรือ “แม่น” มักจะเป็นคำทำนายที่เป็นด้านบวกซะเป็นส่วนใหญ่
ทำนายข้อมูลส่วนตัวอย่างมีหลักการ (Cold Reading)
การทำนาย (หรือบรรยาย) ข้อมูลส่วนตัวอย่างมีหลักการ เป็นอีกเทคนิคหนึ่งที่มักใช้ร่วมกับประโยคแบบ Barnum โดยหลังจากที่หมอดูได้ใช้ประโยคแบบ Barnum เพื่อบรรยายลักษณะนิสัยของคนที่มาดูจนทำให้คนฟังรู้สึกทึ่ง และเลื่อมใส่ศรัทธาแล้ว ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการทำนายข้อมูลส่วนตัวในแบบที่เฉพาะเจาะจงและแม่นยำมากขึ้น เป็นการแสดงให้เห็นว่าผู้ทำนายสามารถล่วงรู้เรื่องของคุณได้เป็นอย่างดี เพื่อให้ผู้ฟังรู้สึกเชื่อถือมากยิ่งขึ้นไปอีก
ขั้นตอนนี้สามารถเรียกได้หลายอย่างและใช้หลายเทคนิคผสมกัน บางครั้งเรียกว่า Cold Reading บ้าง การวิเคราะห์โปรไฟล์บ้าง หรือบางส่วนก็คล้ายกับการวิเคราะห์พฤติกรรม แต่ถ้าให้สรุปหลักการกว้างๆ ก็คือ ผู้ทำนาย จะทำการวิเคราะห์รายละเอียดของผู้ฟัง โดยดูจากข้อมูลหลายอย่างผสมกัน เช่น เพศ อายุ รูปร่าง หน้าตา การแต่งตัว ทรงผม การพูดจา ท่าทาง และการแสดงออกทางสีหน้า เป็นต้น แล้วจึงทายออกมา
ยกตัวอย่างในชีวิตจริงเราอาจจะเคยเห็นว่าคนบางคนแค่ฟังสำเนียงการพูดก็สามารถบอกได้ว่าคนๆ น มาจากภาคไหนหรือดูการแต่งตัว ก็พอจะบอกได้ว่าน่าจะทำอาชีพอะไร จบการศึกษามากน้อยแค่ไหน และพอที่จะเดานิสัยบางอย่างได้ (เช่น ผู้ชายอายุไม่มาก ไว้ผมสั้นรองทรงผิวคล้ำหน่อย ดูแข็งแรง บึกบึน แต่งตัวเรียบร้อย เสื้อใส่ในกางเกง รองเท้าขัดมัน เวลายืนตัวตรงเป๊ะ แบบนี้ก็เดาได้ว่าไม่เป็นตำรวจก็ทหาร เป็นต้น ซึ่งหากใครเคยอ่านนิยายนักสืบบ่อยๆ ก็คงจะพบนึกภาพออกนะครับ ว่าหลายครั้งนักสืบก็วิเคราะห์กันแบบนี้) ในหมอดูบางคนที่มีประสบการณ์ อาจจะมีความสามารถในการอ่านสีหน้าคนร่วมด้วย ในระดับที่สามารถบอกได้ว่าตรงไหน พูดถูก ตรงไหนพูดแล้วไม่ถูก ตรงไหนพูดแล้วเป็นประเด็นที่สะเทือนใจ จนหมอดูบางคนแค่ถามคำถาม แต่คนฟังยังไม่ทันตอบ ก็รู้แล้วว่าที่พูดไปถูกหรือไม่ถูก
การวิเคราะห์ลักษณะนี้หลายครั้ง ก็อาศัยจากความน่าจะเป็น หรือสถิติที่ผ่านมา เช่น เหตุผลที่ทำให้ผู้หญิงในวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ตอนต้นพยายามฆ่าตัวตายมากที่สุด ได้แก่ .... แน่นอนครับ ... ปัญหาเรื่องความรัก เช่นเดียวกันกับในเรื่องดูหมอ หากให้คุณเดาว่าผู้หญิงสาวอายุไม่มาก ไปคนเดียวหรือไปกับเพื่อนผู้หญิง ส่วนใหญ่เขาไปดูเรื่องอะไรกัน? ผมว่าคนส่วนใหญ่ก็เดาได้ว่า “ไปดูปัญหาเรื่องความรัก” คงมีผู้หญิงน้อยคนมากที่จะไปดูหมอแล้วบอกว่า “อาจารย์ ไม่ต้องดูเรื่องความรักนะคะ ความรักหนูดีมาก ไม่มีปัญหาเลย วันนี้อยากมาดูแต่เรื่องการเรียนค่ะ เอาเองการเรียนเท่านั้นนะคะ...” คงหายากครับ
ดังนั้น หากทำนายไปทำนองว่า “คุณคงกำลังมีปัญหาเรื่องความรัก” ส่วนใหญ่ก็จะถูก
นอกจากนี้การทายลักษณะส่วนตัวยังมีเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ เพิ่มเติมอีกครับ เช่นเทคนิคที่เรียกว่า “push” เทคนิคนี้มักจะเริ่มใช้เมื่อผู้ทำนายพูดประโยคแบบ Barnum และทำนายลักษณะข้อมูลส่วนตัวเบื้องต้นไปแล้ว จนทำให้ผู้ฟังประทับใจและร่วมมือกับผู้ทำนายเต็มที่ ก็จะเริ่มมีการเสริมเพิ่มเติมข้อมูลในระดับที่ชัดเจนมากกว่าเดิม โดยผู้ทำนายจะทำการทำนายข้อมูลบางอย่างที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้นอีกนิด โดยเมื่อถามไปแล้ว ผู้ทำนายจะคอยสังเกตท่าทีของคนตอบถ้าถูกก็แล้วไป แต่ถ้าไม่ถูก ก็จะรีบพูดขึ้นมา โดยทำการปรับเปลี่ยนคำทำนายนิดหน่อยแต่ให้ยังฟังดูเป็นเรื่องเดิม ซึ่งทำให้การทำนายนั้นฟังดูถูกต้องมาขึ้น และฟังเผินๆ ก็จะรู้สึกว่าผู้ทำนายช่างแม่นยำอะไรอย่างนี้ อ่าจนแล้วอาจจะงงๆ ว่าผมพูดอะไร งั้นลองมาดูตัวอย่างของเทคนิค push กันนะครับ
หมอดู : อืม... หมอเห็น ไม่นานมานี้มีคนสูงอายุในชีวิตคุณป่วยหนักคนหนึ่ง ...พ่อแม่คุณพึ่งป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาลเร็วๆ นี้รึเปล่า” (ที่จริงเดาเอาจากอายุ คนฟังอายุสี่สิบ พ่อแม่น่าจะอย่างน้อยหกสิบกว่าเข้าไปแล้ว วัยนี้มีโอกาสสูงที่จะป่วยเข้าโรงพยาบาล)
คนมาดู : “... เออ...” (ทำท่าอ้ำอึ้งเหมือนจะไม่ถูก)
หมอดู : (เห็นสีหน้า พอเดาได้ว่าคงไม่ถูก เลยรีบชิงพูดก่อน) “อืม... ไม่สิ ... น่าจะเป็นญาติๆ มากกว่า ... คุณมีญาติผ็ใหญ่ที่พึ่งเข้าโรงพยาบาลในปีนี้รึเปล่า” (ปรับข้อมูลจากพ่อแม่เป็นญาติ ให้ดูเป็นเรื่องเดิม แต่มีโอกาสถูกมากขึ้น)
คนมาดู : “โอ๊ะ ... ใช่ค่ะ ใช่ ... มีคุณยายพึ่งเข้าโรงพยาบาล เมื่อ 3 เดือนก่อน ใช่แล้ว”
หมอดู : “นั่นแหละ ใช่แล้ว นอนหลายวันเลยใช่ไหมล่ะ” (คนส่วนใหญ่นอนโรงพยาบาลมากกว่าสองสามวันอยู่แล้ว โดยเฉพาะคนสูงอายุ)
คนมาดู : “ใช่ค่ะ ใช่ นอนเกือบสองอาทิตย์เลยค่ะ”
จะเห็นว่าการทำนายผสมเทคนิค push หากใช้จนชำนาญมักจะได้ผล เพราะแม้ที่พูดไปจะไม่ถูกก็สามารถเบี่ยงเบนคำทำนายเข้าไปใหม่จนกว่าจะถูก แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้เทคนิคนี้ได้ผลก็คือ ตัวผู้ฟังเองนั่นแหละ ที่เชื่อมั่นจนไม่เอะใจสงสัยในวิธีการถาม ตรงกันข้ามกลับพบว่าหลายครั้งผู้ฟังกลายเป็นคนที่พยายาม ช่วยหาคำตอบเพื่อให้ที่หมอดูพูดมันถูกต้องด้วยซ้ำ
นพ.ธรรมนาถ เจริญบุญ
จิตแพทย์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)